สังคมเวลานี้กำลังฮิตกันเปนกระแสเรื่องผู้วิเศษ ผู้วิเศษชนิดว่าข้าเองแหละวิเศษ อยู่ๆข้าก็วิเศษขึ้นมา จะเปนด้วยความอยากได้ใคร่ดี ความไม่มีเงินใช้ หรือ ความมีซึ่งจิตเภทอันหาทางออกให้ตัวเองมิได้ ไหนๆก็แล้วก็ยกตนขึ้นเปนผู้วิเศษเสียเลย ทั้งนี้ส่วนบุญเขตสาเหตุเเห่งความวิเศษนั้นแทนที่จะเปนเรื่องความขัดเกลาจนสะอาดสว่างขึ้นภายในดวงกายดวงจิตจนมีกำลังเข้มแข็ง มันก็จะออกมาในรูปของไปรับขันใส่ขันธ์อะไรๆมาบ้าง ไปตายแล้วฟื้นกลับมาบ้าง ไปนั่งปฏิบัติวิปัสสนามานิดๆหน่อยๆบ้าง เที่ยวได้หลับตาลงแล้วจิตหลอนเห็นภาพประหลาดๆอย่างที่ตัวต้นจิตมันอยากเห็น ก็จะเริ่มการทำนายทายทักใส่คนจิตอ่อนที่ขาดการบ่มเกลาเผาจิต ให้บังเกิดความหวาดหวั่น แบบว่าเห็นในนิมิตคอหักบ้างหละ เห็นในรูปถ่ายมีเงาผีตามมาบ้างละ เห็นไอ้โน้นเห็นไอ้นี่ที่มีลักษณะรังควาน จะต้องแก้อย่างนั้นแก้อย่างนี้
เข้าตำราหวังดีแต่ประสงค์ร้าย
ทั้งนี้เปนไปเพื่อประสงค์ให้ตัวมีฐานะสูงกว่าเขา เพื่อเข้า “ครอบ” เขา ให้เปนที่สมประสงค์กิเลสโลภในใจ จากการอาศัยไต่เต้าขึ้นไปที่สูงผ่านดวงจิตหวั่นไหวของผู้คนชนิดว่าปุถุชนเที่ยวได้ไปอวดโอ่โชว์เชยแก่ผู้อื่นว่าข้านี่แน่ ครอบคนนั้นได้ครอบคนนี้ได้ 55-เวรกรรม
หาได้ศึกษาภูมิธรรมฝ่ายกระแสจิตให้ถ่องแท้ลึกลงไปไม่ ว่าสิ่งที่ไปเที่ยวเห็นมาระหว่างหลับตานั่น ตัวเองนั้นเห็นจริง แต่ทว่าไอ่สิ่งที่ถูกเห็นนั้นเล่า มันไม่จริงเสียก็ได้
พระเดชพระคุณพระราชวุฒาจารย์ อตุโล ผู้มีคุณธรรมทางจิตกล้าแข็ง ยังมีเมตตาเผื่อแผ่ข้อค้นพบของท่านว่า ผลของจิตที่ส่งออกนอกคือทุกข์ จิตเห็นจิตแจ่มแจ้งต่างหากเปนมรรค
มิใยจะได้เที่ยวก่อเวรสร้างกรรมทำความรังควาญ ไปสนองใจอยากฝ่ายอกุศลเพื่อตัวเองเปน somebody ขึ้นมากับเขาทั้งๆที่ในใจเราก็รู้ว่ามันไม่ใช่และปลอมปลอก?!?
พระราชพัฒนโสภณ ญาณวิโย ผู้ดั้นด้นศึกษาวิชาศาสตร์ทางจิตหลายสำนักท่านก็ว่า
“มึงนุ่งห่มขาว แต่ใจมึงดำ” _อุย
อันนี้ก็ช่างตรงเผงประเด็นประดับสติปัญญา ด้วยอันว่าคนเขามีภูมิธรรมมีการฝึกฝนทางจิตมานั้นเขาสว่างมาจากข้างในหาได้วาบวาวที่เครื่องทรงองค์ประดิดประดอยภายนอกล่อลวงสายตาเมื่อไรกัน
การภาวนาคาถาประคองรักษาศีลนั้นอมตะเถราจารย์ท่านก็ว่าเปนนั่งร้านพาใจให้ไปถึงชั้นที่สูงๆ เมื่อไปถึงได้แล้ว จะรื้อนั่งร้านลงเสียก็มิเปนไร ด้วยว่าไปถึงเป้าหมายปลายทางได้เสียเเล้ว รู้เส้นทางที่จะใช้ได้ทะลุปรุโปร่งเสียแล้ว ดังนั้น
ดังนี้แล้ว หากใจของเราท่านผ่องแผ้วเต็มไปด้วยจิตกุศล เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แถมยังสมาทานศีลพรต ไม่ปรามาส การจะนุ่งขาวหรือไม่ย่อมไม่ใช่ประเด็นเสียแล้ว
“ภูมิธรรม” ของแต่ละคนแต่ละฝ่ายในยามสนทนาประสาปาก จึงเปนสิ่งสำคัญยิ่งยวด
ในอดีตกาลผ่านมาผู้ศึกษาวิทยาการทางจิต ยามเมื่อคิดว่ากูนี้ได้ล่ะ ถึงจุดหนึ่ง เขาก็จะ ‘ลองวิชา’ กัน ดร. สุรชัย สถิตย์คุณารัตน์ ในนามกรวงการว่า เจมส์ บางบอนผู้สะสมวัตถุมงคลฝ่ายพระราชสังวราภิมณฑ์หลวงปู่โต๊ะ ก็เคยเล่าให้ฟังว่า อันตัวพระเดชพระคุณหลวงปู่นั้นยามมีผู้นิมนต์ไปพิธีปลุกเสกร่วมในการพิธีต่างๆ ท่านมักส่ง พระอาจารย์แตงกวย ศิษย์เอก ออกหน้าเข้าพิธีแทนท่าน ก็ด้วยว่าหากพลั้งพลาดถูกเขาลองวิชาเสียท่าเข้าแล้ว ท่านซึ่งเปนมือชั้นครูยังสามารถเข้าว่าการแก้ไขได้
การเร้นกายไม่ออกตัวเยี่ยงนี้ มีกรณีศึกษาน่าสนใจอยู่ที่เมืองแกน
เปนเมืองแกนที่อยู่กลางทางระหว่างแม่แตงจะลงเชียงใหม่ ที่เเห่งนั้นเปนเมืองเก่าโบราณ มี ‘เด่น’ หรือว่า เนินสูงยอดตัดเด่นชัดอยู่กลางเมืองล้อมที่ราบนาข้าว เปนที่ตั้งของอารามเก่าและต้นพระศรีมหาโพธิ์ คนจึงว่า ‘เด่นโพธิ์’
อันภาษาเหนือนี้ เขาเรียก สะหลี หมายว่า ศรี
ศรีอะไร?
ตอบว่า ศรีมหาโพธิ์
ดังนั้นคำว่า สะหลี นี้ แปลสองนัย นัยหนึ่งคือศรี นัยหนึ่งคือต้นโพธิ์ ดังได้เคยกล่าวมานานเเล้วว่าโพธิ นั้นคือการรู้แจ้ง_ enlightenment หากว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้ตรัสรู้ใต้ต้นมะม่วง มะม่วงนั้นก็จักถูกเรียกในทางพระศาสนาว่าต้นโพธิ์
ที่เด่นเมืองแกนนี้ มีครูบาเร้นกายอยู่รูปหนึ่ง ได้มีโอกาสพบปะไหว้สาแต่ท่านมาตั้งแต่เมื่อราว ยี่สิบปีก่อน ตัวท่านนั้นยังหนุ่มแน่น เวลานี้พรรษาตั้งแต่บวชคงได้สัก 37 ชนมายุ 57 นามกรว่าครูบาเทือง นาถสีโล
ท่านเปนผู้มาพัฒนาวัดบ้านบนเด่นนี้ รังสรรค์จนเปนดั่งว่าวิมานเมืองแมน มีวิหาร ศาลา มีอรรถกถาเจดีย์น้อยใหญ่ งามงด ให้ชื่อใหม่ว่าวัดเด่นสะหลีศรีเมืองแกน
ยามหนุ่มนั้นครูบายังผอมบาง ทว่าดวงตาสุกใสนั้นสำรวมเสงี่ยมอยู่ในโสรัจจะคุณธรรม ยามเจรจาท่านทอดตาลงต่ำ คำอู้คำจานั้นเบาหวิว แต่กลับเปี่ยมด้วยน้ำหนักสาระในพระสัทธรรมน่าพิศวง
ยามมีคนทะเล่อทะล่าถามถึงดวงชะตา ดวงตาสุกใสนั้นจะพลันกลับวาวเปนดุขึ้ง มือชี้ไปที่ป้าย “ไม่ดูดวง” ที่เขียนพลาสติกถาวรติดอยู่ข้างอาสนะที่นั่ง ทำให้คนทั้งหลายที่มีใจโลภ กล่าวกันว่า ครูบาเทือง ผู้นี้ ‘ดุ’ พอควร
มาจะกล่าวบทไปเสียให้ได้รู้
ว่าอนึ่งท่านครูบาเทือง นาถสีโล ผู้นี้ เเม้แลดูเปนผู้มีความเด็ดขาดเด็ดเดี่ยวอยู่ในคุณธรรมฝ่ายการบริหารปกครอง แต่ก็เปี่ยมด้วยความเมตตา กับผู้มี มารยาทจรรยา และมีศีลมีธรรม
ปี 2563 นี้ มีโอกาสก็นำไตรคู่ย้อมแดง กับ ย้อมพระราชนิยม ขึ้นไปถวาย พร้อมด้วยอาสนะผ้าต่วน ผ้าขนหนูเปนบริวาร แต่งประดับเสียด้วยกรวยสวยดอกคันธมาลาปราณีตนบน้อม วัดบ้านเด่นที่บัดนี้มีชื่อใหม่ก็สวยงามน่าชมไปด้วยของศาสนาศิลป์
ประเคนแล้วท่านว่า “อืม_ดูแล้วเห็นว่าคณะโยมมีความตั้งใจทำบุญโอยทานมาก” ว่าแล้วก็คล้องข้อมือให้ด้วยกำไลหินดำร้อย
จึงอธิบายแก่ท่านว่า ไตรสีพระราชนิยมนี้ เผื่อว่าครูบารับนิมนต์ไปงานราชการหลวง จักได้หยิบใช้ทันท่วงที ส่วนไตรแดงนี้สำหรับว่าครองเปนประจำวันคัดมาแต่ผ้าเนื้อเต็ม ไม่ร้อนไม่หนาว จำเพาะเอาขนาด 1.9 เมตร เผื่อว่าครองร่างสูงใหญ่ชายจีวรจักได้ยาวลงเกินครึ่งเเข้ง สำรวมดี
ท่านจึงสบตาแย้มว่า “โยม โยมนี้ละเอียดดี เวลานี้จักหาความละเอียดนี้ได้ยาก”
อันภาษิต โมร็อกโกเขาว่า “หากต้องตอบคนโง่ เงียบเสียยังดีกว่า”
ในระหว่างความเงียบสนทนานั้นครูบาวัดเด่นสะหลีท่านรำพึงราวจะทราบใจคนคิดว่า
“บางคนก็มาถาม ทำไมสร้างวัดใหม่เสียใหญ่โต” ท่านปรายตามองออกไปทุ่งนาเวิ้ง “ก็ไม่อยากจะตอบ ภูมิธรรมไม่ทันกัน ตอบไปก็เท่านั้น”
“บางคนภูมิไม่ได้ มาแล้วไม่ได้อย่างเขา” ปากท่านบุ้ยใบ้ไปที่กำไลหินดำ “ก็ของมันหมดจะให้ทำไง แล้วราคาหาซื้อมันก็ไม่ได้ถูก” - อุย
จากนั้นจึงได้เวลาสนทนาทบทวนความหลังว่าครั้งก่อนนั้น ที่ได้พบท่านก็สิบปีล่วงแล้ว ดวงตานั้นสุกใสวาวขึ้น แล้วจึงก้มสำรวมหลุบเจรจาให้ข้อคิดข้อธรรมต่างๆตามระเบียบ หนึ่งในนั้นเปนเรื่องอันเกี่ยวเนื่องด้วย “ภูมิธรรม”
ก่อนจักเดินญาณฉับไวชั่วใบเปลือกตากระพริบ “โยม นี่ก็ใจบุญนะ_คอยช่วยคน”
เมื่อได้จังหวะดังนี้ จึงจักสามารถขอ ‘ถาม’ ท่านได้ ในเรื่องลึกเร้นเหนือวิทยาศาสตร์
ในกรณีนี้ถามถึงเคหาสน์ใหญ่ใกล้หางดง ที่จักเข้าไปซื้อหา ท่านก็ว่า “อื้อ_ก้าวเข้าไปแล้ว เขาว่ายังไงมั่งล่ะ”
ประนมมือตอบว่า “คราวแรกก็รู้สึกว่าเขาไม่ต้อนรับ ขรับ เหมือนติว่าเปนใครมาจากไหนมาทำอะไรที่เขา”
“อื้อ” ท่านรับโดยหลับตา
“แต่หลังจากเดินดูเสียรอบนอกรอบในบอกกล่าวให้ทราบถึงที่มาที่ไป ว่าครูอาจารย์ฝากมาให้มาดู มาแล ก็เข้าใจว่าบรรยากาศผ่อนคลายขึ้น ยินดีต้อนรับมากขึ้น ขรับ”
“ตรงกัน _เจ้าของเขาหวง”
ท่านลืมตาแล้วเอ่ยปากเนิบๆ “ต้องใช้เวลา_รอหน่อย”
จึงต่อเนื่องด้วยคำ”ถาม” ของคนอื่นๆในคณะ ที่ท่านใช้เวลาหลับตาเดินสมาบัติแวบหนึ่งจึงค่อยตอบสั้นๆ ตรงๆ คมๆ ชัดๆ
กราบลาท่านแล้ว จึงได้เห็นว่าในวิหารอันอลังการนั้นมีเหรียญใบมะนาว เหมือนอย่างของหลวงพ่อเนื่อง โกวิโท ทำไว้ที่แม่กลอง ไม่มีผิด ชั่วแต่ว่าด้านหน้านั้นเปนรูปครูบาเทืองนั่งขดถวาย_ขัดตะหมาด จึงเปนเบาะแสสำคัญว่า วิชาใบมะนาว ของหลวงพ่อเนื่องพระเดชพระคุณนั้น บัดนี้ สายวิชาตกอยู่กับครูบาเทืองอีกทางหนึ่งเปนแน่แท้
ในขณะที่ครูบาบุญชุ่ม ซึ่งเปนพระมหาเถรอีกองค์หนึ่ง แม้นว่าเร้นกายอยู่ ณ เมืองแก้ด ฝั่งขะโน้น เข้านิโรธกรรมหลีกเร้นผู้คน ทว่าความ ‘ดัง’ ของท่านก็ทะลุทะลวงออกมาจากที่กำบัง โดยเฉพาะตั้งแต่คราวเด็กๆหมูป่าติดน้ำอยู่ที่ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน
ครูบาเทืองนั้นกลับเปนผู้ที่ครูบาบุญชุ่มให้ความนับถืออย่างสูง ซึ่งเปนไปเช่นนี้มาแต่คราวสองครูบายังเปนเพียงตุ๊พระเยาว์น้อย
ว่ากันว่าสองครูบานี้เปนพี่น้องคลานตามกันมาหลายชาติภพ มีภูมิธรรมเสมอกัน มีวัตรปฏิบัติอย่างเดียวกันและมีเป้าหมายปลายทางที่เดียวกัน
ในภพชาตินี้ครูบาทั้งสองสมภพในปีเดียวกันห่างกันไม่กี่วัน และ อุปสมบทในปีเดียวกันห่างกันไม่กี่วัน
อนึ่งคำว่า ครูบานั้น ภาษาเมือง(ล้านนา) แปลว่าสมภาร สมภารอย่างว่าเจ้าวัด และเจ้าวัดอย่างว่ามีวิชาสมภาร ดังได้เคยเล่าไว้ในบทว่าด้วยเรื่องวิชาสมภาร
คำว่าครูบานี้ พระหนุ่มเณรน้อยยุคใหม่ สนใจอยากเปนนักด้วยว่านำมาซึ่งลาภสักการะหนักหนา บางส่วนก็ตั้งตัวอุปโลกน์ขึ้น บางส่วนก็เรียกกันเองให้คุ้นใจ มีนักข่าวช่วยชักนำปั่นกระแส
แต่สำหรับครูบาเทืองแล้ว ท่านมีคติข้อคิดในเรื่องพรรค์อย่างนี้ว่า“เปนตุ๊ เปนพระ อย่าได้เห็นแก่ลาภแก่ทาน สมถะสันดานนั้นเปนของยาก
ตุ๊พระจะดีหรือจะดัง บ่จำเปนต้องแสวงหาสังคมกว้าง อยู่ให้เขามาหา ดีกว่าออกไปล่าไปเสาะ ถ้าตัวเราเปนตัวเรา อยู่วัดอยู่วา หมั่นไหว้พระภาวนาเช้าเย็น ถึงเวลาเอาผ้าพันหัวเอาไม้กวาดสักอันกวาดลานวัดไป สุขสบายใจถ้าจะดังมันก็ดังคนเดียว บ่ต้องเที่ยวไปประกาศ”
ท่านจึงมิค่อยเปนข่าว และท่านจึงมิค่อยรับนิมนต์ ส่วนกรณีเข้าหาท่านโดยมิถูก “ดุ” นั้นท่านว่า “คนมีจารีต คนมีประเพณี คนมีวัฒนธรรม ได้ชื่อว่าเปนบุคคลผู้มีถุงเงินถุงคำ ได้ชื่อว่าเปนบุคคลผู้มีถุงแก้วถุงแสง”
สื่อนิยามความหมายว่า พกเงิน_พกทอง_พกแก้ว_พกรัศมีรังสี charisma พิมพ์ประพายมาด้วยไปไหนมาไหนแล้วก็เปนเดชเปนศรีแก่ตัว ผู้คนใคร่อยากจะคบหามาสู่
ดังนี้แล้ว เราก็ควรมาเปนผู้ดีมีวัฒนธรรมพกถุงคำถุงแสงไปไหนมาไหนให้ทั่วเมืองกันเถิดฯ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,905 วันที่ 16 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2566