สาเหตุของวิกฤตการณ์ทางการเงินของเมียนมา

24 ก.ค. 2565 | 22:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากวันที่ 14 ที่ผ่านมา ที่ธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา ได้ออกประกาศการระงับการชำระหนี้ที่เป็นเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้เกิดการตื่นตะหนกกันในหมู่มวลนักลงทุนต่างชาติในประเทศเมียนมากันยกใหญ่ ผมเองก็ถูกผู้สื่อข่าวหลายสำนักสัมภาษณ์ เพื่อนำข่าวไปเสนอ ซึ่งผมก็ขอให้ใจเย็นๆ ค่อยๆพิจารณาถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ก่อนที่จะได้หาทางออกในการทำธุรกิจกันต่อไป เพราะผมเชื่อว่า ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ เมื่อมีการเกิดย่อมมีสาเหตุแห่งการก่อให้เกิด หากเรารีบร้อนด่วนสรุป อาจจะมีการตัดสินใจที่ผิดพลาดได้ ดังนั้นควรจะรออีกสอง-สามอาทิตย์ รอให้ทุกอย่างกระจ่างชัด หรืออาจจะมีนโยบายอะไรออกมาอีกก็เป็นไปได้ครับ
 

เท่าที่ผมได้ฟังข่าวที่ออกมาหลายสำนัก บ้างก็พูดว่าล้มละลายบ้างละ บ้างก็พูดว่าเบี้ยวหนี้บ้างละ ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นธรรมต่อผู้คนในประเทศเขานะครับ ผมไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด เพียงแต่มีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายนี้โดยตรง เพราะผมได้ลงทุนที่ประเทศเมียนมา เกินครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมดของผม
 

ดังนั้นผมจึงใจเย็นๆ แล้วนั่งวิเคราะห์แบบมีสมาธิดู และจากการอ่านคำประกาศดังกล่าวอย่างละเอียด จะเห็นว่าในคำประกาศดังกล่าว มีประเทศที่มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ไม่น้อย เช่น ในคำประกาศนั้น มีการสั่งห้ามเอกชนและภาครัฐชำระหนี้ที่เป็นสกุลเงินเหรียญสหรัฐอเมริกา ส่วนข้อยกเว้นยังคงมีการให้ดำเนินธุรกิจและชำระหนี้ได้ตามปกติ ในกรณีที่ใช้นโยบายบาท-จ๊าดและหยวน-จ๊าด หรือที่เรียกว่า “ Local Currency” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเงินสกุลท้องถิ่นนั่นเองครับ

 

ซึ่งทางการเมียนมาจะยกเว้นให้เฉพาะเงินสองสกุลนี้เท่านั้น ดังนั้น หากเราเจาะลึกลงไป ก็จะเห็นชัดว่า การที่สถานะทางการเงินของรัฐบาลเมียนมา โดยอ้างอิงจากจำนวนเงินสำรองระหว่างประเทศ เราจะเห็นว่ารัฐบาลเมียนมา ได้ผูกติดค่าเงินอยู่ที่สกุลเงินเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทยเราผูกติดกับตะกร้าเงิน ที่มีสกุลเงินที่หลากหลาย ดังนั้นเวลาค่าเงินเหรียญสหรัฐมีการเปลี่ยนแปลง ประเทศที่ผูกติดเงินไว้กับเงินดอลลาร์จะได้รับผลกระทบมากที่สุด
 

อีกอย่างในช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศเมียนมาได้ถูกรัฐบาลชาติตะวันตก ที่นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกาแซงชั่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนที่ฝากไว้ที่ธนาคารในสหรัฐอเมริกา ก็ถูกแช่แข็งไปด้วย ในขณะที่ย้อนกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศเมียนมาเอง ช่วงที่ผ่านมาก็ถูกผลกระทบสอง-สามเด้ง อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังมาตลอด ดังนั้นมาตรการที่ประกาศงดการชำระหนี้เงินสกุลเหรียญสหรัฐ จึงเป็นนโยบายที่ไม่น่าแปลกใจเลย ที่ตกอกตกใจเพราะไม่คาดคิดว่าจะมาเร็วขนาดนี้มากกว่าครับ
 

ทีนี้หันมาดูว่าแล้วอนาคตไทยเราจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ผมต้องให้ย้อนกลับไปดูตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทย-เมียนมา ในช่วงสอง-สามปีที่ผ่านมา เรามียอดการค้าอยู่ที่ 180,000 บาทโดยประมาณเกือบทุกปี ในขณะที่ 5 เดือนที่ผ่านมา ไทยเรามียอดการค้าระหว่างประเทศกับเมียนมาอยู่ที่ 108,959.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 38.12% ไม่นับรวมการค้าที่ไปโดยไม่ได้บันทึกนะครับ อีกทั้งเป็นการค้าชายแดนเสีย 91.64% เป็นการค้าทางเรือหรือที่เรียกว่าการค้าระหว่างประเทศทั่วไป(Normal Trade) อยู่ที่ 8.36%
 

ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเราคาดการณ์กันภายใน ที่ยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการว่า ในปีนี้การค้าระหว่างประเทศไทย-เมียนมา จะเพิ่มขึ้นทะลุสองแสนล้านอย่างแน่นอน เพราะแค่ห้าเดือนก็เกินกว่าแสนล้านไปแล้ว อนึ่ง ประกาศของธนาคารกลางแห่งประเทศเมียนมา ที่ออกมาให้ผ่อนปรนใช้นโยบายบาท-จ๊าดและหยวน-จ๊าดนั้น เป็นอานิสงส์อย่างแรงกล้า ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนไทยเรา ร่วมกันผลักดันมานาน กว่าจะได้รับการรับรองจากทางฝั่งประเทศเมียนมา ก็ใช้เวลากว่าสิบปี ทุกรัฐบาลของเมียนมาที่ผ่านมา เราไม่สามารถฝ่าด่านอรหันต์นี้ไปได้เลย จนกระทั่งท่านพลเอก อาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ได้ออกมาประกาศใช้เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เองครับ แล้วอย่างนี้เราจะดีใจหรือเสียใจดีละครับ

 

ถ้าเราเปรียบเทียบการค้าระหว่างประเทศของไทย-เมียนมา ระหว่างเรากับประเทศอื่นๆ เราจะเห็นว่าเรามีแต้มต่อมากกว่าประเทศอื่นเขามากนะครับ ชาวบ้านเขาไม่มีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมา เขาค้าขายโดยใช้เงินสกุลเหรียญสหรัฐ เขาติดกับดักกันหมด ดังนั้น ผมอยกจะขอให้เราแค่ยิ้มๆไว้ในใจก็พอครับ อย่าไปกระโตกกระตากมากจนเกินหน้าเกินตา ประเดี๋ยวไปกระตุ้นต่อมอิจฉาใครเข้า เดี๋ยวเขาไปฟ้องคุณพ่อที่ฝั่งตะวันตกเข้า แกออกมาสั่งห้ามหรือออกมาตรการอะไรมาพ่นพิษใส่ไทยเรา เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือนนะครับ
 

บางคนถามผมว่า แล้วทำไมเมียนมาเขาถึงออกมาตรการนี้ด้วยละ ผมต้องขอยกตัวอย่างให้ฟังเล่นๆนะครับ สมมุติว่ารัฐบาลประเทศเมียนมาเป็นบุคคลธรรมดาคนหนึ่ง และโลกใบนี้เป็นสังคมเดี่ยว ที่มีเงินสกุลอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นเงินของคนทั้งโลก เอาเป็นว่าเงินดอลลาร์ก็ได้ครับ เมื่อในกระเป๋าของคนๆนั้น เงินเริ่มที่จะลดลง มากกว่าหนี้ที่จะต้องชำระ และมองว่าหากชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ไปแล้ว เงินจะหมดกระเป๋า เป็นธรรมชาติที่คนๆนั้นก็จะต้องบอกเจ้าหนี้ว่า ขอผมหายใจหายคอสักระยะหนึ่งได้มั้ย ขอผ่อนชำระน้อยหน่อย หรือหยุดชำระหนี้ก่อนได้มั้ย รอเงินในกระเป๋าผมมีมากพอที่จะชำระหนี้ได้ แล้วผมจะจ่ายให้ ก็เข้าตำรา “ไม่มี ไม่หนี้ ไม่จ่าย” นั่นแหละครับ หรืออีกนัยยะหนึ่ง คือการขอประนอมหนี้ แล้วเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้นั่นแหละครับ แล้วอย่างนี้เขายังไม่ได้ล้มละลาย เราจะไปว่าเขาได้หรือไม่? แม้แต่ศาลแพ่งของเรา ก็ยังมีกระบวนการนี้เลยครับ ฉันใดก็ฉันนั้นครับ
 

ในขณะที่บางท่านก็ถามผมว่า แล้วอย่างนี้ประเทศนี้ประชาชนเขาจะมีเงินซื้อสินค้าเรามั้ย? ผมก็ขอให้ย้อยกลับมามองดูตัวเราเอง ในยุคหนึ่งประเทศไทยเราก็เคยมีอาการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอ จากการนำเงินบาทเราออกไปต่อสู้กับพ่อมดทางการเงิน คงไม่ต้องอธิบายต่อนะครับว่าเราเป็นอย่างไร เอาเป็นว่าวันนั้น เราในฐานะประชาชนคนไทยตาดำๆ เรามีเงินซื้อข้าวทานซื้อสินค้ากันมั้ยครับ ต้องพูดว่าเราก็ยังผ่านตรงนั้นมาได้ ผมก็เลยเชื่อว่า สักวันหนึ่งประเทศเมียนมาก็จะผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้เช่นกันครับ