เพื่อนผู้อ่านท่านอ่านตอนเกาเหลาสมองหมูตอนแรกแล้วก็เม้นต์_comment มาแนะว่า เจ้าไทยทำตรงแพร่งนรา แพร่งภูธร เขาทำอร่อยกว่า ทำไม๊ ทำไมไม่แนะไม่นำ?
อ่ะฮรึ่ม (กระแอมคอเสียก่อน)
จึงเรียนตอบท่านไปด้วยใจมิตรว่า อันคอลัมน์อิ่ม_โอชาฯ กำเนิดมาบัดนี้ก็ 205 ตอนเข้าไปแล้ว ขออนุญาตนำเสนอเปนเรื่อง “สไตล์” ของชีวิตชีวาผู้ทำกับข้าวและตัวอาหารโภชนาการเสียมากกว่า ไอ่เรื่องใครอร่อยกว่าใครนั้นต้องขอประทานอภัยอย่างสูงด้วยว่ามันวัดกันยากเพราะไม้บรรทัดความอร่อยเราท่านย่อมต่างกันไป
และหากว่าความอร่อยมีเพียงหนึ่งเดียวแล้วไซร้ ต่อไปเกาเหลาสมองหมูคงมีเหลือเจ้าเดียวแบบเดียวสไตล์เดียว ไม่มีอีกต่อไปซึ่งความหลากหลายสไตล์แตกต่างให้เหล่าพ่อครัววิเสทโภชนาได้ทำมาหานำเสนอปวงเราเหล่าผู้บริโภคเลือก สรรรับประทานบำเรอลิ้น
วันนี้ก็เสร็จการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ทหารปืนใหญ่ยิงสลุตถวายพระเกียรติครบถ้วน 21 นัดเเล้ว จึงได้เวลาลัดเลาะมาจากสนามหลวง มาแถวแพร่งฯ ว่าการเกาเหลาสมองหมูไทยทำมาบรรยายสไตล์เขาทำให้บันเทิงอารมณ์คุณท่านผู้อ่าน
ก่อนนี้ในแพร่งก็มีสองเจ้า สมองหมูจีนทำเจ้าหนึ่ง ไทยทำอีกเจ้าหนึ่ง ถามว่าจีนทำนี่จีนอะไร? ตอบโดยเดาทางได้สบายๆว่าจีนแคะ_ฮากกา ด้วยว่าเครื่องเกาเหลานั้นเปนเครื่องเต้าหู้ ทั้งสดและทอด ผ่าและยัดลูกชิ้นหมูแบบเเคะคือผิวมันเลื่อมหมูสับนุ่มแต่ไม่กรอบ กินคู่กับลูกชิ้นปลาและน้ำซุปใสๆ
เวลานี้เจ้าไทยทำ คุณป้าท่านเจ้าของก็แปดสิบกว่าเข้าไปแล้ว สไตล์เจ้านี้คือทำอย่างน้ำใสให้ความรู้สึกว่าปราณีตและผู้ดี มีเครื่องทอดให้แนมคือเผือกปั้นทอดกรอบ ลูกชิ้นไชเท้า กุนเชียงตับรสเค็ม กุนเชียงหมูรสหวาน และมีหนังปลาทะเลชุบเเป้งทอดมาให้ด้วย(เนื้อปลาเอาทำลูกชิ้นไปแล้ว)
พริกตำดองน้ำส้มก็เปนพริกแดงปนพริกเขียว รสชาติละมุนละไม ตักสมองกินเข้าไปแล้วอยากเค็มก็เลือกเอาจะแนมกุนเชียงตับหรือจะหยอดซีอิ้ว/น้ำปลาเสียก่อน หรือ ว่าตักสมองจะกินแล้วอยากหวานก็เคี้ยวกุนเชียงหมูแตะซีอิ้วดำรองคำไว้ก่อน
ผู้ใหญ่หลายท่านก็ตัดรสน้ำส้มเสียโดยตัดน้ำตาลทรายละลายลงในถ้วยต่างหากไว้จิ้มบ้าง โรยข้าวบ้าง
ต่างสไตล์กับเจ้านางเลิ้งที่พริกตำเขียวปั้ด น้ำซุปเข้มคลั่กๆเผ็ดพริกไทย กินแนมอะไรๆก็มีกุนเชียงอย่างที่ว่า
ยามฝนปรอยๆลงหัวให้ชวนเปนไข้ กินเจ้านางเลิ้งนี้เข้าไปไข้ก็หาย เพราะฤทธิ์เผ็ดร้อนข้นคลั่กทำลายหักเอาพิษไข้ออกเสียได้
แต่อย่างวันเวลาอากาศอึดอ้าว กินเจ้าไทยทำที่แพร่งดูเถิดครับ น้ำใสๆ กินสบายปากไม่อึดอัดตัวและเครื่องในที่เอาไว้ย่อยของอร่อยของมันๆ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,911 วันที่ 6 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566