ไหนๆฉบับก่อนก็พาท่านลัดเลาะไปแถวละแวกยุโรปตะวันตกจนถึงชายทุ่งแห่งดวงดาว ซานติเอโก้ เดอ กอมโปสเตลล่ามาแล้ว ก็ให้นึกถึงว่าครั้งเมื่อสเปญ โปรตุเกสครองโลกจนเปนจักรวรรดินั้น ภาษาของปวงเขามีใช้กันอยู่ทั่วไป ตามประสาใครใหญ่ใครอยู่ หนึ่งในประดาคำที่น่าสนใจฝ่ายโปรตุเกสมีคำว่า “กัมประโด”
คำๆนี้มันน่าสนใจตรงที่ว่าเบื้องหลังความมั่งคั่งในหลายสายสกุลชั่วลูกหลานมาจากการที่ว่าบรรพชนประกอบอาชีพ กัมประโด ที่ว่านี่เอง
กัมประโด Comprador นี้ดั้งเดิมเห็นเขาแปลว่าผู้จัดซื้อ
ดังได้ทราบกันมานานเนว่าโปรตุเกสเปนชนยุโรปชาติแรกที่เดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปมาถึงเอเชีย แล้วก็นำความรู้ ศัพท์แสง วิทยาการใหม่ๆ มาสู่ดินแดนละแวกนี้ ผ่านรูปแบบทหารรับจ้างบ้าง พ่อค้าอาวุธปืนไฟ ขายเหล้าองุ่น ไปยันความสัมพันธ์กับชนพื้นเมืองสร้างครอบครัวใหม่ๆ
ท้าวทองกีบม้า มาร์รี เดอ กีมาร์ แห่งกรุงศรีอยุธยาเรานี่ก็ใช่ _คนโปรตุกีส นอกจากฝอยทองขนมใส่ไข่รากฐานมาจากประเทศเขาแล้ว สบู่นี่ใช่ คำโปรตุเกส ปิ่นโต นี่ก็ใช่ เปนภาษาเขานำเข้ามา ข้างคำว่าเหรียญ ที่คนไทยเราใช้พูดถึงเงินก็เช่นกัน ว่ากันว่าก็ได้มาจากการเรียกขาน “เงินเรียล” ของโปรตุเกส ในระหว่างการค้าขายยุคนั้น ชะรอยหูไทยเราได้ยินเขาเรียก เรียลๆ ก็ย่อมหมายเข้าใจได้ว่า คือเงินตราโลหะทรงกลมที่ปั๊มนูนไว้แลกเปลี่ยนสินค้า จึงเรียกกลายต่อมาเปนว่า “เหรียญ” ใช้หมายถึงโลหะทรงกลมเงินกษาปณ์มาใช้อยู่จนทุกวันนี้
กลับมาที่ว่าอาชีพกัมประโดพวกฝรั่งมังค่าเหล่านั้นลงเรือกำปั่นลัดเลาะไปทั่วโลกพอจนถึงมาเก๊า จนเอายึดเช่าเปนเขตสิทธิสภาพแห่งตนต่อมา ไปเจอคนท้องถิ่นที่หัวไว ใช้เครือข่ายสายสัมพันธ์แห่งตนจัดหาข้าวของมา supply ให้ได้ ก็นิยมเรียกหามาร่วมงาน ฝรั่งจึงเรียกท่านเหล่านั้นว่า กัมประโด _คนจัดหา
เวลาตน (คือฝรั่ง) มีเรื่องกับการกฎระเบียบขุนนางท้องถิ่น ก็คนเหล่านี้อีกแหละ ดูเเลแก้ไข อยากได้ของอะไรกัมประโดจัดหา อยากเอาสินค้าอะไรมาปล่อยกัมประโดหาช่องทาง เรียกว่าคบหาไว้มีแต่ได้กับได้ หาของก็ได้แก้ไขปัญหาก็คล่องนานไปก็ตั้งเปนตัวแทนการค้าเวลาตัวมีสินค้าอะไรจะปล่อยขายให้กัมประโดจัดการเปนเอเย่นต์ กัมประโดผู้สั่งสมทุนตนเองจากการค้าขายได้ระดับหนึ่ง มีหัวไว สมองแล่น ให้ลูกหลานหัดภาษา เรียนรู้วิชาต่างแดน แต่ยังคงมารยาทจรรยาถือสัจจะการค้าแบบคนท้องถิ่น ก็เรียกว่า เปนเจ้ามี “ยี่ห้อ” สร้างตัวสร้างเครดิตขยายงานสานความมั่งคั่งสะสมทุนได้โดยก้าวหน้า สังเกตดูว่าเมืองท่าแต่ละเมืองที่ฝรั่งค้าขายด้วยก็จะมีตัวแทนหรือกัมประโดนี้อยู่
อนึ่งว่าควรแก่การบันทึกไว้ เรือกำปั่น กับเรือสำเภา มันต่างกันตรงไหนทั้งที่มันเรือใบใช้ลมทั้งคู่? ก็ขออนุญาตเรียนว่ามันขึ้นกับคนขี่เรือ ถ้าเปนฝรั่งล่ะท่านว่าขี่เรือกำปั่น ถ้าคนจีนล่ะก็ขี่เรือสำเภา เขาวัดกันตรงทรงรูปเรือดังนี้55
หนังสือฝรั่ง ชื่อ CHINESE MIDDLEMEN IN HONG KONG’S COLONIAL ECONOMY, 1830-1890
ระบุว่าระบบกัมประโดเกิดขึ้นเพราะการค้าทางเรือ และเริ่มขยายตัวมากขึ้นในยุคหลังจากอังกฤษยึดฮ่องกงเปิดเปนเมืองท่าเสรี ทุนต่างชาติที่มาค้าขายต้องอาศัยกัมประโด หรือ นายหน้า/ตัวแทน แทบทั้งสิ้น ก็โธ่ ทำเองมันง่ายที่ไหน
ดังนี้มันจึงเกิดมีกัมประโดระดับต่างๆ เกิดขึ้นมาในยุคนั้นทั้งแบบอีลีท และแบบท้องถิ่น ทั้งยังทวีความเข้มข้นขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองเปนต้นมา จนฮ่องกงกลายเปนเสาหลักการค้าโลกเสาหนึ่งในศตวรรษที่ 20 กัมประโดท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่เปนตัวแทนการค้าให้กับทุนตะวันตกที่ได้รับการยกให้เปนกัมประโดหมายเลข 1 ของฮ่องกง ชื่อว่า Robert Ho Tung มีบทบาททางธุรกิจในราวต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาได้รับพระราชทานตราอัศวินเปนท่านเซอร์ เพราะเปนนักธุรกิจหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการบุกเบิกธุรกิจฮ่องกงให้กับอังกฤษ
อังกฤษเรียกแกโดยนับถือว่า The grand oldman of Hongkong ได้รับตราตั้งเปนอัศวินสองที ทีแรกชั้น Knight Buchelor ก่อนแล้ว KBE ต่อมา
แกก็แน่ขนาดที่ว่าเปนคนท้องถิ่นคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้มีบ้านพักในเขต Victoria Peak ซึ่งเป็นพื้นที่พักอาศัยและตากอากาศสงวนไว้สำหรับชนชั้นผู้ปกครองเท่านั้น อันนี้ย่อมชี้ชัดว่ากัมประโดในยุคแรกนั้นเปนอาชีพคนกลางที่จำเปนจริงๆ ระหว่างทุนยุคใหม่จากตะวันตก กับตลาดการค้าท้องถิ่นที่มีขนบภาษารูปแบบตามธรรมเนียมท้องถิ่นแตกต่างวัฒนธรรม
ท่านเซอร์โรเบิร์ตของเราขยับฐานะขึ้นมาเปนกัมประโดระดับอีลีทขึ้นมาได้ในเวลาต่อมา ถามว่ากิจการอะไรเหรอที่แกทำ พูดง่ายๆคือแกขายได้หมดทุกอย่างนั่นแลเปน jack of all trades แต่ที่โดดเด่นวางรากฐานให้โลก ก็คือตลาด Gold Silver Exchange of Hong Kong นี่แหละที่แกเปนผู้ก่อตั้ง
ธนาคารของบ้านเราในยุคแรกๆ ล้วนเปนกิจการสาขาของต่างชาติเจ้าอาณานิคมทั้งนั้นทำหน้าที่สร้างระบบการค้าใหม่ของโลกยุคนั้นและเอื้อประโยชน์ต่อกิจการของตะวันตกเปนสำคัญ ไม่ว่าจะธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ลอนดอน และจีน ธนาคารชาร์เตอร์เมอร์แคนไทล์แห่งอินเดียของอังกฤษ หรือธนาคารอินโดจีนของฝรั่งเศส ธนาคารเหล่านี้ล้วนอาศัยตัวแทนนายหน้าเปนกัมประโด ดำเนินการแทน ซึ่งหนีไม่พ้นเหล่าพ่อค้าชาวจีนที่มีเครือข่ายการค้าอยู่แล้ว ระดมเงินฝากก็ง่ายให้เงินทุนไปปล่อยกู้ก็สะดวก ผิดพลาดอย่างไร กัมประโดไทย “รับประกัน” ด้วยสัจจะการค้า ทำมาหากินร่วมกันแล้วต้องรับผิดชอบ
ข้างการส่งออกข้าวที่มีมากมายในสมัยรัชกาลที่ 5 เปนต้นมา ปัณรส บัวคลี่ เล่าว่า ‘ส่งออกผ่านเครือข่ายการค้าชาวจีนไปยังสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่สุดแล้วสินค้าส่งออกเหล่านั้น ล้วนผ่านมือกัมประโดใหญ่ เชื่อมต่อกับ บริษัทนำเข้าส่งออกตะวันตกอีกคำรบ’ ทั้งสิ้น
ไอ้ที่ระบบราชการไทยให้ลงอาชีพ แล้วเขาลงว่าค้าขายค้าขายนั้น อย่าดูเบาพวกเขา อาชีพกัมประโดกันเลยทีเดียวนา ‘ยี่ห้อ’ กัมประโดนั้น เขามีเปนที่นับถือกันมาก ครอบครัวไหนๆเปนกัมประโด จะรักษาเครดิตการค้าและสัจจะวาจาอย่างดี เพราะรู้ว่ามีค่ามากกว่าทรัพย์สินเงินทอง และเพราะด้วยสัจจะการค้าเหล่านี้เองเปนต้นทางทำเงินทองไหลมาสู่ครอบครัวปวงเขา
กัมประโดไม่เหมือนนายหน้า เขาไม่ชี้ช่องจัดหาแต่เท่านั้น แต่พาตัวเองร่วมเสี่ยง และค้ำประกัน “ค้ำดีล” ด้วยยี่ห้อ ชื่อเสียง และทุนทรัพย์ทั้งหมดที่เขามี
คนเหล่านี้ค้าขายอะไรก็ได้ด้วยคุณสมบัติ หัวไว ใฝ่รู้ กล้าลุย อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ทำการบ้านอย่างหนัก เน้นผลตอบแทนเปนกำไรก้อนโตๆ ไม่สนใจค่าจ้างค่าออน
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,887 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566