สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 หรือ มาตรการส่งดี (Dee – Delivery) มีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ (3 ตุลาคม 2567)
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าแบบบริการเรียกเก็บเงินปลายทาง โดยผู้บริโภคสามารถเปิดเช็คสินค้าก่อนได้ และเมื่อเจอสินค้าไม่ตรงปก ยังขอเรียกเงินคืนได้ด้วย
สำหรับกฎหมายคุมการซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง หรือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567มีรายละเอียดที่น่าสนใจแยกเป็นข้อ ๆ ดังนี้
เหตุผลของการออกกฎหมาย
ปัจจุบันผู้บริโภคมีการจับจ่ายซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยมักใช้บริการเรียกเก็บเงินปลายทาง เพราะมีความสะดวก และสั่งซื้อได้ง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจบางรายหวังใช้ช่องทางนี้หลอกลวงผู้บริโภค เช่น ส่งสินค้าไม่ตรงปก มีการเรียกเก็บเงินโดยไม่ได้สั่งสินค้า สินค้าชำรุด บกพร่อง และสูญหาย บางรายไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ ทำให้เกิดปัญหาการขอคืนเงิน และสร้างความเดือดร้อนต่อผู้บริโภค
น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เพราะมีผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก จึงได้กำชับให้ สคบ. เร่งดำเนินการติดตามและแก้ไขโดยด่วน จนเป็นที่มาของการออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฉบับนี้
สาระสำคัญของกฎหมาย
กฎหมายคุมการซื้อสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง คุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและเกิดความเสียหายจากการสั่งซื้อสินค้าและรับบริการขนส่งจากผู้ประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม ช่วยปกป้องผู้บริโภคจากผู้หลอกลวงจำหน่ายสินค้าไม่ตรงปก สินค้าชำรุด หรือหลอกส่งสินค้า
โดยสามารถปฏิเสธการรับสินค้าและไม่ต้องชำระเงินได้ หรือหากผู้บริโภคเปิดกล่องสินค้าภายหลังจากที่ชำระเงินไปแล้ว พบปัญหา สินค้าไม่ตรงปก ชำรุด ไม่ได้สั่ง สามารถแจ้งขอเงินคืนได้ ภายใน 5 วัน (นับแต่วันได้รับสินค้า)
กฎหมายฉบับนี้ยังครอบคลุมถึงการให้บริการของบริษัทขนส่ง ซึ่งหากตรวจสอบแล้วพบว่ามีเหตุตามที่แจ้งจริง บริษัทขนส่งจะต้องคืนเงินทั้งหมดให้กับผู้บริโภค ภายใน 15 วัน
การปฏิเสธไม่รับสินค้า - รับเงินคืน
สำหรับกรณีที่ผู้บริโภคมีสิทธิที่ปฏิเสธไม่รับสินค้า หรือมีสิทธิได้รับเงินค่าสินค้าคืน มีดังนี้
1.ในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้าที่สั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสินค้าคืนจากผู้บริโภคกลับไปยังผู้ส่งสินค้า และคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค
2.ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้สั่งซื้อสินค้าแต่มีสินค้าไปส่งแล้วเรียกเก็บเงินปลายทาง หากผู้บริโภคมีการชำระค่าสินค้าแล้ว ถ้าภายหลังผู้บริโภคได้แจ้งทักท้วงว่าไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้า และผู้ประกอบธุรกิจยังถือเงินที่ชำระค่าสินค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสินค้าคืนจากผู้บริโภคและคืนเงินให้กับผู้บริโภคทันที เว้นแต่ผู้ส่งสินค้าจะพิสูจน์ได้ว่าผู้บริโภคเป็นผู้สั่งซื้อ
4.ในกรณีที่ผู้บริโภครับและเปิดดูสินค้าให้กระทำต่อหน้าผู้ประกอบธุรกิจ โดยให้บันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอหรือเอกสารหลักฐานอย่างอื่นไว้เป็นหลักฐาน และเมื่อบุคคลทั้งสองดังกล่าว ตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่า สินค้านั้นไม่ตรงตามข้อ 1 หรือข้อ 2 ให้ผู้บริโภคปฏิเสธ ไม่รับสินค้านั้นได้
กรณีที่ผู้บริโภคไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบสภาพสินค้าในขณะรับสินค้า เมื่อได้ทำหลักฐานและส่งผลการตรวจสินค้าที่ตนพบว่าไม่ตรงตามข้อ 1 หรือข้อ 2 ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้รับการโต้แย้งจากผู้ประกอบธุรกิจภายในเวลาตามที่กำหนด ในข้อ 4 ให้ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธไม่รับสินค้าและได้รับเงินค่าสินค้าคืน
5.เมื่อผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับเงินที่ชำระค่าสินค้าจากผู้บริโภคแล้วให้ถือเงินไว้ก่อนเป็นเวลา 5 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคได้รับมอบสินค้าและชำระเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้ประกอบธุรกิจจะยังไม่นำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า และเมื่อพ้นกำหนด 5 วันนับแต่วันที่ได้รับชำระเงินจากผู้บริโภคแล้วปรากฏว่า ผู้บริโภคไม่ได้มีการแจ้งขอเงินคืนดังนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเงินไปส่งให้กับผู้ส่งสินค้า
แต่ถ้าผู้บริโภคแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืนต่อผู้ประกอบธุรกิจภายในกำหนดเวลา 5 วันนั้นว่าผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ตนไม่ได้สั่งซื้อ หรือสินค้าที่ได้รับไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ หรือสินค้า ที่ตนสั่งซื้อมีความชำรุดบกพร่อง และเมื่อผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบสินค้าที่รับคืนมาจากผู้บริโภคแล้วก็ดี
ถ้าปรากฏว่าสินค้านั้นเป็นไปตามเหตุที่ผู้บริโภคแจ้งมาจริง ดังนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคชำระทั้งหมดให้แก่ผู้บริโภคภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค และส่งมอบสินค้านั้นคืนให้กับผู้ส่งสินค้า ทั้งนี้ หลักเกณฑ์นี้จะไม่นำไปใช้บังคับกับกรณีผู้บริโภคขอเงินคืนด้วยเหตุผลอื่นนอกจากเหตุดังกล่าวนั้น