สงคราม ล้วนเกิดขึ้นเพราะกรรม

18 ต.ค. 2566 | 20:30 น.

สงคราม ล้วนเกิดขึ้นเพราะกรรม คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราชรามัญ

คำว่า สงครามคือภาวะที่เกิดขึ้นจากความไม่พอใจซึ่งกันและกัน ในปัจจุบันแต่ถ้ามองในมุมของพุทธศาสนาแล้ว ถ้าเราทั้งหลายเชื่อเรื่องของกรรมเก่าจากอดีตชาติ เรื่องนี้มีผลเป็นอย่างมากที่เป็นตัวเร่งทำให้เกิดการกระทำในปัจจุบัน

ในครั้งพุทธกาลเกิดสงครามมากมาย ตั้งแต่ต้นสมัยที่พระพุทธเจ้ายังเป็นเพียงแค่เจ้าชายสิทธัตถะ สงครามก็ได้ก่อเกิดขึ้นอันเกิดจากความไม่พอใจซึ่งกันและกันมากมาย

คราวหนึ่งเกิดการแย่งชิงน้ำในลำธารเพื่อจะทำการเกษตรของเมืองสองเมือง จากนั้นประชาชนมีการทะเลาะวิวาทกัน และลามไปจนถึงระดับเสนาบดีกรุงกบิลพัสดุ์ จึงมีการประชุมและให้ส่งมกุฎราชกุมารคือเจ้าชายสิทธัตถะไปออกรบเพื่อทำสงครามแย่งชิงน้ำ ในคราวนั้นแต่เจ้าชายสิทธัตถะกลับปฏิเสธและให้แนวทางว่า ควรใช้ความเมตตาเข้าไปเจรจาเพื่อยุติปัญหา

จึงเป็นที่มาทำให้ราชวงศ์ของกรุงกบิลพัสดุ์ไม่พึงพอใจเจ้าชายสิทธัตถะและกล่าวว่าเป็นบุคคลขลาดกลัว ถึงกับมีการลงมติในที่ประชุมให้เนรเทศเจ้าชายออกจากพระราชวัง และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าชายต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ ลูกเมียออกนอกวัง แล้วไปแสวงหาความสงบ ซึ่งเป็นแนวทางที่เจ้าชายสิทธัตถะพึงปรารถนาอย่างมาก

บันทึกนี้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์มหายานเกี่ยวกับเชิงวิเคราะห์พุทธประวัติ แต่ในเถรวาทนั้นหามีไม่ นอกจากนี้สงครามที่ทำให้เชื้อสายของพระพุทธเจ้าเกือบที่จะสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ ก็มาจากพระญาติพระองค์ที่นามว่า วิฑูฑภะ เรื่องนี้มีอยู่ว่า

พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งแคว้นโกศล (เมืองหลวงชื่อสาวัตถี) ต้องการเป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า เพื่อจะได้เกิดความคุ้นเคยเป็นกันเองกับภิกษุสงฆ์ จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปสู่ขอพระธิดาสักองค์หนึ่งจากพวกเจ้าศากยะ พระราชาทรงย้ำกับพวกทูตที่จะนำสาสน์ไปว่า

"พวกเจ้า ต้องถามพวกเจ้าศากยะให้แน่ใจว่า พวกท่านจะให้พระธิดาองค์ไหนแก่พระราชาโกศล? เมื่อพวก เจ้าแน่ใจแล้ว ก็จงกลับมา"

พวกเจ้าศากยะรับพระราชสาสน์จากพวกทูตแล้ว ประชุมกันว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นคนจากสกุลอื่น (มิใช่สายเลือดศากยะ, พวกเจ้าศากยะถือว่าพวกตนสืบทอด โดยการแต่งงานระหว่างกษัตริย์กับกษัตริย์สืบเนื่องมา ไม่มีวรรณะอื่นปะปน) พวกเราไม่ควรให้ แต่ทว่า ท้าวเธอเป็นใหญ่ (ปกครองแคว้นสักกะด้วย) ถ้าพวกเราไม่ให้ธิดาศากยะไป ท้าวเธอก็จะทำให้พวกเราพินาศได้

เจ้ามหานามะ (ขณะนั้นทรงเป็นประมุขของศากยราชสกุล) ตรัสเสนอ แก่พวกพระญาติว่า ควรจะยกลูกสาวของเราที่ชื่อว่า วาสภขัตติยา ไปให้พระราชานั้น ธิดาคนนี้มีมารดาเป็นนางทาสี (ทาสหญิงที่รับใช้ในพระราชนิเวศน์ หมายถึงนางวาสภขัตติยามีสายเลือด กษัตริย์ฝ่ายบิดา) เธอมีรูปร่างหน้าตางดงามมาก

พวกเจ้าศากยะเห็นชอบด้วย จึงเรียกทูตมาแจ้ง ว่า "ตกลง พวกเราจะยกราชธิดาศากยะให้แก่พระราชาของพวกท่าน" พวกทูตทูลถามว่า "พระธิดาของเจ้าศากยะองค์ไหนหรือ?" ตอบว่า "เราจะให้เจ้าหญิงวาสภขัตติยา ซึ่งเป็นพระราชธิดา ของเจ้ามหานามศากยะผู้เป็นพระโอรสของเจ้าอาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" (= เป็นลูกของน้อง ชายพระเจ้าสุทโธทนะ)

พวกทูตรีบกลับไปทูลแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล, พระราชาตรัสว่า "จงรีบรับ ตัวพระราชธิดามา แต่จงตรวจสอบให้ดี พวกกษัตริย์ (ศากยะถือตัวมาก) มีมายามาก (พหุมายา) บางทีเขาอาจจะส่งลูกนางทาสีมาให้เราก็เป็นไปได้ พวกเจ้าจงดูให้แน่ใจว่า พระราชธิดาองค์นั้น เสวยร่วมภาชนะเดียว (เอกภาชนะ) กับเจ้ามหานามะหรือไม่ ถ้าเสวยร่วมกันก็จงรับตัวมา"

พวกทูตไปเข้าเฝ้าเจ้ามหานามะแล้วทูลว่า "พระราชาทรงต้องการพระราชธิดาที่ร่วมเสวย ภาชนะเดียวกับพระราชบิดา" เจ้ามหานามะตรัสว่า "ได้สิ" แล้วทำความตกลงกับนางวาสภขัตติยา ว่าให้ทำอาหารให้เหมือนเสวยร่วมกันจริงๆ (เหมือนการแสดงละครว่าพ่อลูกกินข้าวด้วยกันให้ พวกทูตดู) พวกทูตไม่สงสัยรับตัวนางไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลๆ ทรงพอพระทัยสถาปนาให้ เป็นใหญ่เหนือสตรี ๕๐๐ คน (ให้มีหญิงคอยรับใช้ ๕๐๐ คน) ทรงอภิเษกนางไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี

ต่อมา พระนางวาสภขัตติยทรงให้ประสูติกาลพระโอรส พระนามว่า วิฑูฑภะ พระราชา ยิ่งทรงยินดีมาก (จะให้ชื่อว่า วัลลภะ แปลว่า ที่โปรดปราน แต่อำมาตย์ฟังผิดว่า วิฑูฑภะ)

ครั้นวิฑูฑภะราชกุมารมีพระชันษา ๑๖ ปี ได้เสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อเยี่ยมเยียนเหล่าพระญาติฝ่าย พระราชมารดา คือ พวกเจ้าศากยะ, พำนักอยู่พอสมควรแก่เวลาแล้วก็เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ ทหารคนหนึ่ง (เอโก ปุริโส) นึกขึ้นได้ว่าลืมอาวุธประจำกายไว้ในที่พัก ย้อนกลับเข้าไปเอา ก็ได้เห็น พวกนางทาสีกำลังล้างแผ่นกระดานที่เจ้าชายวิฑูฑภะประทับนั่งด้วยน้ำเจือน้ำนม ล้างไปก็ด่าไปว่า "นี้เป็นกระดานที่ลูกนางทาสีชื่อวาสภขัตติยานั่ง" เขาสอบถามว่า มันเรื่องอะไรกัน? พวกนาง ตอบว่า "พระนางวาสภขัตติยาเป็นลูกเจ้ามหานามะกับนางทาสีในราชนิเวศน์" ทหารคนนั้นนำ ความนั้นไปบอกแก่พวกทหาร จึงเกิดความร่ำลือกันขนานใหญ่จนเจ้าชายทรงทราบเรื่องนั้นด้วย ทรงแค้นเคืองเจ้าศากยะมาก ตั้งพระทัยไว้ว่า ถ้าเราได้ครองราชสมบัติแล้ว เราจะมาเอาเลือดใน ลำคอของพวกเจ้าศากยะล้างแผ่นกระดานที่เรานั่งให้จงได้

พระเจ้าปเสนทีโกศลทรงทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว ทรงเสียพระทัยมาก เสด็จเข้าเฝ้ากราบทูล ให้พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วย และทรงคลายความโกรธลงเมื่อพระศาสดาตรัสว่า ความสำคัญ ของวงศ์สกุลอยู่ที่ฝ่ายบิดา...วันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมทฬุปนิคม ของพวกเจ้าศากยะ ทรงถอดเครื่องราชกกุธภัณฑ์ให้ทีฆการายนเสนาบดีถือรออยู่ด้านนอก (เสนาบดีนี้ เป็นหลานชายของพันธุลเสนาบดีที่ถูกพระเจ้าปเสนทิโกศลสั่งฆ่าพร้อมบุตรชาย ๓๒ คน เสนาบดีนี้เป็นสหายรักกับเจ้าชายวิฑูฑภะ จึงได้โอกาสล้างแค้นให้ลุงด้วยให้เพื่อนเป็นพระเจ้า แผ่นดินด้วย) เสนาบดีรีบนำเครื่องราชฯ เหล่านั้นไปให้วิฑูฑภราชกุมาร สถาปนาตนเป็นกษัตริย์ ฝ่ายพระเจ้าปสนทิโกศล (พระชนม์ ๘๐ ปี) เสด็จออกจากการเข้าเฝ้าแล้วไม่พบเสนาบดี ทรงรู้ ทันทีว่า เราถูกยืดพระราชอำนาจแล้ว จึงเสด็จทรงม้า มีนางสนมติดตามไปหนึ่งคน มุ่งหน้าไปมคธ เพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นหลาน แต่เสด็จไปถึงนอกกรุงราชคฤห์ดึกแล้ว เสด็จเข้าไปไม่ได้ จึงทรงพำนักยังศาลาหลังหนึ่งและเสด็จสวรรคต...

พระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพไปฆ่าพวกเจ้าศากยะ กรุงกบิลพัสดุ์ ละเว้นคนที่ไม่ใช่ศากยะ และ เว้นพวกศากยะที่อยู่ในนิเวศของเจ้ามหานามะผู้เป็นเจ้าตา, ให้นำเลือดของพวกเจ้าศากยะที่ถูก ฆ่ามาล้างแผ่นกระดาน...ระหว่างทางยกพลกลับกรุงสาวัตถี ทั้งหมดได้แวะพักริมแม่น้ำ พระเจ้า วิฑูฑภะและกำลังพลบางส่วนนอนอยู่ที่หาดทราย บางพวกนอนบนพื้นดินบนฝั่ง ตกกลางคืนได้มี ฝนตกหนักบริเวณต้นแม่น้ำ เกิดมวลน้ำใหญ่ไหลพัดทำลายสองฝั่งแม่น้ำ พระเจ้าวิฑูฑภะและ ไพร่พลที่อยู่บนหาดทรายถูกน้ำพัดหายไป เสด็จสวรรคตแล้ว..

ต่อมา ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาถึงเรื่องความตายของพวกเจ้าศากยะและพระ เจ้าวิฑูฑภะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า พวกเจ้าศากยะตายตามสมควรแก่อกุศลกรรมที่เคยร่วมกันโปรย ยาพิษลงในแม่น้ำ ส่วนสัตว์ทั้งหลาย มีพระเจ้าวิฑูฑภะ เป็นต้น ไม่สมความปรารถนาที่ตั้งใจไว้ (กลับไม่ถึงกรุงสาวัตถี) เพราะถูกมัจจุราชตัดชีวิตให้จมลงในแม่น้ำ คือ อบาย ๔ ที่เป็นดุจห้วง น้ำใหญ่ ไหลท่วมทับชาวบ้านผู้หลับอยู่ 
ทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นเพราะกรรม

แม้แต่สงครามในที่ต่างๆ บนโลกใบนี้ต่างก็ล้วนมาจากกรรมทั้งสิ้นแล