KEY
POINTS
เดิม 3 ก.ค. 2567 เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมที่จะประกาศรับรองผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 200 คน หลังผ่านพ้นการเลือกระดับประเทศ ไปเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567
แต่ “ความผิดปกติ” และ “ไม่ชอบมาพากล” ของการเลือก ส.ว. ที่เกิดขึ้น ได้นำมาซึ่งการร้องเรียนต่อ กกต.จำนวนมาก จนมากกว่า 614 เรื่อง ที่กกต.เคยเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้แล้ว
ทำให้ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ถึงกับออกมาบอกว่า การประกาศรับรอง สว. 200 คน ต้องยืดออกไปก่อน เพื่อตรวจสอบความสุจริตเที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
ขณะเดียวกัน “คำร้อง” ที่อาจนำไปสู่การ “ล้มกระดาน สว.” ก็ได้พุ่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้ง “อัยการสูงสุด” ที่ต้องตรวจสอบก่อนว่าจะส่งไปที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็ได้มีผู้ส่งคำร้องไปยัง “ศาลปกครอง” แล้ว
ร้องอสส.-ศาลรธน.ล้มส.ว.
สำหรับคำร้องที่ร้องเรียนไปยังศาลให้ตรวจสอบการทำผิดกฎหมายจากการเลือก สว. ที่เกิดขึ้นนั้น ประกอบด้วย
เมื่อ 27 มิ.ย. 2567 นายสนธิญา สวัสดี ผู้สมัคร สว. แต่สอบตกรอบจังหวัด ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด(อสส.) เพื่อขอให้พิจารณาตรวจสอบ และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยการเลือก สว. 2567 ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคสอง หรือไม่
ที่กำหนดห้ามผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกผู้สมัครในกลุ่มเดียวกันแต่ กกต.ดำเนินการโดยให้ผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน ลงคะแนนให้กลุ่มเดียวกัน ในทุกรอบทั้งระดับอำเภอ จังหวัด และ ระดับประเทศ
การกระทำของ กกต.ที่อาศัย พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. 2561 ขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 107 (2)
“ผมมองว่าเลือกกันเองแบบนี้ส่อให้เกิดการฮั้ว จึงร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อตรวจสอบว่ากระบวนการเลือกกันเองนี้ ถูกต้องตามกระบวนการ หรือ การเลือก สว. หรือไม่ และขอเรียกร้องให้การเลือกเป็นโมฆะ และจัดการคืนเงินค่าสมัครให้กับผู้สมัคร”
นายสนธิญา กล่าวด้วยว่า หากอัยการสูงสุดไม่ตอบใน 30 วัน ก็จะยื่นร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ
“จาตุรันต์”ยื่นศาลปกครอง
ต่อมา 1 ก.ค. 2567 นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ อดีตผู้สมัคร สว.กลุ่มที่ 20 (กลุ่มอื่น ๆ) เลขาธิการกลุ่ม Clean Politic กรุงเทพมหานคร ยื่นฟ้อง กกต. ต่อศาลปกครองสูงสุด โทษฐานปล่อยปละละเลยการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
จึงขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อพิจาณาสั่งระงับการประกาศรับรองผลการเลือก สว. เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น สว. 200 คน และผู้อยู่ในบัญชีสำรองอีก 100 คน ว่ามีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ทั้งเห็นว่า กระบวนการได้เข้ามาของบางคน มีความเชื่อมโยงของบางกลุ่มที่พยายามจัดตั้งและนำคนเข้ามา
4 ผู้สมัคร สว.ร้องศาลแพ่ง
วันที่ 3 ก.ค. 2567 กลุ่มผู้สมัคร สว. 4 คน ได้ไปร้องศาลแพ่ง เพื่อสั่ง กกต. ให้ดำเนินการนับคะแนนใหม่ สว.ระดับประเทศใหม่ ทั้งในส่วนภาคเช้า 20 กล่อง และภาคบ่าย 20 กล่อง ว่าบัตรใดมีลักษณะลงคะแนนที่สอดคล้องกับโพย และเป็นแบบเดียวกัน
อันเป็นการขัดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 30 (6) เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของโจทก์ และผู้สมัครอื่นที่ดำเนินการโดยสุจริต
เลือกสว.ส่อทุจริต
ขณะที่เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2567 นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมธิการการองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญ ของวุฒิสภา ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดถึง นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เรื่อง ข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาของ กกต.กรณีมีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับการเลือก สว. ไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
โดยอ้างอิงถึงการการเลือก สว. ตั้งแต่ระดับอำเภอ ในวันที่ 9 มิ.ย.2567 ระดับจังหวัด วันที่ 16 มิ.ย. และ ระดับประเทศ วันที่ 26 มิ.ย. ตามข้อมูลที่ปรากฏต่อสื่อสาธารณะ ก็วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับกรณีต่าง ๆ ที่เป็นเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับกระบวนการเลือก สว. ว่าเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
เช่น ข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดตั้งเพื่อลงสมัคร โดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครไม่ตรงตามกลุ่ม 20 กลุ่ม การจ้างวันผู้มาลงสมัครเพื่อประโยชน์ในการเลือกผู้สมัครบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ปรากฏการณ์ของจำนวนผู้ไม่ลงคะแนนให้ตนเองจำนวนมาก, กรณีบุคคลจำนวนหนึ่งที่ได้รับคะแนนสูงผิดปกติ รวมทั้งการรวมกลุ่มและพบปะของผู้สมัครในรูปแบบต่าง ๆ
3ปมเลือกสว.ส่อขัดรธน.
นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ นักวิชาการ ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงการเลือก สว. ว่า
1.การเลือกกันเองต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 วรรคสอง
2.การจัดตั้งผู้สมัครมาบล็อคโหวต ย่อมทำให้การเลือกเป็นไปโดยไม่สุจริต และไม่เที่ยงธรรม เพียงมีหลักฐานว่า ลงคะแนนกันเป็นเลขชุด ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำต้องมีหลักฐานว่า มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือรับเงินค่าตอบแทนกันแต่อย่างใด
3.การจัดตั้งมาบล็อคโหวต จึงทำให้การเลือกกันเองไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จึงขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 107 วรรคสอง โดยชัดแจ้ง
แห่ร้องกกต.ฮั้วเลือกส.ว.
ขณะที่วันที่ 28 มิ.ย. พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้สมัคร สว. กลุ่ม 2 กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบเรื่องการบล็อกโหวตกับ 111 ว่าที่ สว. โดยอ้างว่า พบความผิดปกติการลงคะแนน โดยเฉพาะการเลือกไขว้ มีลักษณะการลงคะแนนเป็นชุด ๆ ใบลงคะแนนมีหมายเลขเหมือนกัน โดยอ้างว่า มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายการลงคะแนนช่วงเลือกไขว้ และเมื่อเปรียบเทียบกับโพยที่เก็บได้ก็ตรงกัน
ต่อมา วันที่ 1 ก.ค. 2567 นายจักรพงษ์ คงปัญญา อดีตผู้สมัคร สว. กลุ่ม 12 ผู้ประกอบอุตสาหกรรมหรืออื่น ๆ พร้อมตัวแทนอดีตผู้สมัคร สว. ได้เข้ายื่ต่อ กกต. ให้ตรวจสอบความถูกต้องทุกคะแนนว่าไม่มีการเอาเปรียบ หากพบมีเหตุควรเชื่อว่ามีการฮั้วขอให้ กกต.ประกาศผลการเลือก สว. ครั้งนี้เป็น “โมฆะ” และจัดให้มีการเลือกใหม่ทันที
+++++
กกต.ยังไม่รับรอง สว.
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ออกมาระบุถึงการเลื่อนประกาศรับรอง สว. 200 คน ว่า ทุกอย่างจะต้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จ จึงจะมีการประกาศรับรอง สว.
ประธาน กกต. ระบุว่า ในวันนี้ยังพิจารณาการรับรองไม่เสร็จ แต่หากยังไม่เสร็จ ก็มีหลักที่จะสามารถประกาศรับรองได้ หากเห็นว่าสุจริตเที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย
“ตามแผนการที่จะประกาศรับรองวันที่ 3 ก.ค. จะประกาศก็ต่อเมื่อ กกต.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง แนวเรื่องต่าง ๆ แล้วเสร็จ ดังนั้นจึงไม่ใช่เป็นการเลื่อน แต่ยังไม่เสร็จ จึงเป็นการทำให้เสร็จแล้วจะประกาศ” ประธาน กกต.กล่าว
ขณะที่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ข้อร้องเรียนความผิดปกติการลงคะแนนเลือก สว. เบื้องต้นมีไม่ต่ำกว่า 614 เรื่อง แบ่งกลุ่มจำแนกได้ดังนี้ 1.ร้องเรียนคุณสมบัติให้ลบชื่อ 400 กว่าเรื่อง หรือคิดเป็น 65%
2.เรื่องไม่สุจริต ให้เงิน ให้ทรัพย์สินฯ เพื่อการได้มาซึ่ง สว. 14% และอีก 4% เป็นเรื่องการร้องทุจริตให้ลงคะแนน จ้างสมัคร เรียกรับให้เพื่อลงคะแนน รวมถึงการนับคะแนนของเจ้าหน้าที่ขานคะแนน และการร้องระดับจังหวัดมี 175 เรื่อง ซึ่งขณะนี้ กกต.กำลังเร่งดำเนินการพิจารณา