ปี่กลองของการเลือกตั้งในเมียนมา เริ่มดังแล้ว

09 เม.ย. 2566 | 21:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 12:48 น.

ปี่กลองของการเลือกตั้งในเมียนมา เริ่มดังแล้ว คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากที่ท่านพลเอก อาวุโส เมียน อ่อง หล่าย ได้ออกมาพูดในวันกองทัพครั้งที่ 76 ของประเทศเมียนมา ในวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ปี่กลองของการเลือกตั้งในประเทศเมียนมา เริ่มต้นส่งเสียงออกมาแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับประเทศในอาเชียนอีก สองประเทศคือที่ประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ที่กำลังจะได้มีการการเลือกตั้งในเร็ววันนี้ แม้ว่าประเทศเมียนมา จะยังไม่แน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่ก็น่าจับตาดูอย่างใกล้ชิดนะครับ 

เหตุผลที่ผมเห็นว่าน่าสนใจว่าจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่นั้น เพราะว่าหากเกิดขึ้นจริง นี่หมายความว่า สัญญาณแห่งความสงบเรียบร้อยภายในภูมิภาคอาเชียนของเรา น่าจะใกล้จะเป็นจริงแล้ว เพราะต้องไม่ลืมว่า ประเทศเมียนมาเป็นประเทศที่มีภูมิรัฐศาสตร์ ที่สำคัญยิ่งของภาคพื้นนี้ อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเมียนมา ก็เป็นที่จับจ้องตาเป็นมันของหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งของเอเชียและของประเทศฝั่งตะวันตกด้วย

อีกทั้งประเทศเมียนมาเอง ก็มีชายแดนติดกับประเทศไทยเรายาวถึง 2,408 กิโลเมตร ถ้าหากเขายังคงไม่มีความสงบเรียบร้อยอยู่ แน่นอนว่าอาจจะต้องส่งผลถึงเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างไทยเราแน่นอน เพราะในช่วงที่ผ่านมา ตัวเลขการค้าของชายแดนไทย-เมียนมา มีตัวเลขมาเป็นอันดับสอง รองจากตัวเลขการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียเลยครับ

ผมได้มีโอกาสสอบถามกับเพื่อนชาวเมียนมา ถึงความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการเลือกตั้งจริงหรือไม่อยู่หลายท่าน ซึ่งแต่ละท่านก็เสียงแตกกันออกเป็นสามฝ่าย ฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาลทหารเมียนมา ก็จะบอกว่าไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริง ส่วนคนที่เอนเอียงมาทางฝากฝั่งรัฐบาลทหาร ก็จะบอกว่าการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้แน่ๆ เพราะรัฐบาลของเมียนมาเอง ก็มีความตั้งใจที่จะจัดการเลือกตั้งไว้นานแล้ว

คนที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ทำธุรกิจที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับภาครัฐบาล ซึ่งเป็นกลุ่มที่เห็นว่าสมัยที่เป็นประชาธิปไตยในเวลาสั้นๆ นั้น มีความยุ่งยากและจุกจิกมากในการค้า-การลงทุน จะขยับตัวไปทางไหนก็ลำบาก ในขณะที่ช่วงที่รัฐบาลทหารเข้ามาบริหารประเทศ การติดต่อขออนุญาตอะไรก็ไม่ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย สะดวกกว่ากันเยอะ

อีกประการหนึ่งเนื่องจากระยะนี้ เพิ่งจะผ่านพ้นภาวะโรคร้ายโควิดระบาดมาไม่นาน พอประเทศเมียนมาถูกแซงชั่นจากประเทศตะวันตก ทำให้นักลงทุนจากประเทศยักษ์ใหญ่ เกรงกลัวไม่กล้าเข้ามาลงทุน และเกิดสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่งทำให้ไม่มีคู่แข่งที่น่ากลัว ที่เป็นทั้งคนภายในประเทศและนักลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้คนรวยที่มีใจกล้าพอในการทำธุรกิจ ก็จะเกิดประโยชน์กับเขา นี่ก็เป็นการมองต่างมุม ที่มองวิกฤติให้เป็นโอกาสครับ ก็แล้วแต่จะคิดละครับ

ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ว่าจะมีการเลือกตั้งในปีนี้ เขาก็ให้เหตุผลว่า รัฐบาลเพิ่งจะมาเริ่มตื่นตัวในการจัดการเลือกตั้งใหม่ และเพิ่งจะดำเนินการเดินสำรวจสำมะโนประชากร คงไม่น่าจะทำเสร็จในเร็วๆ วันนี้ได้ เพราะประเทศเมียนมาไม่เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เพราะเขายังมีชนชาติพันธุ์อีกเยอะมาก และที่ยังมีความไม่สงบตามชายแดนของประเทศอีกมาก รวมทั้งการคมนาคมไม่ได้สะดวกเหมือนประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ดังนั้นการทำการสำรวจมะโนประชากร ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ คงต้องใช้เวลาเยอะมาก

นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาล จะใช้เป็นข้ออ้างในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปก็เป็นได้ ส่วนจะเลื่อนออกไปเป็นเมื่อไหร่นั้น เขาก็ไม่แน่ใจว่าอีกสองปีจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือเปล่า? หรือถ้าจะจัดการเลือกตั้งได้จริงๆ ก็จะไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างที่รัฐบาลทหารคาดหวังก็ได้ หรืออาจจะเป็นเหตุทำให้เกิดความไม่สงบภายในต่อเนื่องอีกก็เป็นได้ นี่ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่งครับ

ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่ง ก็มองว่าสถานการณ์ปัจุบันนี้ ยังมีความวุ่นวายในภาคพื้นที่ชายแดนของเมียนมาอยู่ รัฐบาลทหารยังคงต้องดำเนินการจัดการอีกระยะหนึ่ง อีกทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในวันนี้ รัฐบาลยังจะต้องจัดสรรงบประมาณ ออกมาจัดการเลือกตั้งอีก ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าจะมีเงินทองมากพอ และยิ่งไปกว่านั้น วันนี้กลุ่มเคลื่อนไหวจากภายนอกประเทศ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ ดังนั้นก็เป็นอีกหนึ่งมุมมอง ที่ทำให้เขาไม่เชื่อว่าจะมีการหักพล่าด้วยเข่า รัฐบาลทหารเมียนมา อาจจะเลือกวิธีการยืดเวลาการเลือกตั้งออกไปอีกก็ได้

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เป็นกลุ่มที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างใครหรืออยู่ข้างฝ่ายไหน กลุ่มนี้ก็มีอีกหนึ่งมุมมอง เพราะเขาเห็นว่า ในเวทีการทูตระหว่างประเทศ แม้รัฐบาลที่เก่งกาจอย่างไร? รัฐบาลก็ไม่มีทางเลือกที่จะไม่จัดการเลือกตั้ง เพราะหากยังยืดเวลาออกไปอีก ประเทศที่น่ากระอักกระอ่วนที่สุด น่าจะเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางสนธิสัญญาต่างๆ กับประเทศเมียนมา เพราะจะให้การสนับสนุนก็เกรงใจชาติตะวันตก ไม่สนับสนุนก็เกรงใจรัฐบาลทหารเมียนมา ดังนั้นมีทางเดียว คือคงจะต้องมีการช่วยเหลือให้เมียนมา สามารถจัดการเลือกตั้งให้ได้ เพราะนั่นหมายถึงสันติภาพในประเทศเมียนมา ได้เริ่มตั้งไข่ขึ้นมาแล้วนั่นเอง ก็แล้วแต่มุมมองนะครับ

โดยส่วนตัวผมเอง แน่นอนว่าเราเป็นประชาชนชาวเพื่อนบ้าน เราก็อยากเห็นความสงบสุข บังเกิดแก่ประเทศเมียนมา เพราะนั่นจะทำให้เราสามารถเริ่มปรับโหมดการทำงานได้ใหม่อีกครั้ง การค้า-การลงทุนที่ไทยร่วมกับประเทศเมียนมา ก็มีมากมิใช่น้อย เราต้องคำนึงถึงตัวเลขการค้าชายแดน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้รับมาจากการสนทนาในครั้งนี้ ก็เป็นเพียงการสนทนาในสภากาแฟเท่านั้น จะเป็นจริงแค่ไหน ไม่สามารถยืนยันได้จริงๆ ครับ