ต่อเนื่องมาจากตอนกระเป๋าเบอร์กิ้น ที่มีชื่อถูกตั้งตามสาวแฟชั่นปารีส อย่าง เจน เบอร์กิ้น ผู้ซึ่งมีคู่ควงเปนนักร้องดังอย่าง เซอร์เก้ เกนส์โบวร์ก ซึ่งออกเสียงฝรั่งเศสว่า เซร์ช เกนส์บูร์ หรือไม่ก้อ แซจ แกงสบัวร์ก แล้วแต่ปลายลิ้นหัดดัดมาของผู้เอ่ยเสียงสำเนียงวจี
ก็ต้องขอเรียนว่าในยุค 70s ต่อ 90s เซอร์เก้ (อ่านตามตัวอักษร) ผู้นี้โด่งดังมาก เปนศิลปินครบหมดทั้งการร้องเล่น เต้นละครและกำกับการแสดง ลักษณาการของเซอร์เก้นั้นค่อนจะอื้ออึงแกมอื้อฉาว หลังๆมาจะปรากฏกายพร้อมกันกับบุหรี่ชนิดฉุน ที่จุดสูบควันกันมวนต่อมวน และสูบจนตลอดเวลาจนกว่าจะเข้านอน บุหรี่มวนนี่แกมีที่มือขวา ส่วนมือซ้ายถืออยู่ตลอดเวลาเช่นกันก็คือแก้วใสใส่เหล้าสีใช้จิบแก้แห้งคอแทนน้ำเปล่า
ยอดเพลงอมตะที่ผู้คนนิยมมากของเซอร์เก้ ชื่อว่า I came to you that I am leaving หรือในนามกรฝรั่งเศสว่า Je suis venu te dire que je m’en vais เพลงนี้โดยเนื้อแล้วมันไพเราะ เซอร์เก้ในฐานะว่าเปนกวีมีทักษะ ก็เล่นคำแพรวพราวในความเสียดสี ทั้งใส่ทำนองแปลกประหลาดทั้งเครื่องดีดและบีทดนตรี เปนบทเพลงเรียบหรูแต่กลับทรงพลังอลังการอย่างมีรสนิยม
ท่านผู้สนใจสามารถติดตามต่อและหาฟังได้เอง
อีทีนี้อยู่มาวันหนึ่ง เซอร์เก้ ถึงจุดสูงสุดในอาชีพแล้ว ก็เปรียบเหมือนดั่งดอกไม้ไฟ เมื่อไรพลุขึ้นไปถึงฟ้าเจิดจรัสถึงที่ก็ต้องได้เวลาร่วงโรย
เซบาสเตียนเจ้าของรายการโชว์ดังทางทีวีก็ทำเซอร์ไพรซ จัดงานทริบิวให้ ในงานนี้มันน่าประทับใจเพราะใช้เด็กๆนักร้องมาแต่งตัวเลียนแบบเซอร์เก้ แล้วประสานเสียงกันในเพลงโปรด Je suis venu te dire que je m’en vais ที่ว่า
ในมือขวาเจ้าประดาเด็กนี่ถือแก้วใส่น้ำสีเหมือนเหล้า มือซ้ายถือยาควัน เสื้อผ้าเอาให้มันกวนโอ๊ยเหมือนตัวศิลปินคือเบลเซอร์ครือๆตัวกับกางเกงยีนส์ไม่ติดกระดุม ทำผมสีหงออก เติมหน้าเปนหนวดเครา แล้วใส่แว่นดำโตๆพรางแสง
เซอรเก้ผู้บัดนี้อ้วนฉุ สายตาพร่ามัว แต่ว่ายังจุดยาควันคีบใส่มือตามหลักการ ทอดสายตามาเห็นปรัชญาแห่งชีวิตเด็กๆมาแสดงย้อนเวลาตัวเอง ดังนั้นก็ท่วมท้นโอเวอร์ไวลม์ต้องร้องไห้หลั่งน้ำตา
อันเด็กๆเหล่านี้ เขาเรียกกันว่า ไควร์ แม้มันจะสะกดว่า ชอย- choir ก็ตามเถอะ!
มันมาจากคำว่า chorus- ประสานเสียง อย่างที่ว่าในวงการนักร้องมีการจัดเปนหมู่ใหญ่หลักสิบหรืออาจจะหลักร้อยยืนเรียงรายเปนระเบียบเรียบร้อยร้องประสานเสียงเพรียงพร้อมกันโดยมีวาทยกร (conductor) ยืนกำกับอยู่เบื้องหน้า
อีทีนี้ปวงเขาอาจร้องโดยไม่มีวงดนตรีบรรเลงเล่นประกอบก็ได้อยู่ ซึ่งงานอาชีพเขานี่กว่าจะขึ้นเวทีมาร้องให้ฟังโดยสอดคล้องกันนั้นก็ต้องมีการฝึกฝนร่วมกันมาอย่างมากเพื่อให้เสียงสูงเสียงต่ำแต่ละคนมันสอดประสานมิใช่ร้องไห้โหยหวนกันไปคนละทิศละทาง
วงนักร้องเสียงประสานในวงการอาจจะพอจะแยกได้เป็นวงผสม mixed choirs ซึ่งมีทั้งชายและหญิง มาร้อง ประกอบด้วยเสียงสูงและต่ำของฝ่ายหญิง เปนโซปราโน่, อัลโต้ เสียงสูงและต่ำของชายเปนเทอเนอร์ และเบส ซึ่งแต่ละคนอาจต้องร้องสูงต่ำได้หลายระดับเสียงย่อยๆลงไปอีกทีขยับโทนเสียงได้ตามโน้ตว่ายังงั้น
ส่วนวงชายล้วน (male choirs) ก็มีผู้ร้องครบระดับเสียงเหมือนอย่างแรก หากแต่ว่าเอาเด็กผู้ชายมาร้องเสียงสูงของผู้หญิง เรียกกันว่าเสียงเทรเบิล (treble) หรือโซปราโนของเด็กชาย ส่วนผู้ชายโตแล้วนั้นก็จะร้องฉพาะเสียงต่ำหรืออัลโท
ในขณะที่วงหญิงล้วน (female choirs) ก็ร้องเสียงสูง-ต่ำของผู้หญิงไป วงเด็ก (children’s choir) มีทั้งเด็กผสมชายหญิง และเด็กชายล้วน_boy choir ซึ่งเปนวงประเภทที่อยู่ในเรื่องงานทริบิวให้แก่เซอร์เก้ของเรานี้
อันว่าวงนักร้องประสานเสียงนี้มีเก่าแก่มาแต่ครั้งสมัยกรีก ก่อนจะมีคริสตศักราชโน่นเลย เขาให้มีการร้องสรรเสริญพระ/เทพเจ้าอยู่ในวิหาร ต่อมาก็มีร้องกันอยู่ในละครกรีกโบราณที่เรียกกันว่า Greek Drama
ต่อมาอีกสมัยใกล้ปัจจุบันที่วงดนตรีคลาสสิกเฟื่องฟู ก็มีดุริยางค์และคีตกวีดังๆบางเจ้านำเอาการร้องเสียงประสานเข้ามาสอดแทรกไว้ในบทเพลงอย่างของ โมสาร์ท กับ แฮนเดล เปนต้น แต่ที่ดังมากๆก็เช่นบทเพลง “Ode to Joy” ที่บีโธเฟน (Beethoven) ใส่เข้าไว้ในท่อนสุดท้ายของซิมโฟนีย์หมายเลข 9 โดยเนื้อร้องนั้นนำมาจากบทประพันธ์ของอัครมหากวีเฟรเดอริด ฟอน ชิลเลอร์
วงไควร์เด็กชายที่มีชื่อเสียงในโลก หนีไม่พ้น วงแห่งเวียนนา ซึ่งมีที่มากันว่าพวกฝรั่งถือขนบธรรมเนียมเข้มข้นไม่ยอมให้เอาผู้หญิงเข้าไปในเขตศาสนาสถาน อีทีนี้เวลาจะประสานเสียงร้องเพลงถวายพรพระสรรเสริญพระเจ้าในโบสถ์ ก็จำเปนจะต้องใช้ชายล้วนไปฝึกหัดทำการร้องบรรเลง เด็กๆเสียงยังไม่แตกสามารถทำเสียงร้องแบบผู้หญิงได้ดังกล่าว
วง Vienna Boy’s Choir ที่ว่านี่มีประวัติยาวนานมาแต่สมัยเขาตั้งวงนักร้องเด็กในวังครั้งยุโรปยุคกลางเมื่อราวค.ศ.1500 ต่อมาจึงจัดตั้งเปนโรงเรียนฝึกหัดขับร้องขึ้นที่พระราชวังออการ์เตน_Palais Augarten ซึ่งนอกจากจะเน้นสอนร้องประสานเสียงแล้วก็ยังจัดให้มีการเรียนการสอนวิชาทั่วไปให้ด้วย มีทั้งระดับอนุบาล ไปจนถึงมัธยมเปนโรงเรียนกิน-นอนอยู่ประจำ
เด็กส่วนใหญ่เปนชาวออสเตรียนเจ้าของประเทศ แต่ก็เห็นมีรับจากประเทศอื่นๆด้วยเหมือนกัน ในชั้นเรียนร้องประสานเสียงนั้นจะมีเด็กชายราวๆ ร้อยคน อายุสักสิบถึงสิบสามสิบสี่ ว่ากันว่าอายุราวนี้จะมีเสียงสูงทำเพลงได้ไพเราะดี
แต่ทีนี้ว่าวงเด็กพวกนี้เขาห้ามโต เพราะโตเเล้วเสียงเปลี่ยนใช้การไม่ได้ คือว่าเมื่อเด็กชายโตเป็นหนุ่มลูกกระเดือกโตตามฮอร์โมน พูดจาเสียงใหญ่แหบห้าว ถือว่าเสียงแตกเสียแล้วต้องออกจากวงไควร์ไป แต่เข้าใจว่ายังเรียนวิชาอื่นๆได้อยู่ ศิษย์เก่าวงนี้หลายคนยึดอาชีพเปนนักดนตรี บ้างก็เปนนักประพันธ์เพลงหรือเป็นผู้กำกับวง ฟรันท์ ชูเบิร์ต ยอดคีตกวีคนดังหลายร้อยปีก่อนก็เคยเปนนักรัองเด็กของวงเวียนนานี้มาเช่นกัน
การจะเข้าเรียนเข้าวงที่ออสเตรียเวียนนานี้มีการแข่งขันกันสูง เด็กๆที่เข้าวงได้แล้วก็มักได้เดินทางเที่ยวรอบโลกไปตามที่ๆมีการจัดแสดง ที่เมืองไทยนี้ก่อนโควิดก็มีมาแสดงคราวหนึ่งที่สยามสแควร์ เล่นได้ไพเราะฟังรื่นหูดี
ภาพยนต์ดิสนีย์ เคยทำไว้เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับวงเด็กดนตรีนี้ ชื่อว่า Almost Angle-เสียงเกือบเทพ 55 เปนเรื่องราวชีวิตของเด็กๆในวง การแข่งขันทั้งภายนอกภายใน การเดินทางไกล และมิตรภาพ กับชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อถึงวัยเติบโต เหมาะจะเปิดให้เยาวชนดูดี ไม่มีพิษภัย
ในขณะที่วงเด็กๆ มาเล่นในงานของเซอร์เก้ยุคนั้น มีชื่อว่าวง ‘les petit chanteur d’asniere’: นักร้องประสานเสียงเด็กแห่งอาส์นิเเยร์ ซึ่งพักหลังนี้มาประสานเสียงร้องเพลงป็อปร้อคในโลกออนไลน์วาดลวดลายกันสนุกสดใสครื้นเครง ท่านที่สนใจสามารถกดดูได้รับรองว่าฟังเพลินดีจริงๆ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,839 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565