ในช่วงปี พ.ศ. 2500 ต้นๆ จนถึงในยุคของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศในนโยบาย 66/2523 (ซึ่งนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจากคำสั่งคณะรัฐมนตรีสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์) เป็นช่วงที่การต่อสู้กับการรุกเข้ามาของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่รุนแรงและเข้มข้นที่สุด ตัวผมเองก็ได้ไปอาศัยอยู่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ที่ล่อแหลมมาก เพราะรอบๆ อำเภอเชียงของหลายหมู่บ้าน ก็เป็นพื้นที่ ที่มีพลพรรคคอมมิวนิสต์ได้ใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการอยู่
จำได้ว่า “ดอยหลวง” ที่อยู่ด้านหลังของตลาดเชียงของ เลยออกไปทางบ้านหัวเวียง ผ่านหมู่บ้านของจีนฮ่ออพยพไปไม่ไกลจะเป็นหมู่บ้านทุ่งทราย ก็มีการปฏิบัติการของกลุ่มชาวเขาเผ่าแม้ว ที่เป็นพลพรรคคอมมิวนิสต์อาศัยอยู่ วันดีคืนร้าย เราก็จะได้ยินเสียงปืนใหญ่ เสียงระเบิดที่เกิดจากการต่อสู้จากทหารฝ่ายปราบปรามกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายอยู่เป็นประจำ
กลุ่มทหารก๊กหมินตั๋ง สมาชิกที่อาศัยอยู่ในค่ายอพยพของชาวจีนฮ่อนี้ ผมก็คุ้นเคยอยู่กับเขามานาน โดยเฉพาะมีอยู่ท่านหนึ่ง ท่านเป็นนายทหารยศพันเอกของกองพล 93 พรรคก๊กหมินตั๋ง ท่านมีชื่อว่า “พันเอก เฉิน เหมา ซิว” ท่านเป็นเพื่อนรักกับพี่เขยผม ที่สื่อสารภาษาจีนฮ่อได้อย่างดีเยี่ยม จึงสนิทสนมกับท่าน บางครั้งที่ท่านลงมาจาก “ฐานดอยผาตั้ง” ท่านก็มักจะมานอนที่บ้านพี่เขยผมเป็นประจำ ที่บ้านพี่เขยผมเปิดเป็นร้านขายของชำ เพื่อส่งออกไปที่ลาว ชื่อร้าน “จังเลี่ยงฮง”
แต่ต่อมาท่านพันเอก เฉิน เหมา ซิว ได้เข้ามาเปิดร้านขายยาอยู่ที่ในตลาดเชียงของ จึงไม่ได้มานอนที่บ้านของพี่เขยผม ทุกครั้งที่ท่านมาพักที่บ้านพี่เขย เวลากลางคืนก่อนนอน ท่านก็จะเล่าถึงวีรกรรมที่สู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์ให้ฟังเสมอ อีกทั้งชอบให้พวกเราเด็กๆ จับต้องปืนหลากหลายชนิดของท่าน เราเป็นเด็กก็มองท่านเป็นฮีโร่ประจำใจตลอดครับ ยิ่งช่วงที่เกิดการสู้รบที่หมู่บ้านหก ที่ห่างจากตัวอำเภอเชียงของ ไปทางอำเภอเทิงประมาณ 50 กิโลเมตร
ซึ่งต้องบอกว่าเป็นตลาดเล็กๆ แห่งหนึ่ง ด้านหลังของตลาดก็เป็นภูเขา ถ้าจำไม่ผิดคือ “ดอยชมภู” วันนั้นทางพลพรรคคอมมิวนิสต์บุกเข้ามาที่ตลาด เพื่อหวังจะสังหารพันเอกเฉิน เหมาซิว ท่านเล่าให้ฟังว่า ผู้ก่อการร้ายหลายสิบคน บุกเข้ามาล้อมบ้านที่ท่านนอนพักอยู่ ท่านคว้าปืนขึ้นมาวิ่งไปที่หน้าต่าง ส่องออกไปดูตามช่อง เห็นเงาผู้ก่อการร้ายเต็มไปหมด ท่านจึงยิงสวนออกไป
การต่อสู้เป็นไปอย่างเข้มข้น จนกระทั่งฟ้าสาง ผู้ก่อการร้ายจึงล่าถอยกลับไป ส่วนท่านไม่ได้รับบาดเจ็บ ท่านเล่าว่า ท่านใช้วิธีวิ่งไม่อยู่กับที่ เอาปืนวางไว้ตามจุดต่างๆ แล้วจึงวิ่งไปคว้าปืนตามจุดที่วางไว้ แล้วยิงโต้ตอบกันตลอดเวลา ทำให้ผู้ก่อการร้ายไม่รู้ว่ามีกำลังอยู่กี่นาย จึงไม่กล้าบุกเข้าไปในบ้าน เพราะคงจะสืบทราบถึงประวัติของท่านมาแล้วอย่างดี จึงไม่กล้าจะลุยนั่นเองครับ
กองกำลังของพลพรรคก๊กหมินตั๋ง ที่เข้ามาอาศัยเป็นผู้อพยพลี้ภัยสงครามในตามตะเข็บชายแดนไทย มีอยู่หลายหมู่บ้านตลอดชายแดนภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดตาก ไล่ขึ้นไปจนครอบคลุมทุกชายแดนไทย มีทั้งหมดร่วม 40 กว่าหมู่บ้าน ซึ่งในยุคนั้นก็อย่างที่ทราบว่า ภัยจากพรรคคอมมิวนิสต์กำลังจะรุกคืบเข้ามาสู่ประเทศไทย ทำให้รัฐบาลไทยในยุคนั้น ก็ต้องอาศัยกองกำลังกลุ่มนี้ เป็นทหารกันชนอยู่ตามชายแดน เพื่อช่วยเหลือทางรัฐบาลไทยอยู่แบบลับๆ ซึ่งจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ในกองทัพไทย คอยประสานงานกับกองกำลังของกองพล 93 อยู่ครับ
หลังจากที่ผมได้ขึ้นไปเรียนอยู่บนดอยแม่สลองในปี 2515 ซึ่งบนดอยนี้ เปรียบเสมือนฐานกำลังที่ใหญ่ที่สุด ของกองพล 93 พรรคก๊กหมินตั๋ง ที่มีนายพลตวน ซีเหวิน เป็นผู้นำกองทัพอยู่ที่นั่น ผมได้เข้าไปเรียนที่นั่นเป็นนักเรียนรุ่นที่ 7 ของโรงเรียนซินฮัวจงเสียะ (ชื่อไทยคือโรงเรียนบ้านสันติคีรี) เพื่อนร่วมรุ่นผมสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือ กลุ่มลูกหลานจีนฮ่อที่อยู่ตามหมู่บ้านที่มีค่ายอพยพ มาจากเกือบทุกจังหวัดของภาคเหนือ
กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มที่เป็นลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลอย่างพวกเรานี่แหละครับ จะเป็นกลุ่มที่ทางบ้านเปิดร้านขายโชห่วยตามตลาดต่างๆ ทางภาคเหนือของไทยเรา กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลในกรุงเทพฯ ที่พ่อแม่จับส่งไปเรียนที่นั่น ส่วนใหญ่จะมาจากแถบบางปู หัวลำโพง บางกรวยเป็นหลัก และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มลูกหลานชาวจีนฮ่อที่มาจากพม่า หลากหลายเมืองในรัฐฉานครับ
ส่วนผมค่อนข้างจะนอกคอก เพราะมาจากนครราชสีมาคนเดียวโดดๆ เลย จึงต้องทำตัวให้กลมกลืนกับทุกกลุ่ม เรียกว่าจะพูดภาษาจีนฮ่อหรือจีนยูนนาน ผมก็ต้องพูดให้ได้ พูดภาษาเหนือหรือคำเมือง ผมก็ต้องพูดให้ได้ พูดภาษาไทยกลางกับกลุ่มกรุงเทพฯ ผมก็จะพูดให้ได้ ให้เหมือนกับทุกกลุ่ม ต้องทำตัวให้เขารับผมเป็นพวกให้ได้ มิเช่นนั้นก็อยู่ยาก หัวเดียวกระเทียมลีบเลยครับ
ในช่วงที่คลุกคลีกันอยู่บนดอย เราก็ได้เห็นวีรกรรมของกลุ่มทหารกลุ่มนี้ตลอด เพราะสิ่งที่เขามุ่งหวัง คือการเข้าไปตีคืนหรือปลดปล่อยมณฑลยูนนานให้ได้ ในช่วงผมอยู่บนดอยในปีแรกๆ ทุกครั้งที่ท่านนายพล ตวน ซีเหวิน กล่าวคำปราศัย ก็มักจะพูดว่าเราต้องนำทัพไปปลดปล่อยประเทศจีนให้ได้ พูดอย่างฮึกเหิมทีเดียว แล้วก็มีการเดินเท้าเข้าไปเพื่อสู้รบ
โดยทุกครั้งที่ทหารหาญเหล่านั้นจะออกเดินทาง โรงเรียนก็จะเกณฑ์ให้เด็กๆ ทุกคน ไปเข้าแถวถือธงโบกสะบัด เพื่อเป็นกำลังใจให้ทหารออกไปสู้รบ ตอนเดินทางไปก็ดูดีหรอก แต่ตอนกลับมานี่สิ เหลือทหารเพียงไม่กี่นาย ก็มะล่อกมะแล่กกลับด้วยอาการบาดเจ็บเป็นแถว ก็....โถ ทหารแค่หยิบมือ ปืนผาหน้าไม้ก็เป็นสมัยโบราณมาก จะไปสู้กับประเทศจีนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ยิ่งใหญ่ เฮ้อ...ได้กลับมาก็ดีแล้วละครับ
ช่วงสองปีสุดท้ายที่ผมอาศัยอยู่บนดอย ท่านนายพลตวน ซีเหวิน ก็เริ่มเปลี่ยนท่าทีจากการบุกไปปลดปล่อยจีน มาเป็นการธำรงรักษาไว้ซึ่งการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนแล้วครับ อีกทั้งในยุคที่ผมอยู่บนดอย เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานชาวจีนฮ่ออพยพ ก็ยังไม่ได้สัญชาติไทยกัน พอสงครามการก่อการร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ กองกำลังกองพล 93 ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญ ในการช่วยเหลือทางราชการไทย ด้วยการส่งกองกำลังเข้าไปช่วยกองทัพไทยสู้รบ ในยุทธภูมิเขาค้อ ซึ่งทำให้ลูกหลานจีนฮ่ออพยพ ได้รับพระราชทานสัญชาติไทยให้เป็นพระกรุณาอย่างล้นพ้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนยูนนาน มิอาจลืมเลือนเลยครับ
อาทิตย์หน้าผมจะเล่าถึงยุทธภูมิเขาค้อ ที่บรรดาทหารแก่ ได้ไปทิ้งชีวิต เพื่อปกป้องพื้นดินไทยไว้ และสิ่งที่เขาได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เป็นการตอบแทนคุณงามความดีนี้ครับ