ดอกบัวแห่งธรรม

01 พ.ย. 2566 | 21:00 น.

ดอกบัวแห่งธรรม คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราชรามัญ

นักธุรกิจชาวไทยในอังกฤษ เล่าให้ฟังว่า...ตอนไปอังกฤษ พบพระรูปหนึ่ง มีปฏิปทางดงามมาก รักษาพระธรรมวินัยเป็นระเบียบเรียบร้อย นั่งภาวนาเก่ง สอนเก่ง ฝรั่งชอบ เพราะท่านสอนแบบง่ายๆ ท่านเป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่น19 เคยไปเผยแผ่ธรรม มาทั่วทุกมุมโลก อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย ฯลฯ

พระครูสังฆรักษ์ กมลชัย ญาณโสภโณ  คือ พระภิกษุ ที่ถูกกล่าวถึง ท่านเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆของพระราชภาวนาวัชราจารย์ (หลวงพ่อสุทัศน์ โกสโล) วัดกระโจมทอง บางกรวย นนทบุรี พระอาจารย์กรรมฐานระดับสูงของเมืองไทย
 


ท่านพระครูสังฆรักษ์ ท่านสวดปาฏิโมกข์ได้และได้รับนิมนต์บ่อยครั้งในการให้ไปเป็นองค์ปาฏิโมกข์ ท่านเป็นพระที่ซื่อสัตย์ต่อญาติโยมทั้งต่อหน้าแลลับหลัง ในการรักษาพรหมจรรย์ การภาวนาของท่านเน้นเป็นไปเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี สมบูรณ์ มิได้เน้นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน เพราะท่านเชื่อว่า 

"การเข้าถึงธรรมในระดับอริยบุคคลนั้น มีองค์ประกอบมากมายหลายปัจจัยอย่างน้อยบุญบารมีก็ต้องถึงพร้อมด้วย เอาเป็นว่าฝึกจิตฝึกใจให้ปัจจุบันมีความสุขมีความทุกข์น้อยลงก็ทำให้ชีวิตมีคุณภาพที่ดีแล้ว" ท่านพระครูกล่าว

ปราชญ์แห่งเถรวาทอย่างพระเทพโพธิวิเทศ(หลวงพ่อทองยอด) อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา อินเดีย สมัยที่ท่านยังดำรงขันธ์อยู่นั้น พระครูสังฆรักษ์เคยไปศึกษาธรรมเรียนรู้อยู่กับท่านด้วย  กินได้เรียนรู้วิธีการเผยแพร่ธรรมกับคนต่างประเทศมาค่อนข้างแยบคายในอุบายที่เหมาะสม 

ผมชอบวิธีการที่ท่านสอนญาติโยมที่ให้อยู่ในกรอบของเหตุและผลมากกว่าที่จะเชื่อในเรื่องของความขลังศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์ อย่างเรื่องการภาวนาท่านเน้นย้ำนักหนาว่าการฝึกภาวนาเพื่อให้ใจสงบและมีปิติสุขเป็นการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณให้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิตอยู่ในรอยธรรม โดยท่านมิได้ไปสร้างรูปแบบหรือวิธีการอะไรให้ยุ่งยากเพียงแต่พยายามใช้ชีวิตปัจจุบันให้มีสติให้มากให้มีความคิดลบให้น้อยให้มีความคิดที่ไปในเชิงกุศลให้ยิ่งเพียงเท่านี้ก็ทำให้ความสุขปรากฏแก่ชีวิตแล้ว

ท่านมักจะสอนในเชิงเปรียบเทียบให้ได้คิดแล้วนำเอามาปรับปรุงตนโดยทุกๆคำสอนของท่านพระครูสังฆรักษ์จะเน้นย้ำในปัจจุบันเพื่อให้ความทุกข์น้อยลงท่านมักพูดอยู่เสมอว่า

"เพราะใจไม่เคยหยุด 
ความสุขที่แท้จริงจึงไม่เกิด"


ท่านเคยสอนชาวอเมริกาชาวอังกฤษนั่งภาวนาสมาธิโดยท่านเห็นว่าคนเหล่านั้น ค่อนข้างจะมีความเครียดสูงจึงได้นำเอาวิธีการของพระพุทธเจ้าไปแนะนำ หลักใหญ่ในการสอนภาวนาสมาธินั้นท่านได้ตั้งผลลัพธ์เอาไว้เพียงแค่ต้องการให้คนเหล่านั้น คลายจากความเครียดซึ่งเป็นความทุกข์ในรูปแบบหนึ่งของความเป็นมนุษย์ แต่ท่านมิเคยตั้งผลลัพธ์ที่ต้องการจะให้คนเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนาเดิมของเขาหรือหันมาเคารพสักการะบูชาพระพุทธเจ้าโดยท่านให้เหตุผลว่า

"เมื่อเขาปฏิบัติตามแล้วเห็นผลลัพธ์กับตัวเขาเองเขาจะกลายเป็นมนุษย์ที่ดีไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหนก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่แตกต่างในการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ส่วนถ้าเขาเกิดศรัทธาเกิดความเชื่อโดยหลักเหตุและผลและมองเห็นได้เองจากจิตสำนึกของเขาว่าพุทธศาสนามีความจำเป็นกับชีวิตของเขาเดี๋ยวเขาก็มาเอง"

นับได้ว่าเป็นยอดแห่งพระธรรมทูตที่รู้จักการวางผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับมวลหมูมนุษย์ชาติมากกว่าที่จะเจาะจงตรงและเน้นให้เขาเปลี่ยนศาสนาแต่เชื่อถือว่ามนุษย์ทุกคนสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำแล้วความทุกข์น้อยลงความเครียดจางคลายเชื่อเหลือเกินว่าไม่ช้าไม่นานเขาก็จะหันมาศึกษาอย่างจริงจังเพราะเขาเห็นแล้วว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความสงบสุขโดยแท้จริง
 


ท่านพระครู ยังปรารภบ่อยครั้งว่า ...

ไม่ว่าจะศึกษาพุทธศาสนาในรูปแบบใดมุมไหนถ้าองค์ความรู้นั้นสามารถน้อมนำเอามาใช้กับชีวิตได้แล้วทำให้ชีวิตมีความสงบมีความราบรื่นหรือมีความทุกข์น้อยลงสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติสุขได้ก็นับได้ว่าเป็นประโยชน์แล้วบางคนชอบเน้นศีลบางคนอาจจะเน้นภาวนาบางคนอาจจะเน้นองค์ความรู้ในแนวปริยัติจะอย่างไรก็ได้รู้แล้วน้อมเอามาปฏิบัติผลลัพธ์ย่อมปรากฏขึ้น

เพราะตามหลักของพุทธศาสนาจะเริ่มต้นศึกษาปฏิบัติมุมไหนก็ตามสุดท้ายก็จะเชื่อมโยงทางกันและกันมาถึงในจุดเดียวกัน

พระภิกษุที่งดงามแบบนี้มีองค์ความรู้รอบด้านหลายมิติเป็นพระที่มีความจริงใจซื่อสัตย์ในพระธรรมวินัยควรอย่างยิ่งที่เราท่านทั้งหลายสนับสนุนส่งเสริม ในด้านการเผยแผ่ธรรมสืบไป

พระดีศรีบางกรวย สถิต ณ วัดกระโจมทอง บางกรวย นนทบุรี