ประเด็นร้อนการเมืองไทย หลังจากมีข้อเสนอของพรรคการเมืองหนึ่งเสนอให้ เลื่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 10 เดือน และให้รัฐบาลปัจจุบันรักษาการ เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) หมดอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ นั้น แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะให้ความเห็นเพียงแค่ว่า ไม่ควร และต้องดูความเสียหาย รวมทั้งต้องดูและทำให้ถูกต้องตามระเบียบและกติกา
ขณะที่ สารพัดหน่วยงานก็เรียงรายออกมาให้ความเห็นกัน โดยเฉพาะทางภาคเอกชน เช่นเดียวกับผู้บริหารหน่วยงานรัฐ ฐานเศรษฐกิจ จึงรวบรวมมุมมองความคิดเห็นจากหลาย ๆ หน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวล โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมากับเศรษฐกิจไทยจนอาจหลุดเป้าหมายในปีนี้ได้
ชั่งน้ำหนักต้นทุนประเทศ
เริ่มต้นจากบิ๊กอุตสาหกรรม “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความกังวลอย่างชัดเจนกับการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า โดยเฉพาะกรณีที่ต้องใช้เวลา เลื่อนโหวตนายกฯ ลากยาวถึง 10 เดือน เพราะจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน เรื่องนี้ต้องมีการชั่งน้ำหนักของผลกระทบ ที่เคยพูดเสมอว่า ทุกอย่างมีต้นทุน
“ต้องดูว่าต้นทุนของประเทศทั้งหมดนั้นรับไหวไหมหากรอ 10 เดือนถือว่าเยอะไปไหม แต่ละเดือนที่รอจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกัน และกรณีการเสนอให้รอ 10 เดือน ถือเป็นโจทย์ใหม่ โดย ส.อ.ท.จะนำข้อเสนอนี้ไปวิเคราะห์ ดูผลกระทบ อะไรที่ไหว และไม่ไหวบ้าง”
บี้ตั้งรัฐบาลต้องจบในสิงหาคม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลลากยาวไป 10 เดือน ถึง 1 ปี จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบตามมีตามเกิด เพราะเป็นช่วงของรัฐบาลรักษาการไม่สามารถออกนโยบายมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ และยังกระทบกับการลงทุนใหม่หลายแสนล้านบาท และอาจทำให้จีดีพีหายไปถึง 2%
ขณะที่ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า ไม่ควรไปถึงจุดนั้น และอยากเสนอให้พรรคการเมืองควรรีบหาจุดลงโดยเร็วเพื่อประโยชน์ของประเทศ โดยจากการประชุมคณกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ภาคเอกชนต่างเห็นตรงกันว่า ควรตั้งรัฐบาลให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2566
ทั้งนี้ยอมรับว่า ปัจจุบันยังมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลเก่าและรัฐบาลใหม่จะต้องผลักดัน หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อออกไปแน่นอนว่าประเทศจะเสียโอกาส แม้ขณะนี้ต่างชาติจะยังไม่กังวลแต่เขาก็ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นักลงทุนที่ไม่เคยมาลงทุนก็อาจจะชะลอไปเพื่อรอดูความชัดเจน
“สิ่งที่เอกชนกังวลคืออย่าให้ถึง 10 เดือนเพราะยิ่งช้าการบริหารจัดการต่าง ๆ ก็ต้องกลับมาวางแผนใหม่ ซึ่งทุกอย่างมีกรอบทำงานที่ชัดเจน คือต้องตั้งรัฐบาลให้ได้ภายในเดือนสิงหาคม ดังนั้นพรรคการเมืองต้องเร่งหาทางออกโดยเร็ว ก่อนที่ไทยจะเสียโอกาส จากที่เวลานี้เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว แต่ยังไม่ถึงกับถดถอย ซึ่งอยากให้มีความเสียหายน้อยที่สุด”
สำนักงบประมาณ หวั่นกระทบงบใหม่
ด้านผู้บริหารหน่วยงานรัฐ ได้แสดงความเห็นและมีข้อกังวลถึงผลเสียต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หากเลื่อนโหวตนายกฯ 10 เดือน โดยเฉพาะสำนักงบประมาณนั้น “เฉลิมพล เพ็ญสูตร” ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า ประเทศไทยไม่เคยมีรัฐบาลรักษาการนานขนาดนั้น หากลากยาวนานออกไปถึง 10 เดือน
ขณะเดียวกันยังต้องดูว่าจะเกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง เพราะการใช้งบประมาณแบบพลางไปก่อนก็มีข้อจำกัดในการเบิกจ่ายอยู่พอสมควร โดยได้เตรียมพร้อมรองรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ที่คาดว่าจะล่าช้าออกไปประมาณ 6 เดือนเท่านั้น แต่ถ้าการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ามาก รวมทั้งมีการนำเอาข้อเสนอเลื่อนโหวตนายกฯ 10 เดือนมาใช้จริง ก็ต้องมีการขยายระยะเวลาของการใช้งบประมาณไปพลางก่อนออกไป จนกระทบกับการจัดทำและการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนใหม่อย่างแน่นอน
สภาพัฒน์ ชี้กระทบงบประมาณ 3 ปี
ขณะที่ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า หากเป็นไปตามนั้นจริง จะกระทบกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปียาวถึง 3 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 – 2569 และนับว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากทุกอย่างจะหยุดชะงักลง
นอกจากผลกระทบเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีแล้ว การมีรัฐบาลช้า หรือรักษาการยาวถึง 10 เดือน จะส่งผลกระทบต่อกรอบการเจรจาบนเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาการค้า หรือ FTA ต่าง ๆ เพราะถ้ามีการเจรจาแล้วก็ยังไม่สามารถที่จะลงนามในสัญญาในช่วงของการเป็นครม.รักษาการได้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือกระทบกับการค้า การลงทุนของประเทศแน่นอน
อาจกระทบการออกกฎหมายใหม่
ด้าน “ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยอมรับว่า แม้ในทางกฎหมายรัฐบาลรักษาการยาวต่อเนื่องจะไม่กระทบกับการทำกฎหมายต่าง ๆ เพราะขณะนี้กฎหมายที่เป็นพรบ.ไม่มีค้างอยู่ในขั้นการพิจารณาของ ครม. จะมีก็แค่กฎหมายลูก หรือกฎกระทรวงที่ขออนุมัติเท่านั้น แต่ในอนาคตอาจส่งผลถึงกฎหมายใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องรอดูว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายออกมาอย่างไร
ส่วน “นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์” เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงในช่วงรัฐบาลรักษาการว่า แม้ขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลจะช้าออกไปจากสมมุติฐานเดิมที่คาดว่าไม่เกินสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนสิงหาคม 2566 แต่ล่าสุดได้รับนโยบายจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่าหน่วยงานราชการที่มีความจำเป็นต้องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง สามารถเสนอเรื่องมายัง ครม.ได้ และ ครม.จะส่งต่อไปยัง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา ซึ่งหากมีความจำเป็น กกต.ก็คงจะพิจารณาอนุมัติ
อย่างไรก็ตามประเด็นการเลื่อนโหวตนายกฯ 10 เดือน อาจมีแง่มุมให้ติดตามและชวนคิดอีกหลายอย่าง โดยฐานเศรษฐกิจจะเกาะติดและนำเรื่องราวทั้งหมดมาเสนออย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป