ดังได้เล่าสู่ท่านฟังหลายปีก่อนในตอน “โมนาลิซ่สหาย” ไปแล้วนั้น อยู่มาวันนี้ก็ให้นึกถึงว่า ที่พระราชวังฟงแตนโบลว์ในชนบทฝรั่งเศส ประดาสิ่งของมีค่าควรเมือง ก็มีถูกลักหายไปหลายรายการเช่นกัน ในประดาของเหล่านั้น มันจำเพาะจะต้องมีศิลปวัตถุมงคลไทยหลายรายการซะด้วยซี รายการของต้องมี (สำหรับโจร) ในงานนี้ ได้แก่พระมหามงกุฎจำลอง พระแสงดาบญี่ปุ่น พระคนโท พาน และพระกรร (ไกร) บิด ๒ องค์
ของประดามีค่าเหล่านี้ รัฐไทยหรือสยามแต่เดิมโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 องค์รัฐาธิปัตย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีมนตรีอำมาตย์ผู้ใหญ่ราชนิกูลสกุลบุนนาคสามท่านนำคณะอัญเชิญข้ามน้ำข้ามทะเลไปผูกมิตรราชสัมพันธไมตรี ด้วยว่าก่อนหน้านั้นเจ้ากรุงฝรั่งเศสท่านเคยได้ให้ขุนนางออกญามีชื่อฝ่ายเขาเอาปืนไฟใหญ่เล็กและประดาของเล่นกลไกต่างๆมาถวายไว้ให้ทำนองว่าเปนของขวัญไว้ก่อนแล้วได้แก่ ปืนทองใหญ่กระสุน ๖ นิ้วรางเกวียน แลเกวียนเครื่องปืนพร้อมทุกอย่างลากด้วยม้าแปดม้า
(๒) คือ ปืนหัน ๕ กระสุนใส่ในหีบ (๓) คือ หีบเครื่องแต่งตัวอย่างดี (๔) คือ ครอบแก้วมีนกร้องอยู่ข้างใน (๕) คือ ระย้าเทียนแขวนเป็นเครื่องกาไหล่ประดับแก้ว กับหีบใส่เทียนสำหรับใช้ในระย้า (๖) คือ รวมแผนต่างๆ ถ่ายอย่างที่แลแผนต่างๆ (๗) คือ รวมแผ่นภาพเรื่องรูปแลตัวอย่างเครื่องแต่งทหารฝรั่งเศส(๘) กล้องแฝดดูรูปต่างๆ สองคู่ กับฉากสำหรับดูกล้องนั้น (๙) คือ เครื่องเล่นพนันวิ่งม้าด้วยทอดลูกบาศก์
ดังนี้แล้วโดยการวิธีมารยาทจรรยามิตรจิตมิตรใจก็ต้องว่า สมควร ‘ต่างตอบแทน’ โดยมิต้องไปคิดกังวลมากไปว่าเขาจะมาทำการอาณานิคมล่าเอาเมืองขึ้นต้องรับมืออย่างไร งานจะต้องต่างตอบแทนโดยมารยาทจรรยาเสียก่อนว่าเรามิใช่ผู้รับแต่ฝ่ายเดียวเสียที่ไหน ให้เปนรัฐอิสระมีเกียรติยศเสมอๆกันเสียก่อนในสเต็ปแรก
ท่านจึงเรียกประดาของมีค่าเหล่านั้นที่เชิญไปตอบแทนถวายนี่ว่า เครื่อง ‘มงคล’ ราชบรรณาการ มีคำว่ามงคลคาบเข้าไปด้วยมิใช่ว่าสยามเปนเมืองขึ้นเมืองข้า ที่ต้องส่งราชบรรณาการไปซูฮกถวายเสียแต่อย่างไร
บัญชีรายการข้าวของต่างๆมีครอบคลุมไปถึงของมงคล 34 รายการแต่ไม่จำกัดอยู่เพียงเท่านั้น ดังต่อไปนี้1.พระราชสาส์นจารึกในพระสุพรรณบัตร ห่อในแผ่นทองคำแล้วใส่ในฝักทองคำลงยา 2. พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3.พระสาทิสลักษณ์ในพระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ 4.พระมหามงกุฎทองคำลงยาประดับเพชร มรกต ทับทิม 5. พระสังวาลลายกุดั่นประดับทับทิม 6.พระธำมรงค์นพเก้าใส่ตลับทองคำลงยา 7.ฉลองพระองค์พระกรน้อยมีดุมเพชรเจ็ด 8.ฉลองพระองค์ครุยกรองทอง 9.รัดพระองค์กุดั่นประดับเพชรบ้าง มรกตบ้าง สายทองมีประจำยามมรกต 10. รัดพระองค์จรบาทปักเลื่อม 11. รัดพระองค์กรองทอง 12.สนับเพลาเข้มขาบ เชิงงอนลายทองคำลงยาราชาวดี 13. ผ้าทรงยกทองผืน 1 14. ผ้าทรงลายกรวยเกี้ยวเขียนทอง 1 15. ผ้าทรงปูมอย่างดี 4 ผืน 16. สังขอุตราวัฏเครื่องทองคำลงยาราชาวดี มีดอกนพรัตน์มังสีทองคำจำหลักลงยา เป็นเครื่องรอง
17. ขันน้ำกับพานรองทองคำลงยาราชาวดี สำรับ 18. เครื่องชาสุธารส มีถาดทองคำ ป้านเลี่ยมทองคำ จานทองคำรองป้าน หยกใหญ่มีฝาเลี่ยมทองสำรับ เรือทองคำรองถ้วย 19. ถ้วยฝาทองคำลงยา ถ้วยฝาเงินถมยาคำตะทอง 20. ซองบุหรี่ทองคำลงยา 21. หีบใส่กรรไตรส้นประดับเพชรและทับทิม พระสางเจียดงากรอบแลด้ามทองคำลงยาประดับพลอยมรกตคู่ 22. หีบใส่ส้อม ช้อน มีด ทองคำแลมีด้ามประดับเพชร 23. โต๊ะเงินใหญ่ ปากกาไหล่ทอง คู่ 24. ดาบเหล็กสายฝักทองคำลงยา 25. หอกอย่างสยามฝักเงินดาไหล่ทองลายจำหลัก 26. ง้าวฝักเงินกาไหล่ทองคำลายจำหลัก 27. ทวนด้ามกาไหล่ทองคำ คู่ 28. เครื่องม้าทองคำประดับเพชร 29. พระกลด 30. บังพระสูรย์ 31. เครื่องสูง ฉัตรคู่ 5 ชั้น ฉัตรคู่ 3 ชั้น ชุมสายคู่ 32. พระราชยานกง 33. กลองมโหระทึกกับปี่งา 34. ฉากรูปพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นที่นมัสการในพระบรมมหาราชวังเขียนสามรูป ตามอย่างเครื่องทรงในฤดูทั้งสาม ซึ่งมีหนังสือชี้แจงมาเปนนิทาน
นอกนี้มีพระแสงดาบองค์ต่างๆ ทองคำฝักลงยา พระขรรค์ พระแสงกริช พระแสงดาบญี่ปุ่น งาช้าง เครื่องอานม้าทองคำ ปะวะหล่ำกำไล พาหุรัดมังกรทองคำคาบแก้ว ดารานพรัตน์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชุดกำไลข้อมือ ถักด้วยลวดทองเป็นรูปมังกรคาบแก้ว อ้าออกได้ แหวนเพชรแบบแถว และแบบล้อมรังแตน ตลับทองคำลงยาราชาวดี กล่องทองคำสลักดุนนูนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราช้างเผือก (ด้านหน้าพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ อีกด้านหลังเป็นรูปช้างเผือก) ภาพวาดบนผืนผ้ารูปพระแก้วมรกตทรงเครื่องสามฤดู พระเต้า พานกลีบบัว และยังมีช้างไทยอีกสองเชือก ซึ่งพระจักรพรรดิฝรั่งเศสโปรดเกล้าพระราชทานชื่อต่อมาภายหลังว่าคาสเตอร์ และพอลลุกซ์ (Castor & Pollux) ตามชื่อของพระโอรสแฝดของเทพธิดาลีด และเทพเจ้าซีอุส (Leda & Zeus) เลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ปารีสJardin des Plantes
ทรัพย์สมบัติมหาศาลนี้ถูกบรรจุในหีบห่อขนาดใหญ่ รวมได้ถึง 48 ตู้ บรรทุกใส่ในเรือรบฝรั่งเศสเต็มลำที่เขาส่งมาบริการ ไปพร้อมด้วยคณะทูตชุดใหญ่ที่สุดรวมได้ 27 ชีวิต มีล่ามบาทหลวงและเด็กชายกุลบุตรลูกผู้ดีไปด้วย ฝ่าคลื่นลมรอนแรมมาทางคลองสุเอซ ที่เพิ่งขุดสำเร็จใหม่เข้ามายังทวีปยุโรป
สมเด็จพระจักรพรรดิ์นโปเลียนที่สาม และ พระจักรพรรดินียูเจนีเสด็จออกรับราชทูตด้วยยินดีต่อมาโปรดให้จัดแสดง ‘ของขวัญ’ เหล่านี้ อย่างว่าแต่งห้องในห้องพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 จักรพรรดินีทรงยินดีกับของมีค่าเหล่านี้มากมีพระราชเสาวนีย์ให้นายช่างอเล็กซี พากกา ออกแบบดัดแปลงส่วนหนึ่งของพระตำหนักด้านหลังเปนที่จัดแสดง งานเริ่มทันทีกลางปี ค.ศ. 1862 แล้วเสร็จในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1863 เครื่องตกแต่งทั้งหมดถูกนำเข้าติดตั้ง โดยการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยพระองค์เอง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามพระราชเสาวนีย์ตามลักษณะแบบแผนของชาวตะวันออกไกลทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่ปี 1863 เป็นต้นมา นโปเลียนที่ 3 พร้อมทั้งพระมเหสีมักจะใช้เวลาพักผ่อนพระอิริยาบทเป็นประจำในส่วนนี้ของอาคารพระราชวัง จนติดปากกันเรียกว่า ‘ซาลองยูเจนี’ จนตลอดรัชกาล”
พระมหามงกุฎที่ถูกลักไปนี้ ทำด้วยทองคำแท้และอัญมณี ทั้งเพชร 233 เม็ด, ทับทิม 2,298 เม็ด, มรกต 46 เม็ด และไข่มุก 9 เม็ด มีความสูง 50 ซม. หนักถึง 7 กก. แลดูแล้วถ้าโจรไม่กระจอกลักมั่ว ก็ต้องมีใบสั่งจากนักสะสมที่รสนิยมไม่ธรรมดา เพราะเปนของที่ปล่อยยากมี liquidity ต่ำ ครั้นจะเเงะเอาแตะเพชรพลอยไปแยกขายก็น่าเสียดายมิคุ้มค่า
ส่วนท่านที่บากบั่นนำคณะฝ่าทางกันดารไปนั้นคือ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ฯ นามเดิมว่า แพ เปนบุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต) รับราชการมาแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เปนหุ้มแพร แล้วเลื่อนเปนปลัดกรมพระตำรวจสนมทหาร ผลัดแผ่นดินแล้วเลื่อนเปนที่พระพรหมบริรักษ์ เจ้ากรมเดิม เปนพระยาศรีพิพัฒน์จางวางกรมพระคลังสินค้าสืบตระกูลสมเด็จฯบิดา ในปี 2404 อายุได้ 43 ปี จึงมีพระมหากรุณาให้เปนหัวหน้าคณะทูตไปฟงแตนโบลว์ ครั้นถึงแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง พระราชทานเลื่อนเปนเจ้าพระยาที่เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี มีศักดินาหมื่นหนึ่ง ท่านผู้บันทึกปูมเดินทางคือคุณพระณรงค์วิชิต (จอน บุนนาค) ตรีทูต
คณะเดินทางประกอบด้วย ด.ช. สมบุญ บุตรท่านราชทูต เสมียน 1 คน ล่าม 1 คน คนใช้บรรดาศักด์ 2 เบอร์รองคือท่านอุปทูต เปนบุนนาคบุตรสมเด็จอีก คือเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (วร) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาช่วง อายุ 33 พร้อมด้วยบุตรชายคือ ด.ช.ชาย ส่วนท่านผู้บันทึกตรีทูตเปนบุตรชาย สมเด็จเจ้าพระยาดิศ อายุได้ 26 ปี
การณ์นี้ถ้าสายลับฝรั่งเศสสืบสาวประวัติทูตไทยดูแล้วก็จะทราบว่าไม่ธรรมดา มิใช่ขุนนางธรรมดา ส่วนเมื่อฝรั่งเศสได้รับของมงคลฯชุดนี้แล้วก็พระราชทานตอบแทนกลับมาอีกมากมายหนึ่งในนั้นพระราชทานวัวพ่อพันธุ์ชั้นกระทิงมาให้ด้วย ท่านไกรฤกษ์ นานา ระบุว่า
“เป็นวัวกระทิงพ่อพันธุ์ชั้นยอดของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในงานเกษตรและปศุสัตว์แห่งชาติในปีนี้ (ค.ศ. 1861) เวลานี้คณะชาวสยามตั้งชื่อให้มันใหม่เสียเพราะพริ้งว่า ‘ศาลาไทย’ เราภาวนาว่ามันจะเดินทางด้วยความปลอดภัยและไม่เหน็ดเหนื่อยมากนัก และจะได้รับการแพร่พันธุ์ออกไปอีกมาก ๆ ในสยามประเทศ”
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,861 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566