วันนี้คุณผู้อ่านถามมาเรื่องว่าวันฮาโลวีนนั้นทำไมมันจะต้องมีฟักทองผีเจาะลูกกะตา
ก็ได้เวลาขออนุญาตประทานกราบเรียนถึงตำนานฮาโลวีนของฝรั่ง ว่าเดิมทีมันไม่มีหรอกผีฟักทอง มันผีเทอร์นิปต่างหาก
หัวเทอร์นิปนี่ฝรั่งโบราณในยุโรปปลูกฝังไว้ใต้ดินมีลักษณะผิวพรรณเหมือนไชเท้า แต่อ้วนกว่ามากๆ ที่บ้านเราสมัยหนึ่งทางโครงการหลวงบนดอยนำมาปลูกได้ผลดี กินเหมือนฟักทองแต่รสชื่นกว่าไม่มันแป้งเท่า เปนทรัพยากรชนิดผักกึ่งคาร์โบไฮเดรตในวัน/เวลาที่ผู้คนยังยากลำบากอยู่
อีทีนี้ยามนั้นมันมีกระทาชายนายหนึ่งนามว่า ตาแจ็ค จอมเบี้ยว แกเปนคนตระหนี่มีร้อยเล่ห์ และมีความยินดีจ๊าดนักจะพัฒนาเล่ห์กระเท่ห์ของแกทุกประการในอันที่จะหาทางเบี้ยวหนี้ชาวบ้านเขา
วันหนึ่งพ่อแจ็ค จอมเบี้ยว ไปกินเหล้ากับเจ้าปีศาจ กินไปกินมาไม่มีกะตังค์จะจ่ายให้ตาคนขายเหล้า ด้วยความเล่ห์กลชนิดนี้ของแก แกก็ลวงปีศาจนั่นเข้าให้ว่า เอางี้ ผีปีศาจย่อมปลอมตัวเก่ง อย่ากระงั้นเลย ปลอมเป็นเงินเหรียญมาสักหน่อยเถอะ ตัวเราจะหยิบเหรียญผีเอาใส่กระเป๋า ทำทีว่าล้วงมาจ่ายบาร์เทนเดอร์แล้วให้มีคนเห็นกันทั่วไป จะได้มีพยาน พอปีศาจเหรียญไปอยู่กับเจ้าหนี้แล้วก็ค่อยแปลงกลับคืนร่าง ใครมันจะว่าไรเราได้? ก็จ่ายจริงรับจริงนี่หว่า?
งานนี้อีตาปีศาจก็เห็นควรด้วย
แจ็ค จอมเบี้ยว คว้าเหรียญผีแปลงได้ก็จับยัดหมับเข้ากระเป๋าเสื้อกั๊ก ซึ่งข้างในนั้นไม่รู้ว่าบังเอิญไหม มีไม้กางเขนพระเปนเจ้าทำด้วยเงินบริสุทธิ์พกอยู่
อีปีศาจแปลงหลุดเข้าไปในถุงกระเป๋ากับสิ่งศักดิ์สิทธินี้แล้วก็ร้อนเปนบ้า ดิ้นดุกขลุกขลักก็เอาไม่ออก จะแปลงตัวกลับคืนมาเปนผีก็ไม่ได้ ด้วยอำนาจพระเปนเจ้ากำกับทับไว้ผ่านกางเขน ได้แต่ทุรนทรมานส่งเสียงให้พ่อต้นความคิดของเราช่วยเหลือ
อันว่างานได้ทีขี่แพะไล่นั้น มีอยู่จริง
ตาแจ็คนี้ได้ทีปีศาจ ก็ร้องสั่งการว่า เอางี้ แกเปนผีชั่วร้าย นับแต่นี้ไปในระยะหนึ่งปี จงจัดการอย่าได้มีความอวมงคลจากประดาภูติผีอย่างพวกเธอมากล้ำกรายฉัน ถ้ารับปากได้ก็จะหยิบออกจากกระเป๋าให้
ปีศาจก็ตกปากรับคำ
กว่าจะหลุดจากขุมนรกของปีศาจ (ความชั่วร้อนรนเมื่อเจอความดี) ออกมาได้ก็สะบักสะบอมเสียผี! แต่ด้วยวจีคำสัตย์ ปีศาจนี้ก็ต้องรักษา
ทำการปกปักรักษามิให้มีเภทภัยภูติผีมากรายใกล้พ่อแจ็คขาเบี้ยวจนครบเวลา หนึ่งปี
อีทีนี้เพื่อนเเจ็คก็ลำพองใจ
ครบปีเดินไปเจอปีศาจอีก อีทีนี้ก็หลอกให้มันปีนต้นไม้ไปเอาผลหวานงามสวย ปีศาจก็หน้าโง่สิ้นดี ปีนขึ้นไปให้เขา
ไอ้ทางพ่อตัวดีฝ่ายเราได้ที ก็รีบเอามีดอาคมไปกรีดกลางต้นไม้สลักอย่างไวเปนรูปกางเขนอีก!
เอาละซี ทีนี้ปีศาจไต่กลับลงมามิได้ เหมือนโดนบ่วงไฟรัดรึงตรึงติด
ตาแจ็คในนาทึนี้ก็ make deal ขอต่อเวลาการห้ามรบกวนไปอีก 10 ปี ปีศาจก็แสนดีตกปากรับคำ
จะครบสิบปีก็พอดีตาแจ็คนี่ตาย
ดวงจิตล่องลอยถอดจากร่างไปหาพระเปนเจ้าที่ทางเข้าประตูสวรรค์ นายทวาร (แปลว่าคนเฝ้าประตู_gate keeper) ก็ว่าตามบัญชีแล้ว นายนี่มิได้เปนที่ปรารถนา จะมาขึ้นสวรรค์มิได้ ด้วยว่าเปนคนปลิ้นปล้อนกะล่อนเลื่อนไหล ใช้พระเจ้าเปนเครื่องมือเบี้ยวคนโกงผี
วิญญาณตาแจ็คนี้ก็หักใจในความจริง
เดินทางไปลงนรก
อีครั้นพอไปถึงนรกนี่ก็ไม่ต้อนรับอีก กลัวผีตาแจ็คจะมาตั้งเล่ห์ลวงล่อหลอกรังควาญ ร้อนถึงซาตานว่างานนี้เจ้านรกต้องเสด็จมาฟาดเอง
ซาตานว่า ‘เฮ้ นรกนี่ไม่มีที่สำหรับเจ้า’ ข้างสวรรค์เขาก็ไม่ต้อนรับ งั้นเอางี้ดวงจิต (ที่เวลานี้เปนผีไปแล้ว)ของแกจงไปอยู่ในแดนมนุษย์ก็แล้วกัน ยังมิทันผีแจ็คจะเอ่ยกระไร ซาตานก็รีบ make deal ทันทีว่าไม่ต้องห่วงนะ กระเดี๋ยวจะให้ไฟไปไว้ส่องทาง ซาตานผู้อารีย์กล่าว ว่าแล้วก็แจกไต้ไฟตามทางให้ถือ
วิญญาณแจ็คก็กลัวไต้นี่จะดับ เด๋วมองอะไรไม่เห็น เลยหาทางทำตะเกียง ไปเอาหัวเทอร์นิปมาเจาะให้อากาศเข้าได้ แล้ววางไต้ไฟไว้ข้างใน ถือหิ้วไปไหนมาไหนด้วยในลักษณาการที่ว่า ก็ไม่รู้จะไปไหน ใครๆในสังคมเขารังเกียจ
ผู้คนชาวไอริช (ซึ่งถูกเขาประนามหยามเหยียดว่าขี้เหนียวและเปนเผ่าพันธุ์เดียวกับตาแจ็ค) ในยามค่ำคืนมักเห็นผีตาแจ็คล่องลอย มาพร้อมดวงไฟในตะเกียง
เด็กๆไอริชบ้านนอกถามแม่ว่าโน่นอะไรเรืองๆในความมืด ประดาแม่แก่ก็จะปัดมือ อุ้มลูกเข้าบ้าน พลางตอบคำถามว่านั่นคือ “Jack of The Lantern”-แจ็คเจ้าตะเกียง ผู้ซึ่งสังคมรังเกียจในความอสัตยธรรม
อีทีนี้คนไอริช ก็เหมือนคนใต้บ้านเรา เรียกอะไรเข้าต้องเรียกสั้นๆ มันก็ผันมาเปน ‘Jack O’Lantern’ ดังนี้
และเพื่อป้องกันมิให้ผีแจ็คมารังควาญ แม่ก็ต้องหลอกผีคืนสักหน่อย ด้วยการไปควานหาเทอร์นิปในสวนมาคว้านไส้ ใส่ลูกกะตา เอามาตั้งหน้าบ้านใส่เทียนเข้าไปให้วาบเรือง
ผีตาแจ็คผ่านมาจะได้งงงุนสับสน เหมือนเจอตะเกียงตัวเอง จะได้ชะงักงันไม่เข้าบ้าน ก็เปนประเพณีดังนี้ต่อๆมา
ครั้นต่อมาประดาไอริชแห่งไอร์แลนด์อพยพมาอเมริกากันมากเข้า อเมริกันไม่กินเทอร์นิป กินแต่ฟักทอง ไอริชในอเมริกาก็ขี้เกียจวิ่งหาเทอร์นิป เอาฟักทองเขานี่แหละมาทำ O’ Lantern
กลายเปนตะเกียงหน้าผีฟักทองมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,835 วันที่ 13 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565