นักบวชเถรวาท ยากจะถึงธรรม

02 ต.ค. 2567 | 21:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2567 | 21:52 น.

นักบวชเถรวาท ยากจะถึงธรรม คอลัมน์ ทำมาธรรมะ โดย ราชรามัญ

ถ้าจะกล่าวว่า นักบวชในฝ่ายเถรวาท ไม่ว่าจะประเทศไหน ต่างก็ยึดมั่นในหลักพระธรรมวินัย และปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด ตลอดทั้งยึดมั่นถือมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ราวกับบุคคลที่บ้าคัมภีร์แบกคัมภีร์ คงจะไม่ผิด เพราะเวลามีผู้ใดพูดธรรมะ แม้ว่าบางครั้งอาจแตกต่างจากคัมภีร์ไปบ้างแต่มิได้พิสดาร จนไม่สามารถที่จะรับได้ ก็กลับไปตำหนิเตียนเขาเหล่านั้น นี่เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของนักบวชเถรวาท คือ ชอบยึดมั่นถือมั่น ในประเพณี ในหลักการมากกว่าคำสอนที่นำพาให้หลุดพ้น

และในคำสอนของเถรวาทเอง เมื่อมีผู้ใดปฏิบัติแล้วหากไม่ตรงคำสอน ฝ่ายเถรวาทก็จะไปตำหนิติเตียน ว่าปฏิบัติผิดทาง ทั้งที่บางครั้งคนเรา บุญวาสนามีมาแตกต่างกัน การใช้วิธีการปฏิบัติที่ต่างกัน ผลลัพธ์ต่างกันแต่มีปลายทางเดียวกันก็มิได้หมายความว่า การปฏิบัตินั้นจะต้องผิดเสมอไปหรือว่าถูกเสมอไป ทุกอย่างอยู่ที่เหตุปัจจัยหลายองค์ประกอบ ต้องไม่ลืมว่าพระอรหันต์แต่ละรูป ต่างก็มีวิธีการหลุดพ้นบรรลุธรรมที่แตกต่างกันไป บางรูปเดินจงกรมจนตาบอดแล้วบรรลุธรรม บางรูปอุปมาอุปไมยพระจันทร์บนฟ้ากับก้อนเมฆแล้วก็บรรลุธรรม บางรูปนั่งลูบผ้าสังฆาฏิจนบรรลุธรรม คนเราวาสนาบารมีแตกต่างกัน วิธีบรรลุธรรมจึงต่างกันด้วยเหตุนี้ แต่นักบวชเถรวาทโดยมากบ้าตำราคัมภีร์ไปยึดเอาว่าต้องแบบนั้นแบบนี้จึงเรียกว่า บรรลุธรรม 

เพราะความยึดมั่นถือมั่นบ้าคัมภีร์แบกคัมภีร์ของนักบวชสายเถรวาทนั้น อาจทำให้เกิดอัตตาตัวตนโดยไม่รู้ตัว และยิ่งนักบวชเถรวาทประเทศใด มีตำแหน่งแห่งหน อัตตาก็ย่อมเพิ่มมากขึ้น ว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ มีตำแหน่งนั่นตำแหน่งนี่ แล้วก็จะคอยเอาประเพณีมาชี้นิ้วตำหนิว่านักบวชผู้อื่น ที่ประพฤติปฏิบัติแตกต่าง แม้ว่ามิได้พิสดารใดๆเลย

จุดนี้แหละที่ทำให้นักบวชเถรวาทในประเทศต่างๆ ไม่สามารถเข้าสู่บรมสุขได้อย่างแท้จริง แม้กรอบวิธีคิดก็คับแคบ ไม่สามารถมองอะไรให้เป็นหลายมิติและกว้างได้ ถ้ามีใครสักคนนึงกล่าวว่า พระพุทธศาสนาคือศาสนาแห่งความสุข เมื่อได้ยินแค่นี้ในฝ่ายเถรวาทประเทศต่างๆ ก็ชักดิ้นชักงอ กล่าวหาเขาว่าสอนผิด เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้รู้จักทุกข์ เหตุ ดับทุกข์ ลักษณะนี้แหละ เรียกว่ายึดติดคัมภีร์แบบคัมภีร์

ศาสนาพุทธคือศาสนาแห่งความสุข เพราะว่าคำสอนอันสูงสุดนั้น นิพพานัง ปรมัง สุขัง แปลว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เพียงแต่คำว่าความสุขของนิพพานนี้จะต้องเรียนรู้ผ่านกระบวนการของความทุกข์เท่านั้น

ความยึดมั่นถือมั่นจนแบกคัมภีร์ ก็ถือได้ว่า เป็นการต่อต้านคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า

สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ

ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

จงเรียนรู้ ทุกสรรพสิ่งในคัมภีร์ แต่อย่าไปแบกคัมภีร์ บ้าคัมภีร์ แล้วเอาความรู้ที่มีไปตัดสินผู้อื่น ใครที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ถ้าเป็นนักบวชในเถรวาทประเทศใดก็ตาม ก็อาจจะเรียกได้ว่า ดุจน้ำหยดสุดท้ายในกะลาที่ใช้ล้างเท้าได้ถูกคว่ำลงแล้ว 

ในฝ่ายมหายาน แม้ว่าดูเหมือนจะไม่ค่อยยึดในพระธรรมวินัย อะไรมากมายนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ เขาไม่ค่อยยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลาย จิตใจเขาจึงเบิกกว้าง มีความสุขมีเมตตา และมีความกรุณาในหัวใจเป็นยิ่งนัก และเป็นสังฆะนักบวช ที่ไม่มียศตำแหน่งใดๆ ทุกอย่างทำเพื่อฝึกฝนและการเรียนรู้ในภาวะจิตใจ เพื่อให้ก้าวไปสู่ภาวะแห่งอริยบุคคล แม้ภพชาตินี้ยังมิได้ สัมผัสกับความเป็นอริยะเขาก็จะพึงอธิษฐาน เป็นพระโพธิสัตว์ เพื่อเมตตากรุณา ต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง

ดังนิทานเซนเรื่องหนึ่งที่เล่ากัน

พระ 2 รูป เดินมาด้วยกันเห็นสาวน้อยตกน้ำ พระรูปหนึ่งจึงโดดลงไปช่วยแล้วอุ้มเธอขึ้นมา นำไปส่งจนถึงบ้าน พระอีกรูปหนึ่ง เมื่อเห็นพฤติกรรมเช่นนี้ก็ไม่สบายใจ ระหว่างเดินทางกลับวัดจึงเกิดอาการอึดอัด ต่อพระอีกรูปหนึ่งเป็นอย่างมาก

การที่ท่านเป็นสังฆะนักบวช แล้วลงไปช่วยโยมผู้หญิงอุ้มโยมผู้หญิง และยังนำร่างเธอแบกจนถึงบ้าน แบบนี้อาจจะทำให้ภาวะแห่งความเป็นสังฆะเสื่อมได้

พระผู้ที่โดดน้ำลงไปช่วยผู้หญิงนั้นได้ตอบว่า ตัวเขาได้วางผู้หญิงลงตั้งแต่ได้ไปส่งนางถึงบ้านแล้ว ท่านยังแบกนางมาอีกตลอดทางเลยหรือ

พระรูปนั้นเมื่อได้ฟังเช่นนี้ก็ถึงกับสะดุ้ง และสะดุดในจิตใจ ว่าเขาเป็นบุคคลคอยเพ่งโทษผู้อื่นไปแล้ว จึงได้เสียใจ เมื่อตระหนักรู้ได้จึงขอโทษพระอีกรูปหนึ่ง

ผู้หญิงคนนั้นรอดได้เพราะนักบวชโดดลงไปช่วย ถ้าเขาไม่โดดลงไปช่วยแล้ว หญิงคนนั้นก็คงจะต้องเสียชีวิต ก็อยากจะถามท่านผู้อ่านว่า พระที่โดดลงไปช่วยผู้หญิงนั้น ประพฤติผิดหรือไม่

การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีคุณค่าหรือไม่ หรือการดำรงคงไว้ในศีลในธรรมอันยิ่งสำคัญกว่าชีวิตของผู้อื่น

ในคำสอนของมหายาน ที่ไม่เน้นการแบกคัมภีร์บ้าคัมภีร์ ตลอดทั้งไม่เน้นประเพณีจนเคร่งครัด เหมือนกับผู้ยึดมั่นถือมั่น ในฝ่ายนักบวชเถรวาท ถามท่านว่า นักบวชทั้งสองนิกายนี้ที่จะเข้าไปสู่การหลุดพ้น ได้ง่ายกว่ากัน

ในฝ่ายเถรวาทอาจมองว่า ไม่เคร่งในวินัย จะบรรลุธรรมได้อย่างไร แต่มหายานมองว่า การบรรลุธรรมนั้นบรรลุที่จิตใจ ไม่ใช่การยึดแบกคัมถีร์ และชอบแบบเอาผิดเอาถูกในจารีตประเพณีมากเกินงาม นักบวชมหายานนั้นเน้นในศีลและการทานอาหารมังสวิรัติ 

ในคติส่วนตัว ผมมองว่า ไม่ว่านักบวชเถรวาท และ มหายาน ต่างก็เข้าถึงธรรมได้ ถ้ารู้จักทางสายกลางตามความจริง ไม่ใช่ทางสายกลางในตำราคัมภีร์ และไม่ยึดแบกบ้าภัมภีร์เกินไป หรือ ทอดทิ้งตำราคัมภีร์ไปเลย  และต้องเป็นนักบวชที่มีมุมมองที่กว้าง มองหลายมิติ ไม่คับแคบ เกินไป บุคคลนั้นแหละ ไม่ว่าจะนิกายใดก็สามารถเข้าถึงธรรมได้อย่างแท้จริง