ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 17

31 มี.ค. 2566 | 23:30 น.

ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 17 : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย... ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3875

เมื่อเสือกับสิงห์เผชิญหน้ากันในงานการบำเพ็ญกุศลฌาปนกิจศพ ของผู้มีบรรดาศักดิ์สูงท่านหนึ่ง ก็มีการปะทะคารมกันอย่างนึกไม่ถึง เสือกับสิงห์ที่ว่ามีตำแหน่งใหญ่ระดับซูเปอร์บิ๊กทั้งคู่ 

ท่านแรกชี้ไปที่โกศบรรจุศพแล้วแซวว่า “เมื่อไหร่ ท่านควง จะลงไปอยู่ในนั้นกับเขาบ้างล่ะ?” บรรดาแขกเหรื่อในงานศพได้ยินแล้วก็นั่งเงียบกริบ เพราะนึกไม่ถึงว่าเล่นกันแรง ท่านควง ยิ้มแล้วพูดว่า “ก็ดีเหมือนกันนะ ผมจะได้ลงไปนั่งยองๆให้ท่านยกมือไหว้ซะหน่อย!” 

ผู้มาร่วมงานเบิกตากว้างจ้องดูคอหอยของผู้ใหญ่ท่านแรกว่า หลังจากโดนกรีดเลือดจะไหลรินออกมาจากซอกคอกี่แกลลอน คงต้องอธิบายให้หายสงสัย คำว่า “นั่งยองๆ!” ในที่นี้หมายถึงท่านั่งอึ ถ้า ผู้ใหญ่ท่านแรก จำต้องยกมือไหว้ ท่านควง ซึ่งกำลังนั่งอึ แสดงว่า สิงห์ มีศักดิ์ศรีสูงส่งเหนือกว่า เสือ (ฮา)

มนุษย์ + ข้อมูล + เทคโนโลยี + แพลตฟอร์ม + วิเคราะห์ = การตลาด 5.0

ชุดความคิดนี้เพิ่งจะอุแว้ออกมาเมื่อไม่ช้าไม่นาน เป็นสมการที่กูรูรุ่นใหม่รู้จักการคลุกเคล้าเอาภูมิปัญญา ที่มีอยู่แล้วเอามาผสมผสานให้กลมกลืนเข้ากับยุคสมัย จุดดีที่ผมสนใจที่ใครต่อใครหลายคนเขาไม่ทำกัน คือ ไม่มีการโอ้อวดตัดไม้ข่มนามความรู้ของผู้อื่นว่า หลักคิดใหม่ของเราเข้าที หลักคิดเดิมที่มีไม่เข้าท่า

ยกตัวอย่างเช่น การนำเสนอว่า “4P หลีกทางไปเลย! ยุคนี้ มันต้อง 4B” ถ้าท่าน E. Jerome McCarthy ได้เห็นได้รู้คงจะหดหู ที่นอกจากจะไม่ขอบคุณแล้วยังแถมพูดจาทับถมอีกต่างหาก

ทุฏฐกุมาร รัชทายาท พระเจ้าพรหมทัต ได้ถูกกระแสน้ำพัดไป จึงเกาะท่อนไม้นั้นลอยไปตามกระแสน้ำ เศรษฐีท่านแรก ฝังทรัพย์ 40 โกฏิ ไว้ที่ฝั่งแม่น้ำ ตายไปเกิดเป็นงูเฝ้าขุมทรัพย์ เศรษฐีท่านที่สอง ตายไปเกิดเป็นหนูเฝ้าขุมทรัพย์ สัตว์ทั้งสองว่ายตัดกระแสน้ำไปเกาะขอนไม้เดียวกัน ลูกนกแขกเต้ายังบินไม่ได้ตกลงมาอยู่ใต้ต้นงิ้วลอยไปเกาะขอนไม้ขอนไม้ด้วย 

ฤาษีเห็นทั้ง 4 ชีวิตกำลังจะจมน้ำตายท่าน จึงว่ายน้ำเข้าไปลากขอนไม้ขึ้นมาบนฝั่ง จัดแจงให้สัตว์ที่อ่อนแอกว่าผิงไฟก่อน ทุฏฐกุมาร แค้นเคืองฤาษีไม่ได้ดูแลตนก่อน เมื่อ ทุฏฐกุมาร และ สัตว์ทั้งสาม แข็งแรงดีแล้วก็ขอลากลับ 

งูบอกท่านฤาษีว่า “พระคุณเจ้าผู้เจริญ ท่านได้ช่วยชีวิตข้าพเจ้าไว้ หากท่านต้องการทรัพย์ ท่านจงไปที่แม่น้ำฝั่งโน้น แล้วร้องเรียก ทีฆะ เถิด ข้าพเจ้าจะถวายทรัพย์ 40 โกฏิ แก่ท่าน”

หนูก็บอกท่านฤาษีว่า “หากท่านต้องการทรัพย์ จงเรียกข้าพเจ้าว่า อุนทุระ ข้าพเจ้าจะถวายทรัพย์ตามที่ท่านต้องการ”

ลูกนกแขกเต้ากล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่มีทรัพย์เลย แต่หากท่านต้องการข้าวสาลีแดงละก็ โปรดร้องเรียก สุวะ ข้าพเจ้าจะบอกฝูงญาติให้ช่วยขนข้าวสาลีแดงมาถวายหลายเล่มเกวียน” 

                  ไม่รู้เรื่องการตลาดชาติและหมู่ชนจะอับเฉา ฉากที่ 17

ทุฏฐกุมาร ยังเคืองท่านฤาษีอยู่ จึงพูดพอเป็นพิธีว่า “หากข้าพเจ้าได้ครองราชย์สมบัติแล้ว นิมนต์ท่านไปที่วังเถิด ข้าพเจ้าจะบำรุงท่านด้วยปัจจัยสี่” หลังจาก ทุฏฐกุมาร ได้ขึ้นครองราชย์ ท่านฤาษี ก็อยากจะลองใจ จึงไปหางูก่อน ร้องเรียก “ทีฆะ” เพียงคำเดียวเท่านั้น งูก็เลื้อยออกมา กล่าวถวายทรัพย์ 40 โกฏิทันที สาธุ! ท่านฤาษีบอกว่ายังไม่จำเป็นต้องใช้  ครั้นไปหาเจ้าหนู กับ นกแขกเต้า ก็แสดงอัธยาศัยเหมือนกัน สาธุ!

เมื่อท่านฤาษีเดินทางถึงพระนคร พักอยู่ที่พระราชอุทยาน รุ่งขึ้นก็ออกบิณฑบาตในเมือง พระราชารู้ก็รับสั่งราชบุรุษว่า “พวกแกจงไปจับฤาษีนั้นมัดมือไพล่หลัง นำไปเฆี่ยนตีทุก 4 แยก จากนั้นก็ตัดหัวมันเสียที่ตะแลงแกงแล้วเอาตัวเสียบหลาวไว้!” 

ท่านฤาษีซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ก็ถูกเฆี่ยนตีทุกๆ 4 แยก ท่านจึงรำพึงว่า “มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ยกเอาท่อนไม้ขึ้นจากน้ำยังดีกว่าช่วยคนตกน้ำบางคนเสียอีก”

ราชบุรุษได้ยินเช่นนั้นพากันสงสัยว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลัง เมื่อสอบถามท่านฤาษีจนรู้ความจึงพากันโกรธพระราชาว่า อกตัญญู จึงเข้าไปล้อมจับและฆ่าเสีย เสร็จแล้วก็ร่วมกันจัดพระราชพิธีกราบบังคมทูลเชิญ ท่านฤาษี ขึ้นเป็นพระราชา 

ท่านฤาษี ได้ครองราชย์ก็พาไพร่พลไปขนทรัพย์ของงูกับหนูมาไว้ในท้องพระคลัง นกแขกเต้าจะไปคาบข้าวสาลีมาถวาย แต่ท่านรับสั่งว่ายังไม่ต้อง ท่านชวนสัตว์ทั้งสามไปอยู่ในวัง ทรงให้ทำทะนานทองพระราชทานให้เป็นที่อยู่ของงู ทำถ้ำแก้วผลึกเป็นที่อยู่ของหนู ทำกรงทองเป็นที่อยู่ของนกแขกเต้า

พระราชทานข้าวตอกคลุกกับน้ำผึ้งใส่จานทองให้ งู และ นกแขกเต้า กิน พระราชทานข้าวสารสาลีให้ หนู กิน ทุกวันไม่เคยเว้น สำหรับท่านเองมุ่งเน้นบำเพ็ญกุศลทำบุญทำทานตลอดชีวิต

พระราชาจอมอกตัญญู เกิดเป็น พระเทวทัต งู เกิดเป็น พระสารีบุตร หนู ได้เกิดเป็น พระโมคคัลลานะ นกแขกเต้า ได้เกิดเป็น พระอานนท์ ท่านฤาษี ผู้ทรงครองราชย์เป็นพระราชา เกิดเป็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“ขิต” (ศัพท์พิเศษ) แปลว่า ตกอับ หมดหนทาง แทบตาย เกือบตาย จะตายให้ได้ หรือ ไปสู่สุขคติ นักขายคงรู่อยู่แก่ใจว่า ชุดความคิด กับ ชุดความขิต ชุดที่สองนี่แหละที่พิฆาต ทุฏฐกุมาร จนสิ้นวาสนา

คนที่ไม่รู้บุญคุณลูกค้า + ข้อมูล + เทคโนโลยี + แพลตฟอร์ม + วิเคราะห์ = การตลาด 0.5!