อย่ามัวเล่นเกมต่อรอง จนหลงลืมประชาชน

05 ส.ค. 2566 | 01:25 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ส.ค. 2566 | 13:49 น.

อย่ามัวเล่นเกมต่อรอง จนหลงลืมประชาชน บทบรรณาธิการ

ทันทีที่พรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค แถลงข่าวเริ่มต้นใหม่ ร่วมผ่าทางตัน หาทางออกให้ประเทศ ด้วยการฉีก MOU 8 พรรคร่วมเดิม แล้วขอเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีพรรคก้าวไกล พร้อมเสนอชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีรอบ 3 ในวันที่ 4  สิงหาคมนี้ 
     
ตลาดหุ้นดี๊ด๊า พุ่งขึ้นตอบรับข่าวทันที เพราะเริ่มมีความชัดเจนที่จะเห็นหน้าตารัฐบาล เพื่อเข้ามาบริหารประเทศ หลังจากยืดเยื้อมานาน 

แต่พลันรุ่งขึ้น ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม ตลาดหุ้นกลับไปอยู่ในแแดนลบอีกครั้ง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเลื่อนการพิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีซํ้า ออกไปเป็นวันที่ 16 สิงหาคมนี้ 

การนัดประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 3 วันที่ 4  สิงหาคมเดิม ก็เพื่อรอดูการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 3 สิงหาคม ว่า จะออกมาอย่างไร ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 16 สิงหาคม ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ต้องออกมาประกาศว่า การประชุมรัฐสภาวันที่ 4 สิงหาคมนี้ จะนำระเบียบวาระที่ 2 เรื่องการพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 272 ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกแทน 
     
ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีคงต้องรอหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า จะมีคำสั่งอย่างไรในวันที่ 16 สิงหาคมอีกครั้ง

ขณะที่ตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลที่เจอโรคเลื่อนอีกคนคือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยประกาศว่า จะเดินทางกลับไทยในวันที่ 10 สิงหาคมนั้น ล่าสุดก็มีข่าวออกมาว่าจะเลื่อนเดินทางกลับไทย หลังจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว  
การเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์และเกมต่อรองอำนาจ การต่อรองยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัว ทำให้เกิดการหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจ การจัดตั้งรัฐบาลจึงยังไม่สำเร็จ ขณะที่ประชาชนทั่วไปต้องมารองรับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  
     
สิ่งที่น่ากังวลจากนี้คือ การเมืองนอกสภา เมื่อกระแสความไม่พอใจของด้อมส้มต่อพรรคเพื่อไทย ที่ฉีก MOU 8 พรรคร่วมเดิม แล้วผลัก พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่มีส.ส.มากที่สุดไปเป็นฝ่ายค้าน  เริ่มจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ    
     
หลายคนอาจจะกังวลเรื่องระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลที่มากเกินไป ซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ไม่ว่าจะ 3 หรือ 6 เดือน อาจส่งผลต่องบลงทุนภาครัฐอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับ จีดีพี เพราะการเบิกจ่ายตามปกติยังคงทำได้ การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งเห็นสัญญาณแล้วว่า ตัวเลขดีขึ้นต่อเนื่อง 
     
แต่ถ้าการชุมนุมประท้วงที่จะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศตึงเครียดบนท้องถนน จะกระทบกับภาคท่องเที่ยวโดยตรง และอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คนที่ยํ่าแย่ จะยิ่งยํ่าแย่เข้าไปอีก