วิทยาศาสตร์ของจิตวิญญาณ

20 ธ.ค. 2566 | 20:30 น.

วิทยาศาสตร์ของจิตวิญญาณ คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราชรามัญ

ประเทศอินเดีย โดยเฉพาะในรัฐพิหาร ต้องกล่าวว่าเป็นจุดที่รวมสถานที่อันต่อเนื่องกับพุทธประวัติมากมาย ในช่วงที่มาบำเพ็ญ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำเนรัญชรา, บ้านสุชาดา หรือ จุดที่พระองค์ทรงรอยถาดเสี่ยงทาย ทุกจุดที่มีการจารึกในพุทธประวัติต่างก็มีสถานที่จริงด้วยกันทั้งสิ้น นี่จึงทำให้ทั่วโลกให้การยอมรับ และนำเอาสังเวชนียสถานสำคัญขึ้นทะเบียนมรดกโลกเอาไว้

โดยเฉพาะที่พระมหาเจดีย์จุดที่มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นจุดที่พระองค์ทรงตรัสรู้ธรรม ต่างก็มีผู้คนจะทั่วโลกที่มาด้วยความเคารพศรัทธา ที่มาด้วยความสงสัยใคร่รู้ ที่มาเพราะศึกษาในเชิง ศิลปะและประวัติศาสตร์ ต่างก็แสดงความ คิดเห็นต่างๆ นานาแต่เป็นความคิดเห็นที่มีความศรัทธาอยู่ในหัวใจด้วยกันทุกคน ถ้าจะพูดว่าการเป็นชาวพุทธแล้วไม่มีโอกาสเดินทางไปกราบสังเวชนียสถานเลยแม้แต่ครั้งเดียวนั้น อาจจะทำให้ความศรัทธาในจิตในใจยังไม่แนบแน่น ยังไม่เป็นหนึ่งมากเท่าไหร่นัก แม้จะเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ทางด้านพุทธศาสนา แม้จะเป็นนักปฏิบัติภาวนา แต่ความปีติ อันเกิดจากที่ได้สัมผัสที่ได้เรียนรู้และที่ได้เห็น ย่อมมีอานุภาพทางจิตวิญญาณที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

การบรรลุธรรมไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง หรือการที่จะเป็นคนพุทธโดยสมบูรณ์ก็ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไป 4 สังเวชนียสถานแล้วจึงกล่าวว่าเป็นชาวพุทธโดยสมบูรณ์ แต่การไปนั้นเหมือนไปสัมผัสพลังงานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ไปเรียนรู้ ว่าบนโลกใบนี้เคยมีมนุษย์คนหนึ่ง เสียสละชีวิตของตัวเองในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านความสุขเพื่อออกแสวงหาความจริง แล้วนำมาสอนนำมาบอก นำมาชี้ทางเพื่อให้ผู้อื่น ได้พ้นทุกข์ ตามที่ได้ค้นพบ

บนโลกใบนี้จะมีลักษณะขององค์ความรู้อยู่ 2 ประการ คือ

  1. องค์ความรู้ที่มนุษย์คิดค้น ขึ้นมาได้ใหม่ ด้วยทฤษฎีใหม่ๆ และผ่านการทดสอบทดลองมาแล้ว และมีผลที่ดี
  2. องค์ความรู้ที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่มีบุคคลเข้าไปค้นพบในองค์ความรู้นั้นที่ซ่อนอยู่ ในภาวะแห่งความเป็นธรรมชาติ

ความเป็นฟิสิกส์ ความเป็นชีววิทยา วิชาเหล่านี้ต่างมีอยู่แล้ว เพียงแต่นักวิทยาศาสตร์หรือมนุษย์ที่ทำหน้าที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ไปค้นพบเช่นเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไปค้นพบวิทยาศาสตร์ของจิตวิญญาณ ว่าทำอย่างไรด้วยเหตุและผลที่จะทำให้มนุษย์มีความทุกข์น้อยลง ที่จะทำให้มนุษย์สามารถก้าวข้ามวัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดได้ องค์ความรู้เหล่านี้เป็นองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้ว เป็นองค์ความรู้ที่พระพุทธเจ้าหลายๆ พระองค์ต่างก็ไปค้นพบ มิได้เป็นองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นมาใหม่ ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ แต่ประการใด 

เพราะพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ต่างก็ได้รู้วิทยาศาสตร์ของจิตวิญญาณเหล่านี้เหมือนกัน ถามว่าทำไมจึงเป็นวิทยาศาสตร์ของจิตวิญญาณ เพราะพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาประเพณี ไม่ใช่ศาสนาสำหรับนำเอามาใช้ดำเนินชีวิตในเชิงปรัชญา แต่เป็นศาสนาวิทยาศาสตร์ของจิตวิญญาณ ซึ่งทุกบททุกตอนของคำสอนล้วนมีเหตุมีผลรองรับ อยู่ในคำสอนนั้นๆ เสมอ

และเหตุผลนั้นๆ ก็สามารถเชื่อมโยงไปถึงจิตวิญญาณ เพื่อการฝึกฝนจิตวิญญาณให้มีสติ มีความรู้สึกตัว ระลึกรู้ ทันทุกๆ เหตุการณ์สภาวะที่อยู่รอบตัว นั่นต่างหากที่เรียกว่า คำสอนของพุทธศาสนา

ถ้าเราใช้ชีวิตด้วยหลักของการมีเหตุและมีผล นั่นหมายความว่าเราใช้ชีวิตตามแนวหลักของวิทยาศาสตร์ และเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำให้ใจของเราเบา ทำให้ใจของเราเย็น ทำให้ใจของเราสงบปีติสุข ได้โดยปราศจากตัวบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยปราศจากวัตถุเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยปราศจากสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้องมันเป็นความสุขล้วนๆ ที่เกิดขึ้นจริงเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อได้รับการฝึกไปจนถึงระดับหนึ่ง

วิทยาศาสตร์ของจิตวิญญาณ จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ศึกษา แล้วนำมาพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบก็จะเข้าใจได้โดยรวม ว่าแท้ที่จริงไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาอะไร ถ้าคุณได้รู้เหตุและผลของสภาวะจิตใจแล้ว คุณก็มีความสุขได้ ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาคริสต์ หรืออิสลาม หรือแม้แต่พราหมณ์ฮินดู

ตราบใดที่คุณใช้ชีวิตด้วยหลักของเหตุและผล และใช้หลักของเหตุและผลมาอบรมตัวเองให้มีความคิดที่ดีสร้างมโนกรรมที่ดี เพราะมีเมตตากรุณาในหัวใจ เพียงเท่านี้ก็เป็นวิทยาศาสตร์ของจิตวิญญาณแล้ว ขอให้ทุกคนยึดถือหลักเหตุและผลเอาไว้ให้มั่น

แล้วหลักเหตุและผลนั้นจะทำให้คุณมีความสุข จะทำให้คุณมีโภคทรัพย์สมบัติ จะทำให้คุณมีสิ่งที่คุณปรารถนาทุกๆ ประการ เพราะคุณเข้าใจภาวะแห่งความเป็นธรรมชาติ เพราะคุณเข้าใจภาวะแห่งธรรมทั้งปวงมากยิ่งขึ้น เมื่อถึงจุดนั้นคุณปรารถนาสิ่งใด อธิษฐานจิตของคุณให้ตั้งมั่น คุณก็ย่อมจะพบความราบรื่น ความสมบูรณ์ในการใช้ชีวิตได้ด้วยตัวคุณเอง อย่างแท้จริง