ไทยติด TOP 5 "ขยะในทะเลมากสุด"

14 พ.ค. 2560 | 10:15 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2560 | 17:15 น.
วิกฤตขยะยังคงเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขอย่างจริงจัง ล่าสุดไทยติด TOP 5 ประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุด โดยสถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศไทยขณะนี้มีกว่า 27 ล้านตัน มีขยะประมาณ 10 ล้านตันที่ตกค้างสะสมอยู่ในสถานที่กำจัดขยะหรือไหลลงสู่แหล่งน้ำ หรือนี่อาจเป็นสัญญาณที่ใกล้จะถึงจุดจบของทะเลไทย!

ทะเลไทย

 

ไทยติดโผ 5 อันดับโลก ขยะล้นทะเล
ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนักที่ประเทศไทยได้ขยับอันดับปัญหาทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดจากอันดับ 6 ขึ้นมาเป็นอันดับ 5 ของโลก แซงประเทศศรีลังกา

จากผลการสำรวจปริมาณขยะทะเลทั่วโลก โดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย พบว่า อันดับ 1 คือ จีน อันดับ 2 อินโดนีเซีย อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ อันดับ 4 เวียดนาม อันดับ 5 ไทย และอันดับ 6 ศรีลังกา

โดยไทยมีประชากรน้อยกว่าอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่กลับมีปริมาณขยะในทะเลมากกว่า 1 ล้านตัน จึงเสี่ยงต่อการถูกกลุ่มประเทศยุโรปกดดันไทยในลักษณะเช่นเดียวกับการทำประมงผิดกฎหมาย หรือไอยูยู

ไอยูยู
ปัญหาขยะทะเลไม่เพียงแต่บดบังทัศนียภาพน่านน้ำไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายให้กับชีวิตใต้ท้องทะเล เพราะขยะทะเลไม่สามารถย่อยสลายในลักษณะเดียวกับขยะบก อีกทั้งยังลอยน้ำไปได้ไกลถึงทะเลของประเทศอื่นๆ รวมถึงคร่าชีวิตสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะลูกโลมาและเต่าทะเลไทยที่เสียชีวิตจากพลาสติกไปปีละกว่า 100 ตัว

 

ขณะที่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เปิดเผยผลการศึกษาขยะทะเลโดยจำแนกปริมาณขยะในท้องทะเลเป็นรายประเภท พบว่าอันดับ คือ 1 ถุงพลาสติก 14,977 ชิ้น อันดับที่ 2 หลอดจากเครื่องดื่ม 11,579 ชิ้น อันดับที่ 3 ฝาจุก 9,800 ชิ้น อันดับที่ 4 ภาชนะบรรจุอาหาร 9,276 อันดับ 5 เชือก 7,057 ชิ้น อันดับที่ 6 บุหรี่/ก้นกรองบุหรี่ 6,388 ชิ้น อันดับที่ 7 กระป๋อง 6,276 ชิ้น อันดับที่ 8 กระดาษ 5,861 ชิ้น อันดับที่ 9 โฟม 5,614 ชิ้น อันดับที่ 10 ขวดแก้ว 2,404 ชิ้น

2404
ภัยร้ายจากไมโครพลาสติก
องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญเรื่องไมโครพลาสติกมาก เพราะไมโครพลาสติกเกิดจากขยะในทะเล มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พลาสติกที่ลอยในน้ำนานๆ จะเกิดการสลายตัวกลายเป็นเศษพลาสติกขนาดจิ๋วที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร จนถึงขนาดที่สายตามองไม่เห็นในระดับ 1 นาโนเมตร หรือไมโครพลาสติก

 

ในระยะ 10 ปี ที่ผ่านมา นักวิจัยทั่วโลกเริ่มพบว่าไมโครพลาสติกเข้าไปอยู่ในแพลงตอนได้ ก็ย่อมเข้าไปอยู่ในปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ ที่กินแพลงตอนได้เช่นกัน และเมื่อเรารับประทานปลาหรือสัตว์ทะเลอื่นๆ ไมโครพลาสติกก็จะเข้าไปอยู่ในร่างกาย อย่างไรก็ตามงานวิจัยก็ยังไม่ระบุว่าจะส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่กระบวนการย่อยสลายก็ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งการสะสมของพลาสติกอาจมีสารเจือปน นั่นย่อมไม่ใช่เรื่องดีแน่นอน

 

ก่อนหน้านี้อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามในการห้ามใช้ microbead เม็ดพลาสติกขนาดเล็กซึ่งนิยมใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสำอางโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ครีมขัดผิว และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่รวมถึงยาสีฟัน

 

นับเป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาดมาก เพื่อการแก้ปัญหาและเพิ่มความปลอดภัยสำหรับน้ำ เพราะว่าจากสถิติเฉพาะสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียวเท่านั้นมีปริมาณของเม็ดพลาสติก Microbead ขนาดเล็ก ๆ กว่า 8 ล้านล้านชิ้น ถูกปล่อยลงสู่แหล่งน้ำในทุกๆ วัน สร้างสารเคมีสะสมแก่ปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำ อันเป็นอันตรายสำหรับผู้คนที่อาจบริโภคปลาเหล่านี้เข้าไป นอกจากนั้นยังมีการตรวจพบว่ากว่า 90% ของจำนวนนกทะเลยังมีสารพิษจำพวกนี้ปะปนอยู่ในร่างกายอีกด้วย

 

แก้ปัญหาฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว
ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญในเรื่องของการจัดการปัญหาขยะในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทย รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งและหมู่เกาะต่างๆ

 

ล่าสุด ททท. ร่วมกับ พีทีที โกลบอล เคมิคอล และ มูลนิธิอีโคอัลฟ์ ประเทศสเปน จัดตั้งโครงการ UPCYCLING THE OCEANS, THAILAND ซึ่งเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีการดำเนินโครงการนี้ เพื่อลดปริมาณขยะในทะเลและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ด้วยการรณรงค์ให้ช่วยกันเก็บขยะขวดพลาสติกใส หรือขวด PET และขยะจากพลาสติกโพลิเอทิลินในทะเลตลอดจนพื้นที่ชายฝั่ง มาแปรรูปในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ด้วยนวัตกรรมการผลิตเป็นใยสังเคราะห์ และออกแบบเป็นเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่นที่มีมูลค่า โดยมีพื้นที่เป้าหมายคือ เกาะเสม็ด เกาะเต่า และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งคาดว่าจะเป็นการลดปริมาณขยะ และสามารถฟื้นฟูทะเลไทยได้อย่างยั่งยืน

 

อีกทั้ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็กำลังพิจารณาว่าจะจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมหรือไม่เพื่อลดปริมาณขยะย่อยสลายยากเหล่านี้ เพราะปัญหาเหล่านี้คงไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง หรือองค์กรใดเพียงองค์กรเดียวที่จะฟื้นฟูให้ทะเลไทยหลุดพ้นจากประเทศที่มีขยะในทะเลมากที่สุด เพราะปัญหาขยะไม่ได้เกิดจากใครคนเดียว ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ซึ่งหากสถานการณ์ยังเลวร้ายลงเรื่อยๆ อีกไม่นานทะเลไทยคงถึงจุดจบเป็นแน่!