รัฐฉานตอนใต้

19 มี.ค. 2566 | 22:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 13:48 น.

รัฐฉานตอนใต้ คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้พาแฟนคลับไปท่องเที่ยวรัฐฉานทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มาแล้ว วันนี้เราไปเที่ยวรัฐฉานทางทิศใต้อีกทิศหนึ่ง เพื่อให้บทความของการท่องเที่ยวรัฐฉานจบสมบูรณ์ จะได้ไม่ติดค้างกันครับ อันที่จริงจะว่าไปแล้ว รัฐฉานนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวเยอะมาก 

อีกทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่และภาษาที่ใช้ในท้องที่ นอกเหนือจากประเทศสปป.ลาวแล้ว ก็รัฐฉานของเมียนมานี่แหละ ที่เป็นสถานที่นอกประเทศไทยที่มีความใกล้เคียงกับไทยเรามากที่สุดในโลกครับ
        
รัฐฉานตอนใต้ เมืองเอกของรัฐคือเมืองตองจี และอีกหลายๆ เมืองที่มีเอกลักษณ์ เป็นเมืองของชาวไทยใหญ่ หรือคนไตที่มีอยู่หลากหลายเผ่าพันธุ์มากอาศัยอยู่ที่นี่ อาทิเช่น คนไตหลวง ไตยอง ไตหนอง ไตเขิ่น ไตลื่อ ฯลฯ นอกจากนี้แรงงานเมียนมา ที่เข้ามาทำงานทางแถบภาคเหนือของเรา ส่วนใหญ่มักจะเป็นพี่น้องชาวไต หรือมาจากรัฐฉานเสียเป็นส่วนใหญ่

ที่มาจากรัฐอื่นๆ ที่เป็น “บะม่า” หรือชาวเมียนมาที่มีเชื้อสายเมียนมา จึงมีสัดส่วนน้อยกว่าชาวไตมาก ดังนั้นคนไทยทางภาคเหนือจึงนิยมไปท่องเที่ยวกันมาก ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่า คำถามถึงรัฐฉานส่วนใหญ่ จึงมาจากแฟนคลับทางภาคเหนือของเราครับ
         
รัฐฉานตอนใต้ ถ้าจะเดินทางไปจากประเทศไทย ก็สามารถไปได้หลากหลายช่องทาง แต่ต้องบอกก่อนนะครับว่า ปัจุบันนี้สถานการณ์ความเรียบร้อยของบ้านเมืองเขา ยังไม่สงบ จึงไม่น่าจะเข้าไปตอนนี้ได้ แม้ชายแดนไทย-เมียนมาจะมีการเปิดด่านแล้วก็ตาม ผมจึงไม่ขอแนะนำให้เข้าไปช่วงนี้ครับ แต่ถ้าอยากจะเข้าไปจริงๆ อดใจไม่ไหวแล้ว ก็เข้าไปได้ แต่ก็มีเพียงช่องทางเดียวเท่านั้น คือไปทางเครื่องบิน แล้วใช้เครื่องบินโดยสารจากกรุงย่างกุ้ง บินตรงเข้าไปถึงรัฐฉานตามเมืองต่างๆ ได้เลย 

สนามบินในรัฐฉานมีอยู่ทั้งหมด 4 สนามบินด้วยกันคือ สนามบินเฮโฮ สนามบินลาซิล สนามบินเชียงตุง และสนามบินท่าขี้เหล็ก ส่วนรัฐฉานตอนใต้ ท่านก็สามารถนั่งเครื่องไปลงที่สนามบินเฮโฮได้เลย จากนั้นถ้าจะไปเมืองตองจี ก็จับรถที่สนามบินเข้าไปประมาณไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ก็ได้ขึ้นเขาไปที่เมืองตองจีได้เลยครับ 

ที่รัฐฉานตอนใต้ ถ้าจะเดินทางโดยรถยนต์ จากท่าขี้เหล็กฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สาย ระยะทางเพียง 480 กิโลเมตรเท่านั้น ถนนเส้นนี้จะเป็นเส้นทางที่มีถนนที่ดีที่สุด ของการเดินทางเข้าไปสู่รัฐฉานจากประเทศไทย แต่ท่านไม่ต้องคาดหวังว่าที่ผมบอกว่าดีที่สุด จะเหมือนถนนไปต่างจังหวัดของประเทศไทยเรานะครับ เพราะถนนที่นี่ย่ำแย่มาก  

เป็นถนนสองเลนลาดยางตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองนั่นแหละครับ หรือจะเข้าทางช่องทางจังหวัดเชียงใหม่ ด้านด่านบ้านอรุโณทัย อำเภอเชียงดาวก็ได้ แต่ถนนแย่หนักกว่าเส้นที่ว่าเยอะ ด่านอำเภอฝางก็มี แต่เป็นด่านชายแดนชั่วคราว ไม่น่าจะเข้าไปได้ครับ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็มีเหมือนกัน แต่ก็ไม่แนะนำครับ เพราะที่กล่าวมาทุกด่าน นอกจากด่านอำเภอแม่สายที่เป็นด่านถาวรแล้ว ส่วนใหญ่จะยังคงเป็นด่านชายแดนชั่วคราว ดังนั้นจะมีเพียงแรงงานเมียนมา ใช้เป็นเส้นทางในการเดินทางหลบเลี่ยงเข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยเรานั่นแหละครับ
         
เมืองที่น่าท่องเที่ยวสำคัญๆ ของรัฐฉานตอนใต้ ก็เมืองตองจีละครับ เพราะจะมีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ แน่นอนว่าถ้าไปท่องเที่ยวที่นั่น ที่ขาดไม่ได้เลยคือที่ทะเลสาบอินเล อันเลื่องชื่อนั่นเอง ซึ่งผมเองก็เคยเขียนเรื่องทะเลสายอินเลมาแล้วสอง-สามครั้ง ครั้งนี้คงไม่ขอบรรยายมากนะครับ เอาแค่คร่าวๆ ก็พอ เดี๋ยวท่านจะเบื่อ !! 

การมาที่นี่นอกจากนั่งรถเข้ามาทางชายแดนแล้ว หากสถานการณ์ปกติ ก็ยังมีรถโดยสารระดับ VIP ที่ออกมาจากกรุงย่างกุ้งทุกวัน แต่ใช้เวลาการเดินทางนานพอสมควร คือต้องนั่งรถมาทั้งคืน แต่ถ้ามาทางเครื่องบิน จะสะดวกมากใช้เวลาแค่ชั่วโมงเศษก็ถึงแล้ว โดยเครื่องบินจะบินมาลงที่สนามบินเฮโฮเลย 

เมื่อเรานั่งรถออกจากสนามบินเฮโฮ ไปถึงระหว่างทางจะถึงสามแยก ถ้าเลี้ยวซ้ายก็จะไปเมืองตองจี ถ้าเลี้ยวขวาเข้าไปอีกครึ่งทาง จากนั้นจะเข้าสู่เมือง Nyaung Shwe แล้วจึงต่อเรือหางยาวเข้าสู่หมู่บ้านที่อยู่ในทะเลสาบ คราวนี้ก็จะเป็นไปตามแผนของแต่ละท่านแหละครับว่าจะเที่ยวแบบไหน จะเชิงอนุรักษ์ ก็มีธรรมชาติและทะเลสาบ ซึ่งอยู่ต่อหน้าให้ชม หรือจะเชิงวัฒนธรรมก็มีวัดวาอารามและเจดีย์เยอะแยะครับ 

ส่วนสินค้าที่เป็นที่ขึ้นชื่อของทะเลสาบอินเล นอกจากสินค้าหัตถกรรม อันได้แก่ ผ้าทอจากใยบัว และเครื่องเงิน ที่นับว่าเป็นสิ่งที่ชาวเมืองเขาได้อนุรักษ์เอาไว้ ซึ่งผ้าทอจากใยบัว เขาจะนำเอาก้านดอกบัวมาหัก แล้วดึงออกจากกัน ก็จะมีใยของบัวที่เหนียว เมื่อได้ใยบัวเหล่านั้นออกมาจากก้าน เขาก็จะปั่นรวมให้เป็นเส้นด้าย แล้วจึงนำมาทอเป็นผืนผ้า สนนราคาของผ้านี้ไม่ได้ถูกเลย เพราะมันทำยาก กว่าจะได้เส้นใยบัวแต่ละเส้น แล้วทอออกมาเป็นผืนผ้าก็แสนยากลำบาก 

สำหรับผมแล้ว ผมไม่ค่อยนิยมชมชอบเท่าไหร่ เพราะนอกจากความยากลำบากในการที่จะผลิตออกมาแล้ว เนื้อผ้าเองก็ใช้มือสัมผัสจะออกแข็งๆ กระด้างไปนิด ถ้าจะใช้มานุ่งห่ม ซึ่งคนขายเขาบอกว่า จะดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่สำหรับผมแล้วก็เหมือนไก่ได้พลอยละครับ เพราะผมไม่ค่อยจะรู้คุณค่าของผ้านี้เท่าไหร่ครับ 

สินค้าการเกษตรอีกตัวหนึ่ง ที่ขึ้นชื่อของที่นี่ คือมะเขือเทศครับ ทุกวันจะมีเกษตรกร บรรทุกมะเขือเทศใส่เรือออกมาขายที่เมือง Nyaung Shwe แถวๆ ท่าเรือที่เราจะลงเรือเข้ามาที่ทะเลสาบ ก็จะเห็นร้านรับซื้อมะเขือเทศ (ที่บ้านเราเรียกว่า “หยง” นั่นแหละครับ) มากมายหลายแห่ง แต่ละแห่งก็จะกองมะเขือเทศที่ยังห่ามๆ อยู่เต็มไปหมด  แล้วจึงทยอยส่งต่อไปขายตามเมืองต่างๆทั่วประเทศ จะเห็นว่าอาหารเมียนมา ที่ใช้มะเขือเทศเป็นส่วนประกอบเยอะมากๆ ดังนั้นวัตถุดิบที่ใช้จึงมาจากที่นี่เสียเป็นส่วนใหญ่ละครับ 
      
สำหรับตัวเมืองตองจี และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ผมเองก็เคยเขียนมาแล้วหลายครั้งเช่นกัน เอาเป็นว่าครั้งนี้ผมขออนุญาตผ่านนะครับ จะได้ไม่ต้องเบื่อผมเสียก่อนครับ