โยคะกับแพทย์ทางเลือกสำหรับผู้สูงวัย 3

23 มิ.ย. 2566 | 21:45 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โยคะกับแพทย์ทางเลือกสำหรับผู้สูงวัย 3 โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากที่ผมได้เขียนเรื่องนี้ ก็มีคำถามจากเพื่อนที่เป็นแฟนคลับ ว่าท่านปรมาจารย์โยคะ ท่าน Bhagavan Shanmukha คือใคร? มาจากไหน? และผมไปรู้จักท่านได้อย่างไร? ต้องขออนุญาตแนะนำท่านให้แฟนคลับรู้จักท่าน ก่อนที่จะเล่าต่อจากเนื้อหาตอนที่แล้ว ซึ่งผมจะถ่ายทอดสิ่งที่ได้รับการเสวนาจากท่าน เอาพอเป็นสังเขปเล็กน้อยก่อนนะครับ จะได้ไม่เป็นการเสียเนื้อที่หน้ากระดาษครับ
        
ผมได้รู้จักท่านปรมาจารย์ด้านโยคะท่านนี้ จากการแนะนำของแขกพิเศษที่ท่านได้ให้เกียรติผมด้วยการมาพักที่ “คัยโกเฮ้าส์” ของผม ท่านชื่ออาจารย์เพชรสิงห์ สมณะ ซึ่งท่านเป็นศิลปินไทยทางด้านศิลป์ภาพวาด ที่ได้ไปอาศัยอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลายสิบปี และไปสร้างชื่อเสียงโด่งดังที่นั่น มีอยู่วันหนึ่งผมได้ไปนั่งคุยกับท่าน ท่านได้เล่าว่า มีปรมาจารย์ทางด้านโยคะ ท่าน Bhagavan Shanmukha ที่ชื่อเสียงโด่งดังมากในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาอาศัยอยู่ที่เกาะพะงันร่วมปีแล้ว 

ทุกครั้งที่ท่านมาประเทศไทย ก็จะนำพาเอากลุ่มลูกศิษย์ลูกหาติดตามมาเรียนโยคะกับท่านที่เกาะพะงันเสมอ ลูกศิษย์แต่ละรุ่นจะมีติดตามมาประมาณ 30-40 คน โดยใช้เวลาในการพักผ่อนจากการทำงานครั้งละเกือบเดือน มาเรียนโยคะและอาบแดดกัน ท่านถามผมว่าอยากจะพบกับท่าน Bhagavan Shanmukha มั้ย? ผมก็เรียนท่านไปว่า “หากเป็นไปได้ ช่วงที่ท่านมากรุงเทพฯ ผมก็อยากพบท่านครับ” และแล้วอาจารย์เพรชสิงห์ก็จัดการนัดท่าน Bhagavan Shanmukha มาพบและร่วมเสวนากันครับ

การพบกันครั้งแรก ในความคิดของผมก็เพียงแต่คิดว่า การได้พบและเสวนากับผู้รู้หรือนักปราชญ์ไม่ว่าจะเป็นแขนงใด ก็เป็นบุญวาสนาที่ได้เติมเต็มความรู้ของเราแล้วครับ ดังคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า “อเสวนา จะพาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวนา” หลังจากได้พบและเสวนากับท่าน Bhagavan Shanmukha จึงรับรู้ถึงปรัชญาต่างๆ ที่สนุกสนานมาก 

อีกทั้งท่านยังให้ความรู้ด้านศาสตร์ที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้เรียนรู้เลย ผมจึงสนใจในตัวท่านเป็นพิเศษ และยิ่งไปกว่านั้น ท่านได้เล่าว่าท่านเริ่มเรียนวิชาโยคะจากรุ่นปู่รุ่นพ่อของท่านตั้งแต่อายุ 6 ขวบ อีกทั้งท่านยังศึกษาปรัชญาและวัฒนธรรมเชิงปฏิบัติตะวันออก ซึ่งต่อมาในวัย 20 ปี ท่านก็ได้ศึกษาเพิ่มเติมจาก คุรุมาตาจี จันทราตี ศิวะดาร์ชินี ชาร์มา ที่เป็นปรมาจารย์ด้านโยคะอีกท่านหนึ่ง 

นอกจากนี้ท่านยังสนใจไปศึกษาทางลัทธิภูตผีปีศาจ และวัฒนธรรมตะวันออกอย่างจริงจัง จากอาจารย์ชาวจีนอีกหลายท่านอีกด้วย หรือแม้แต่วัฒนธรรมทางจิตวิญญาณและปรัชญาของชาวญี่ปุ่น ท่านก็ได้ศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งท่านมีคุณย่าที่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ จึงทำให้ท่านสนใจที่จะศึกษาหาความรู้ด้านนี้ของญี่ปุ่นเป็นพิเศษนั่นเอง จะเห็นได้ว่าท่าน Bhagavan Shanmukha มีความเชี่ยวชาญทางด้านปรัชญาทางจิตวิญญาณของชาวตะวันออกเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ท่าน Bhagavan Shanmukha ยังเชี่ยวชาญในภาษาสันสกฤตอีกด้วย ด้วยความคิดและมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความรู้ และวัฒนธรรมของชาวตะวันออกหลายๆประเทศ จึงทำให้ท่านมีจุดเด่นที่นักวิชาการชาวตะวันตกไม่มี หรือแม้แต่ชาวอินเดียเอง ยังขาดความรู้ด้านวัฒนธรรมเหล่านี้เทียบเท่าท่าน จึงทำให้ท่านมีชื่อเสียงมาก ทั้งในประเทศอินเดียและยุโรป  

ตามที่ท่านได้เล่ามา ผมก็มีความรู้สึกแปลกใจมากๆ เพราะผมได้เดินทางไปที่ประเทศอินเดียมาก็หลายครั้ง แต่ละครั้งก็จะมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมโบราณสถาน และวัดวาอารามต่างๆ เสมอ ผมยังทึ่งในความมีวัฒนธรรมที่ยาวนานของประเทศอินเดียเป็นอย่างยิ่ง การที่ท่าน Bhagavan Shanmukha ได้พูดว่า คนอินเดียรุ่นใหม่ ไม่ค่อยใส่ใจกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติตนเองมากนัก ผมจึงเรียนถามไปตรงๆ ว่า แล้วเหตุผลที่ท่านคิดคืออะไร? 

ท่านบอกว่าอาจจะเป็นเพราะเนื่องจากอินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในช่วงสามร้อยปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมตะวันตก และความฟุ้งเฟ้อทางด้านวัตถุสมัยใหม่ ผสมผสานกับสังคมที่ชาวตะวันตกหลั่งไหลเข้าไปในประเทศอินเดีย และการดิ้นรนทางด้านเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอด 

ในขณะที่ประเทศอินเดียมีการแบ่งชั้นวรรณะที่ค่อนข้างจะชัดเจน ทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้น จึงมีความแตกต่างกันอยู่มาก จึงทำให้ชาวอินเดียรุ่นหลังๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้เท่าที่ควร ซึ่งสิ่งที่ท่านพูดถึงนี้ ทำให้ผมสะท้อนใจอย่างมาก และไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมไทยเรา หรือถ้าจะเกิด ก็ขออย่าได้เกิดในช่วงชีวิตของเราเลย เพราะมันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก ถ้าคนในชาติจะละทิ้งวัฒนธรรมอันดีงามเหล่านี้ไปครับ
      
ในด้านของโยคะกับการแพทย์แผนโบราณ ผมก็ได้รับความรู้จากท่าน Bhagavan Shanmukha ว่า ในประเทศทางฝั่งตะวันตก เขาเองก็ได้มีการมองย้อนกลับไปที่การดูแลสุขภาพ ด้วยการหลีกหนีสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคต่างๆ จะเห็นได้ว่าในยุคของทศวรรษปี 60-70 ผู้คนในฝั่งตะวันตก ต่างให้ความสำคัญแพทย์ทางเลือกเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้จากยุคนั้นได้เกิด “กลุ่มบุปผาชน” หรือที่รู้จักกันในนามของ “ฮิปปี้” ที่มีความรักในอิสระเสรี มีการใช้ชีวิตในลักษณะที่เลียนแบบกลุ่มฤษีโยคี 

โดยกลุ่มวัยรุ่นชาวตะวันตก ต่างหลั่งไหลเข้าไปศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของฤษีโยคี แล้วนำมาใช้กับตนเอง ด้วยการหันไปอาศัยอยู่ในธรรมชาติ ทำตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “กลุ่มธรรมชาตินิยม” นั่นเอง ส่วนการเจ็บไข้ได้ป่วย ก็หันไปใช้สมุนไพรหรือโภชนาการบำบัด ในการดูแลรักษาตนเอง แม้แต่การใช้ดนตรีบำบัด คีรีบำบัด และวารีบำบัด มาใช้ในชีวิตประจำวัน 
         
ผมจึงเรียนถามไปว่า สิ่งที่กลุ่มฮิปปี้หรือบุปผาชนกระทำอยู่ในยุคนั้น ในความคิดเห็นของท่าน ท่านคิดว่าถูกหรือผิดอย่างไร? ท่านตอบผมว่า ไม่มีผิดหรือถูก เพราะสิ่งที่อุบัติขึ้นนั้น เป็นไปตามยุคสมัยนิยม อีกทั้งหากมองด้านแนวคิด ก็จะเห็นว่านั่นเป็นการเกิดขึ้นของการใช้อารมณ์ความรู้สึกในการแสวงหา ซึ่งนั่นอยู่ภายใต้จิตสำนึกของความเป็นมนุษย์ ที่มีการดิ้นรนกระตือรือร้นในการ “แสวงหาความจริง” ที่เป็นจิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกคน 

หากมนุษย์ขาดซึ่งความอยากรู้อยากเห็น โลกก็จะหยุดซึ่งการพัฒนา เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย บางครั้งอาจจะเกิดในรูปลักษณะของการเดินไปข้างหน้า บางครั้งก็เกิดในลักษณะของการเดินถอยหลัง นั่นก็แล้วแต่สมัยนิยม ดังนั้นในยุคดังกล่าว จึงไม่อาจจะพูดได้ว่า แนวคิดของวัยรุ่นยุคนั้นผิดหรือถูกได้นั่นเอง
   
ในความคิดของผม หลังจากรับฟังแนวคิดจากท่าน Bhagavan Shanmukha ผมคิดว่าการนำเอาแพทย์ทางเลือกหรือแพทย์แผนโบราณมาใช้ในการรักษา หากเป็นเช่นในยุค 60-70 แม้ปัจจุบันนี้จะมีวิวัฒนาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว แต่ถ้าเรารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ในเฉพาะโรคที่จะรักษา ก็จะเป็นการดี เพราะตามแนวคิดของนักวิจัยที่ผมอ่านพบมา เขาพูดว่าการที่จะส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีได้ จะต้องดำเนินการด้วย 3 ขั้นตอนคือ 

การให้ความรู้ (Health Education) แก่คนในการนำไปปฏิบัติ ขั้นตอนต่อมาคือ จะต้องให้เขาเหล่านั้นสามารถมีการเตรียมการป้องกันการเกิดโรค (Health prevention) สุดท้ายจักต้องมีการให้เขาเหล่านั้นมีภูมิคุ้มกันในอนาคตได้ (Health protection) (Pender, Murgaugh, & Parsons, 2011) การเรียนรู้หรือการนำเอาความรู้ทางด้านโยคะและการแพทย์ทางเลือก นำมาใช้ในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพ ถ้าเราสามารถนำมาใช้แบบบูรณาการได้อย่างลงตัวแล้ว จะไม่เพียงแค่เป็นการสร้างเสริมสุขภาพได้เท่านั้น ยังสามารถช่วยให้เกิดประสิทธิผลได้อย่างดีทีเดียว