การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ 2568 ของการยางแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566- 2570 (ฉบับทบทวนเพื่อใช้ปี พ.ศ. 2568) ภายใต้วิสัยทัศน์ “บริหารยางพาราเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” โดยมีตัวชี้วัดขององค์กร ได้แก่ รายได้เกษตรกรชาวสวนยางไม่น้อยกว่า 15,675 บาท/ไร่, มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ ยางพาราเพิ่มขึ้นเป็น 600,000 ล้านบาท
นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงสถานการณ์ราคายางพารา นับตั้งแต่มารับหน้าที่ประธานบอร์ด บริหารยางพาราของประเทศช่วง 14 เดือนที่ผ่านมาว่า สามารถสร้างมูลค่ายางพาราในประเทศ ได้กว่า 9.1 หมื่นล้านบาท มีผลสืบเนื่องจากนโยบายทำสงครามปราบปรามการลักลอบนำเข้ายางพาราผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคายางทุกชนิดปรับตัวยกแผง โดยยางทุกชนิดมีส่วนต่างเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.37-23.45 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ กยท. กำลังยกระดับการปราบปรามยางเถื่อนให้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งจะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพต่อเนื่อง
“ล่าสุดในแผนปฏิบัติการปี 2568 ภายใต้วิสัยทัศน์ “บริหารยางพาราเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ออกเป็น รายภาค โดยภาคเหนือ เป็น “ยางก้อนถ้วย” ภาคใต้ เป็น “นํ้ายางสด” และภาคตะวันออก เป็นชนิด “ยางแผ่นดิบ” สาเหตุที่กลับมาฟื้นฟูในเรื่องยางแผ่นดิบ เพราะโรงงานในประเทศ มีความเดือดร้อน ผลผลิตไม่เพียงพอ
“ทาง กยท.ได้จัดทีมลงเข้าไปรื้อฟื้นในการทำยางแผ่นดิบ โดยเข้าไปส่งเสริมสถาบันเกษตรกรมากขึ้น ถ้ายางแผ่นดิบไปได้ ก็ไม่ต้องนำยางแผ่นไปรมควัน แต่ถ้าตลาดต้องการยางแผ่นรมควันก็ค่อยทำ เพราะเกษตรกรจะได้มีทางเลือก บวกกับเทคโนโลยีที่จะมาบริหารยางได้มีระบบมากขึ้น ทำตามลูกค้าในภาคนั้นๆ เช่น ยางภาคเหนือมีมาก ราคาถูก ก็ย้ายไปขายภาคอีสาน เป็นต้น จะทำให้ราคายางทั้งประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น”
นายเพิก กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีบริษัทใหญ่ที่มีความพยายามจะทำให้ราคายางตกตํ่าลงโดยตลอดเวลา เพื่อต้องการของถูกไปทำกำไร แต่ กยท.ก็สู้ดันราคาไม่ยอมให้ราคาปรับลงได้ง่าย เพราะในเชิงบริหารมีตัวเลขแจ้งในเรื่องสต๊อกปริมาณยางทั้งระบบ ขณะที่วันนี้ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ มาช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง เช่น ถ้าในตลาดไม่มีผู้ค้าเข้ามาประมูล จะต้องทำอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้กระดานว่าง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ต้องกล้าตัดสินใจโดยฉับพลันอย่างแม่นยำ รวดเร็ว ให้ทันเกมผู้ค้า
อย่างไรก็ดีจากนํ้าท่วมภาคใต้ ได้มีการประเมินเสียหายสิ้นเชิงมากกว่า 2 หมื่นล้านบาท มีผลทำให้ราคายางปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะนํ้ายางสด ณ หน้าโรงงาน (16 ธ.ค. 2567) ราคาอยู่ที่ 75 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ใกล้เคียงกับราคายางแผ่นรมควัน ราคา 76.19 บาท/กก. ทำให้คู่ค้าเร่งซื้อตุน เพราะกลัวของจะขาด ขณะที่ในสัปดาห์หน้าโรงงานจะทยอยหยุดยาวในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่
“เบื้องลึกผลคะแนนการประเมิน กยท. ในอดีต การบริหารที่ทำให้คะแนนดี มาจากการจัดซื้อจัดจ้าง แต่อีกด้านเป็นผลลบ ทำให้ค่าใช้จ่ายบวม ดังนั้นผมไม่สนใจคะแนนวัดผลประเมิน เราต้องใช้เม็ดเงินให้คุ้มค่ามากที่สุด อย่ามีรายได้จากงบประมาณ นี่เป็นคำพูดที่ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีเกษตรฯให้นโยบายมาโดยตลอด และที่สำคัญ การยางแห่งประเทศไทยจะย้ายที่ทำการ และหาสำนักงานใหม่คาดจะใช้งบ 1,500 ล้านบาทในการดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันสำนักงานเช่าที่ธนารักษ์ และค่าเช่าขึ้นตลอด” นายเพิก กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,054 วันที่ 19 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2567