พัดขาวพุดตาน และพัดขาวพุ่มข้าวบิณฑ์

21 ก.ค. 2566 | 23:20 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2566 | 03:41 น.

คอลัมน์ Cat out of the box พัดขาวพุดตาน และพัดขาวพุ่มข้าวบิณฑ์ โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ต่อเนื่องมาจากฉบับก่อนๆที่ว่าถอดรหัสพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์จากพัดยศของพวกท่านที่ท่านถือมารับพระราชทานผ้าไตรในการบังสุกุลศพท่านบิดานั้นรู้อย่างไรว่าท่านรูปใดทรงศักดิ์อย่างไร
 
อันดับแรกก็คงต้องท้าวความไปเรื่องขุนนางพระในฉบับก่อนๆที่ว่ามีตรรกะที่มาในสังคมอย่างไรและจะมีที่ไปด้วยเหตุผลกลใดเปนพื้นเรื่อง จากนั้นจึงจะสามารถเล่าลึกลงไปในอาณาจักรราชการฝ่ายสงฆ์ ที่มีไม่ต่ำ 9 ชั้น 21 อันดับ ดังนี้
 
อันว่าทางราชการฝ่ายพระนั้นแต่เดิมมาฆราวาสมองจากข้างนอกจะเห็นว่ามีลำดับชั้นสมณศักดิ์ไล่จากล่างไปบนหลายขั้นทั้งพระครูประทวน พระครูฐานานุกรม พระครูสัญญาบัตร ตรี_โท_เอก_พิเศษ กว่าจะถึงพระราชาคณะชั้นเจ้าคุณ แล้วเลยขึ้นไปเปนเจ้าคุณชั้นไหนๆต่อไปอีก

ถามว่าพระห่มจีวรเหมือนๆกัน จะไปรู้ได้ไงว่าใครลำดับไหน?
 
ก็ต้องตอบว่าเขาดูกันที่พัดที่ตาลปัตร_ถึงเปนที่มาเรียกว่าพัด ‘ยศ’ นั่นปะไร (แว่บหนึ่งนึกขึ้นได้ว่าพระเอกตัวละครในเรื่องรักในรอยแค้นเมื่อสามสิบปีก่อน ตัวแกก็ชื่อว่าพัดยศ)
 
พระครูสัญญาบัตรโท ใช้พัด ดอกบัวบาน
 
พระครูสัญญาบัตรเอก ใช้พัด ดอกพุดตาน
 
พระเจ้าคณะจังหวัด ใช้พัดเปลวเพลิง
 
พระราชาคณะ เปนเจ้าคุณขึ้นใช้พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ทั่วไป ห้าแฉกยอดแหลม
 
พระราชาคณะ เจ้าคุณชั้นสมเด็จ รองสมเด็จ ใช้พัดพุ่มข้าวบิณฑ์เหมือนกันแต่เก้าแฉกยอดแหลม

พัดเหล่านี้ใช้ผ้าสีตาดและบุสวยงามปักทองดิ้นทองเลื่อมวิจิตรพิศดารเปนการทั่วไป บางตำแหน่งสีม่วง บางตำแหน่งสีชมพู บางตำแหน่งไล่สี แดงเขียวเหลือง ดูสวยงามละลานตา ชั่วแต่ว่ามีพัดยศของพระสงฆ์หมู่หนึ่งเปนสีขาว _ขาวอย่างไม่ใคร่จะเลื่อมมัน ขาวอย่างว่าสำแดงความบริสุทธิสงฆ์ผู้นิยมปฏิบัติภาวนา
 
ในประดาพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักรเรือนหมื่นเรือนแสนนั้น พระสงฆ์ผู้ได้รับพระราชทานพัดยศขาวมีไม่มาก ไม่น่าเกิน 90 รูปสมัยรัชกาลก่อน
 
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงฯ (เจริญ สุวัฑนะมหาเถระ) ทรงได้รับพระราชทานพัดยศขาวมาตลอดชั้นราชาคณะของท่าน
 
เจ้าประคุณสมเด็จหลวงพ่อวิริยังค์ ก็รับพระราชทานถวายพัดยศขาว มาแต่ครั้งเปนพระครูชั้นเอก ที่พระครูญาณวิริยะ ต่อเนื่องมาถึง พระญาณวิริยาจารย พระราชธรรมเจติยาจารย พระเทพเจติยรจารย พระธรรมมงคลญาณ พระพรหมมงคลญาณ วิ.  (วิริยังค์ สิรินธโร)
 
พระธรรมวิสุทธิมงคล วิ. (บัว ญานสัมปันโน) รับพระราชทานเลื่อนจากชั้นราช ข้ามขั้นเทพ ไปที่ชั้นธรรมเลย


พระเทพวิทยาคม วิ.(คูณ ปริสุทโธ) รับพระราชทานพัดยศขาวตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกขึ้นเปนเจ้าคุณชั้นสามัญ ที่พระญาณวิทยาคมเถร ต่อเนื่องมาถึงชั้นราชที่พระราชวิทยาคม และชั้นเทพ ดังกล่าว
 
ส่วนพระเถราจารย์ร่วมสมัยในอดีต เช่นพระราชสังวราภิมณฑ์ วิ. (โต๊ะ อินทะสุวัณโณ) รับพระราชทานพัดยศขาวตั้งแต่รับพระราชทานเลื่อนเปนเจ้าคุณสามัญชั้นสามัญที่พระสังวรวิมลเถร
 
พระราชอุดมมงคล วิ. (เอหม่อง อุตตมะ อุตตมะรัมโภ) วัดวังก์วิเวการาม รับพระราชทานพัดยศขาวตั้งแต่มีพระมหากรุณาโปรดเลื่อนเปนเจ้าคุณครั้งแรกที่พระอุดมสังวรเถรเช่นเดียวกันกับ
  
พระสุธรรมยานเถร วิ. พระพรหมยานเถร วิ. สองพี่น้องครูบาฝ่ายเหนือผู้มีสุขในดวงจิต
 
พระโพธิญาณเถร วิ. (ชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง
 
พระวิสุทธิญาณเถร วิ. (สมชาย ฐิตวิริโย) วัดเขาสุกิม
 
พระวิสุทธาจารเถร วิ. (เทียม สิริปัญโญ) วัดกษัตราธิราช รับพระราชทานพัดขาวพุดตาน ชั้นพระครูเอก ที่พระครูพิพิธวิหารการ
 
พระครูเกษมธรรมานันท์ วิ. (แช่ม ฐานุสสะโก) วัดดอนยายหอมรับพระราชทานพัดยศพุตตานขาวมาตลอดชั้นพระครูโท_เอกของท่าน
 
 
บรรทัดนี้จะพักไว้ เพื่อขยายความถึงการเลื่อนชั้นในราชการฝ่ายสงฆ์เสียก่อน
 
พระคณาจารย์บางรูปแม้ทรงคุณวิเศษทางวิปัสสนา ชี้แจงอรรกถาได้กระจ่างชัดเจน มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในอิทธิคุณวิเศษ อย่างพระราชวุฒาจารย์ ดูลย์ อตุโล ก็มิได้รับพระราชทานพัดขาว ลือกันว่าด้วยเหตุว่าท่านผู้ทรงสมณคุณนี้นั้นมีภาระทางปกครองเปนถึงเจ้าคณะจังหวัด (จังหวัดสุรินทร์) จริงเท็จประการใดไม่ยืนยันเพราะเปนเรื่องลือ นำมาลงไว้เพราะเปนเรื่องลือที่ฟังแล้วก็ต้องว่า ก็เข้าเค้า


 
งานระบบสมณศักดิ์พัดยศนี้ผิวเผินแล้วเหมือนจะปลุกตัณหาให้พระบ้ายศ แต่ลึกลงไปแล้วมีความละเอียดแยบคายไม่เหมือนระบบปั่นหัวคนให้ก้าวหน้าของทางราชการพลเรือนที่มีขั้นมีซีมีแท่งระบุชัด กล่าวคือ บางสมณศักดิ์พวกศุภรัตเก่าๆเคยรำพึงกันว่าชะรอยจะถูกตั้งไว้ลวงพวกบ้ายศ เช่นกรณี พระโสภน คณาภรณ์ ผิวเผินก็เปนนามพระราชาคณะชั้นสามัญ พวกลูกศิษย์พระอื่นไม่ทราบ เห่อเหิมหลงไปยามตามอาจารย์ตัวได้เข้าการพระราชพิธี ไปเห็นในหมายว่าพระโสภนคณาภรณ์มา คิดว่าพระอาจารย์แห่งตัวนี้เปนเจ้าคุณชั้นราช กลัวท่านผู้มีชื่อสามัญธรรมดาจะไปนั่งพระอันดับแซงหน้า ก็ต้องชะงักสักนิดเพราะถึงเวลาท่านถือพัดยอดลายใบเทศของเจ้าคุณชั้นเทพมา อุตริคิดไปอีกว่าพระนี้หนาท่าจะพัดหายไปหยิบยศพัดอุปัชฌาย์มาถือแก้หน้า ครั้นจะกรากเข้าไปไถ่ถาม ก็ต้องหน้าหงาย เพราะพระโสภนคณาภรณ์นี้ รับพระราชทานเลื่อนเปนชั้นราช เลื่อนเปนชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม มิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตั้งราชทินนามให้ใหม่เปนพระราชโสภนฯ พระเทพโสภนฯ แต่อย่างไร ท่านถือพัดชั้นเทพเหนือครูอาจารย์แห่งตัวมาก็ถูกแล้ว!
 
เหมือนพระมงคลทิพยมุนี ชื่อราชทินนามก็สามัญธรรมดา แต่หารู้ไม่นี้เปนเจ้าคุณชั้นธรรมโน่น เลื่อนทุกชั้นในชื่อเดิม
 
เรื่องพรรค์นี้ผู้ใดมีธรรมประจำจิตก็ขบปริศนาได้แตก ลดละทิฏฐิมานะพาตัวอันเสงี่ยมด้วยโสรัจจะคุณน้อมนอบเดินตรงตัดเข้าเส้นทางพระนิพพานต่อไป
 
ในบางกรณี พระเพิ่งเปนเจ้าคุณราชาคณะครั้งแรก พระราชทานสมณศักดิ์ที่พระธรรมวาทีคณาจารย์ เปนเจ้าคุณชั้นสามัญ ผู้บ้ายศไม่รู้ก็ว่า โอโห้ พระราชทานยกหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมบ้านนอกห่างไกล พรวดเดียว 4 ชั้น ขึ้นเปนเจ้าคุณชั้นธรรมเลย ตานี้ก็วิ่งเข้าหาพาตัวเข้าใส่ มิใยเจ้าคุณใหม่จะชี้แจงว่าคงเปนด้วย วาทีธรรม ความสามารถในการชี้แจง แจกเเจ้งอรรถกถาให้เข้าใจได้ง่ายดอกกระมัง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดให้ในทินนามนี้
 
เพราะ “ธรรม” นั้นก็เปนธรรมในตัวอยู่โดยสัมบูรณ์ absolute มิได้เปนเครื่องใช้เปรียบเทียบชั้นขั้นเหมือนดังที่ระบบนั้นสัมมุติ_assume เอาไว้ให้เพื่อได้เปรียบเทียบอัตตาเชิงสัมพัทธ์_relative ระหว่างใครกับใครเลย ดังนี้ก็เปนข้อธรรมเชิงประจักษ์ชนิดหนึ่ง ซึ่งขุนนางพระสมควรจะได้ตรึกตรองศึกษา
 
ในเวลาเดียวกัน ยามทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระธรรมวาทีคณาจารย์ เปน ที่พระราชธรรมาภรณ์ สถิต ณ วัดดอนยายหอม คนไม่ทันละเอียดกับฐานก็มูลเก่าก็เอาว่า หลวงพ่อเงินแย่หละโหวย โดนลดชั้น จากเจ้าคุณชั้นธรรมมาตกลงทีเดียวสองขั้นเปนแค่ชั้นราช _ที่ไหนได้
 
ดังนี้ก็เปนคติธรรมที่กระตุ้นให้ผู้คนแสวงหา “ความจริง” กันต่อไป
 
ในกรณีพระราชสังวรญาณ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาละวันผู้มีจิตกระจ่างใสนั้น เดิมทีท่านรับพระราชทานเลื่อนเปนเจ้าคุณชั้นสามัญถึงสองครั้ง เปนพระชินวงศาจารย์ก่อน อีก15 ปี ถัดมาจึงเปนพระภาวนาพิศาลเถร รับพระราชทานพัดยศขาว วิปัสสนา ครั้งถึงเวลาต้องกลับเปนเจ้าคณะปกครอง ขึ้นชั้นราช ก็พระราชทานพัดยศสีในชั้นราชนี้ใหม่ เปนเรื่องคติธรรมว่าเวลามีใบบอกจะพระราชทานสมณศักดิ์นั้นก็หาได้เปนที่ว่าจะเลื่อนชั้นพัดยศแต่อย่างใด แถมพกเปนข้อคิดว่ายามที่ประเทศชาติต้องการนั้น การสละความสุขในวิเวกหลีกเร้น  ก็อาจเปนเรื่องจำเปนต้องหยุดตัดช่องน้อย ก้าวออกมาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ต่อมาจึงพระราชทานพัดขาววิปัสสนา

 
ครานี้ก็มาถึงว่า พระสงฆ์องคเจ้าเขามีหน้าที่ต้องเรียนหนังสือ จะเรียนสายนักธรรม สายบาลีเปรียญก็แล้วแต่ ถึงเวลาแล้วไปสอบไล่ให้ได้ประกาศนียบัตรพัดเปรียญ สมณะใดทรงวิทยาวุฒิ ก็ทรงพระกรุณาฯว่า จบเปรียญประโยคใดๆก็ให้เข้ารับพระราชทานพัดตามชั้นเปรียญ ทีนี้ก็จะเข้าสู่เส้นทางขุนนางพระได้ง่ายเข้าและสมเหตุสมผล โดยไต่เต้าจากการทำหน้าที่เผยเเผ่บ้าง สอนหนังสือบ้าง บริหารปกครองเปนพระครูต่างๆบ้าง ก็เรียกกันว่าเจ้าคุณสามัญเปรียญ


 
หากว่าท่านผู้ใดทรงภูมิรู้ เห็นผลได้ชัดว่ายังประโยชน์แก่การกิจพระศาสนา แม้ท่านเหล่านั้นไม่เข้าสอบประโยคเปรียญเพื่อเอากระดาษมารับรองวิทยาคุณอันสูงส่งกว่ามากนั้น ก็อาจทรงพระกรุณา “เทียบเปรียญ” ให้ ตามคำรับรองของคณะสงฆ์ เจ้าคุณแช่มวัดนวลนรดิศ เปนตัวอย่าง เรียกว่าท่านเหล่านั้นว่าเจ้าคุณสามัญ ‘เทียบเปรียญ’_ยกย่องวิทยาคุณ เพราะความสามารถนั้นทะลุกระดาษสอบออกมาเปนที่ประจักษ์แก่ตาแก่หูในสังคมทั่วไปแล้วนั่นเอง มิใยจะต้องไปสอบอีกเล่า?
 
ในประดาเจ้าคุณครั้งแรกเหล่านี้ไม่ว่าจะมีเปรียญหรือไม่มี ก็มีพัดยศที่น่าสนใจอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าพัดเจ้าคุณสามัญ “ยก” กล่าวคือ ทว่าหาก ท่านผู้ใดทรงสมณคุณถึงที่ มีศาสนกิจปฏิบัติโดยก้าวหน้า สร้างศรัทธาได้เนื่องนาน ก็อาจทรงพระกรุณา “ยก” ขึ้นเปนเจ้าคุณพระราชาคณะ_ข้ามชั้นพระครูต่างๆมาได้อีกเช่นกัน
 
เรียกท่านว่าพระราชาคณะ (เจ้าคุณ) ชั้นสามัญยก
 
ที่นี้ว่าเหตุการ ‘ยก’ ขึ้นนี้พัดขาวเจ้าคุณของท่านต่างๆก็ยังมีรายละเอียดนอบน้อมลงไปอีก ด้วยกระจังหน้ากาฬราหูนั้นเปนราหูเล็ก ไม่อาจเทียบกับกระจังราหูใหญ่กลางพัดขาวของท่านผู้เปรียญด้วย และวิปัสสนาด้วย ที่ได้รับพระราชทาน “เลื่อน” ขึ้นมาตามสายทางปกติ
 
ยามจะเข้าเฝ้าในการพระราชพิธีแล้ว เจ้าพนักงานจัดลำดับอาสน์สงฆ์ เรียงลำดับลงไปดังนี้
 
พระราชาคณะ สามัญเปรียญ วิ. นั่งก่อนตามด้วยพระราชาคณะ สามัญเปรียญ ไล่ตามประโยค 9-8-7-6-5-4-3
ตามด้วยพระราชาคณะ สามัญเทียบเปรียญ วิ. ตามด้วยพระราชาคณะ สามัญเทียบเปรียญ ตามด้วยพระราชาคณะ สามัญยก วิ. รั้งท้ายด้วยพระราชาคณะ สามัญยก
 
อนึ่งแบบธรรมเนียมแต่ไรมา ก่อนจะถวายพระพรลาพระมหากษัตริย์ พระราชาคณะเท่านั้นจะสามารถถวายอดิเรกได้
 
อีทีนี้คนช่างค่อนก็จะว่า นี้ก็หาเรื่องให้พระบ้าเรียนอีกน่ะสิระบบพัดยศแบบนี้ ก็คงต้องนำเอาพัดเปรียญแบว่ายามเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งเปรียญธรรมพระราชทานแก่ผู้สอบบาลีเปรียญได้ประโยคต่างๆมาให้ดู
 
พัดเหลืองหน้านางนี้กลางพัดเขาจะมีวงดิ้นทองระบุเลขเปรียญที่ภิกษุสามเณรนั้นๆสอบไล่ได้ครบประโยคเปนเลขไทย ไล่ไป ตั้งกะ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ โดยเปรียญ ๓-๔-๕ นั้นเปนพัดแดง ส่วนเปรียญ ๖-๗-๘ นั้นเปนพัดเหลือง
 
คำถามก็ว่าอ้าว ไหนเปรียญสูงสุดมี 9 ประโยค ไง?
 ก็ใช่
 
แต่ว่าพัดของมหาผู้สำเร็จ ปธ. เก้าประโยคนี้ ในวงกลางพัด เขาเปนวง กลวงว่างเปล่ากันจ้ะ
 
ก็เรียน อนิจจังทุกขังมามากแล้ว ความสำเร็จในเพศบรรพชิตบั้นปลาย พระบรมศาสดาท่านให้เข้าใจอนัตตามิใช่เรอะ!
 
จะมาอยากได้ใคร่ดีมีอัตตา อวดโอ่ โชว์เชย อะไรกันเล่า!! ว่างเปล่าสิสมควรแล้ว

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,907 วันที่ 23 - 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566