ปัญญาวิจารณ์

08 พ.ย. 2566 | 22:15 น.

ปัญญาวิจารณ์ คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราชรามัญ

ในโลกโซเชียลในวันนี้ ถ้าเราสังเกต การวิพากษ์วิจารณ์ โพสต์หรือเหตุการณ์ใดๆ เหตุการณ์หนึ่ง ไม่ว่าจะเกี่ยวเนื่องด้วยเหตุการณ์ทางสังคมหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและลัทธิความเชื่อต่างๆ นานา ผู้คนทั้งหลาย นิยมการใช้ความรู้สึกของตัวเอง ร่วมกับแนวคิดของตัวเอง ในการวิจารณ์ สิ่งนั้นเรื่องนั้น 

โดยเรานิยมใช้ฐานความคิดความรู้ประสบการณ์ของเรา แต่เพียงด้านเดียว เป็นความจริงของเราเพียงอย่างเดียวเข้าไปวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งบนโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราใช้ปัญญาวิจารณ์ เราอาจจะได้มุมมองที่ดี มากกว่าที่เราคิด 100 เท่า 1,000 เท่า

สมมุติว่าเรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อย่างลึกซึ้งช่ำชองเอกอุ เวลาผู้คนในสังคมทำอะไรที่เกี่ยวกับความเชื่อ ไม่ว่าจะไหว้ต้นไม้ ไหว้จอมปลวก ไหว้สัตว์ที่แปลกประหลาด เมื่อมีการนำเสนอลงสื่อโซเชียล เราก็จะยึดฐานความคิดของเรา ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา ไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเด็ดเผ็ดมัน แล้วก็เชื่อว่า เป็นความคิดที่ถูก แต่ความจริงแล้ว ความถูกของคุณนั้น ขาดซึ่ง

แล้วก็จะกลายเป็นคนที่โง่ง่าว ในสายตาของผู้ที่มีธรรมะอย่างแท้จริงในใจ ด้วยเหตุผลขาดซึ่งปัญญาวิจารณ์ ผู้ที่ใช้ปัญญาวิจารณ์ จะไม่นิยมเอาฐานความรู้ที่ตัวเองมี ที่ตัวเองเชื่อเป็นตัวตั้ง แล้วไปตัดสินในสิ่งที่ปรากฏเห็น เพราะผลลัพธ์ในคำตอบ จะเป็นผลลัพธ์แคบๆ ไม่เป็นกลาง แต่ถ้าเราใช้ปัญญาวิจารณ์ เราอาจจะเปลี่ยนมุมมอง ในสิ่งที่เราเห็น นั้นไปอีกมุมหนึ่งได้ อย่างสง่างาม

เราไม่ค่อยเปิดใจรับรู้ข้อมูลว่าทำไม เขาเหล่านั้นจึงไหว้จอมปลวก เขาเหล่านั้นจึงไหว้ต้นไม้ มีที่มาที่ไปอย่างไรอะไรเป็นเหตุจูงใจให้เชื่อ มีแต่พอเห็นก็วิพากษ์วิจารณ์ ขาดซึ่งปัญญาวิจารณ์

ผู้ที่ใช้ปัญญาวิจารณ์ จะรับฟังข้อมูลต่างๆ และเมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นเพียงความเชื่อของเขา แม้ผลลัพธ์ที่ออกมา จะเป็นตามที่เขาต้องการหรือไม่ก็ตาม ผู้ที่ใช้ปัญญาวิจารณ์ ก็จะไม่วิจารณ์ในเชิงตำหนิติเตียนใดๆ  แต่อาจมีความพยายามชี้ให้เขาเห็น ตามความเป็นจริง ว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน บางครั้งไหว้แล้วก็ได้ บางครั้งไหว้แล้วก็ไม่ได้ก็เป็นธรรมดาอยู่อย่างนี้

ถามว่าถ้าเราใช้ปัญญาวิจารณ์แบบนี้ ความแตกแยกในสังคมก็ไม่ปรากฏขึ้น การสื่อสารด้วยความสุภาพนุ่มนวลแต่ซ่อนเร้นด้วยปัญญา ย่อมเป็นอะไรที่งดงามกว่า การวิพากษ์วิจารณ์ไปตามความคิดความรู้สึกของเราเพียงฝ่ายเดียว

ชาวพุทธหลายคน มีจริตติดนิสัย นิยมชมชอบใช้ฐานความคิดความเชื่อของตนเอง ไปตัดสินผู้อื่น ไม่ว่าจะเรื่องใดๆ ก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ต้องไม่ลืมว่า ผืนแผ่นดินนี้ หลากหลายวัฒนธรรมมารวมตัวกัน หลากหลายความเชื่อหลากหลายศาสนาไม่อยู่ร่วมกัน 

นับแต่โบราณพญาแถน ผู้เป็นศาสดา ของศาสนาผี หรือ ผีฟ้า ก็เป็นอีกหนึ่ง ลัทธิที่อยู่ในผืนแผ่นดินนี้ มาเนิ่นนาน แม้ทุกวันนี้ชาวมอญชาวลาว หรือ ชนเผ่าบางชนเผ่า ยังมีพิธีกรรมพิธีการ แปลกๆ แตกต่าง หากเราจะไปวิจารณ์ใดๆ ก็ควรล่วงรู้ในวัฒนธรรมนั้นๆ ด้วย จะเป็นการใช้ปัญญาวิจารณ์

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงความจริงมันมีอยู่หลายลักษณะ อาทิ
ความจริงของเรา
ความจริงของเขา
ความจริงที่เป็นจริง

เราจะใช้ความจริงแบบไหน ให้เป็นปัญญาวิจารณ์ ก็อยู่ที่ตัวของเรา ใจของเรา เท่านั้นเอง