ย้อนรอย 20 ปี‘ต้มยำกุ้ง’

01 ก.ค. 2560 | 23:58 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2560 | 12:11 น.
2 กรกฎาคม 2540 ที่ทำให้ไทยต้องสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จให้แก่ไอเอ็มเอฟ เพื่อแลกกับเงินกู้ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำไปสู่การ “ลอยตัว” ค่าเงินบาท

วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 คือวันที่ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากธนาคารแห่งประทศไทย (ธปท.) พ่ายแพ้ต่อ นายจอร์จ โซรอส พ่อมดการเงินระดับโลก และพรรคพวก ที่เข้าโจมตีค่าเงินบาท มาตั้งแต่ต้นปี 2540

ผลจากความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปมากกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนเงินทุนสำรองร่อยหรอเหลือเพียงแค่ 2,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) จำนวน 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การขอรับความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียเอกราชทางเศรษฐกิจแบบเบ็ดเสร็จ ไทยต้องทำ Letter of Intend ซึ่งเป็นหนังสือผูกมัดให้ไทยต้องทำตามคำสั่งของไอเอ็มเอฟ เพื่อแลกกับเงินกู้ในแต่ละงวด

“Letter of Intend เป็นเพียงแค่ใบปะหน้า ที่บอกเพียงกว้างๆว่า เราต้องทำอะไรบ้าง แต่ที่หนักกว่าคือ Side Letter of Intend ที่หนักกว่าและเข้มงวดกว่าหลายเท่า ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเป็นเรื่องอะไร”

ต้มยำกุ้งปี 2540 ไม่ใช่วิกฤติทางเศรษฐกิจแรกที่ไทยเคยเผชิญ แต่เป็นวิกฤติที่หนักหนาสาหัสที่สุด เป็นวิกฤติ 2 ขา คือทั้งการเงิน และการคลัง ที่ต่างจากวิกฤติครั้งก่อนๆที่จะวิกฤติเพียงด้านเดียว เช่น ในปี 2522-2525 ไทยเผชิญวิกฤติราคานํ้ามัน หรือ Oil Shock ถัดมาในปี 2526-2528 เผชิญวิกฤติทรัสต์ล้ม และลดค่าเงินบาท

22187501_s สาเหตุวิกฤติต้มยำกุ้งมาจาก 1.ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสม ตั้งแต่ ปี2530-2539 สูงถึง 14,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯควบคู่กับการขาดดุลการค้า ขาดดุลงบประมาณ 2. หนี้ต่างประเทศสูงถึง 109,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 3.การลงทุนเกินตัว ก่อให้เกิดฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ 4. ประสิทธิภาพสถาบันการเงินอ่อนแอ 5. การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด 6.การโจมตีค่าเงินบาทของ จอร์จ โซรอส เจ้าของกองทุนเก็งกำไร Quantum

ผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือจำนวนมาก ไทยต้องปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง จากทั้งหมด 58 แห่ง มีหนี้ดีหนี้เสียโอนไปให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) มากกว่า 8 แสนล้านบาท ธนาคารพาณิชย์เกือบครึ่งถูกเปลี่ยนมือจากสมบัติของทุนไทยไปเป็นของต่างชาติ ที่เหลืออยู่ก็มีกระทรวงการคลังถือหุ้น ตามมาตรการ 14 สิงหาคม 2541

ในขณะที่รัฐบาลต้องรัดเข็มขัด ตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น ตัดงบทุนทุกด้าน การใช้งบประมาณถูกใช้จ่ายอย่างจำกัดจำเขี่ย ต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อหาเงินมาชำระหนี้ ตลอดจนออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ
ภาคเอกชนอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจบ้านจัดสรรปิดกิจการจำนวนมาก พนักงานถูกปลดระนาว หนี้สินท่วมตัว จนต้องเข้าสู่โปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้ มูลหนี้ที่เข้าปรับโครงสร้างหนี้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยปี 2540 ติดลบ 1.4% ก่อนจะติดลบหนักขึ้นในปีถัดมาถึง 10.5% ค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าเท่าตัว ดัชนีหุ้นไทยจาก 1,789 จุด ในปี 2537 ตกลงตํ่าสุดที่ 204 จุดในเดือนสิงหาคม 2541 ทำเอาคนรวยจนกันถ้วนหน้า
ผลกระทบทางการเมืองพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีวันที่ 8 พฤศจิกายน 2540 โดยนายชวน หลีกภัย รับไม้ต่อนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ในวันถัดไป พร้อมหนีบเอา นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นแม่ทัพแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

MP28-75-A ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อภิปรายพาดพิงไปถึงนายโภคิน พลกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในเวลานั้น โดยตั้งข้อสงสัยว่านายโภคิน จะนำมติจากที่ประชุมลับ เรื่องการลดค่าเงินบาท ไปบอก ทักษิณ ชินวัตร ทำให้บริษัทของ ทักษิณได้ประโยชน์

ไทยอยู่ในโปรแกรมไอเอ็มเอฟประมาณ 6 ปี ต่อมา ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศคืนหนี้ไอเอ็มเอฟทั้งหมดก่อนกำหนดเมื่อปี 2546 ถือว่าเป็นการประกาศเอกราชทางเศรษฐกิจ

วันนี้ยังมีคำถามออกมาเป็นระยะๆว่า เศรษฐกิจไทยจะเจอวิกฤติซํ้ารอยปี 2540 หรือไม่ ยังไม่มีใครกล้ายืนยันว่า จะเกิด หรือ ไม่เกิด แต่ที่แน่ๆคือ หากเกิดวิกฤติรอบใหม่ จะเป็นวิกฤติด้านกลับปี 2540 ที่เกิดจาก ฟองสบู่ แต่รอบใหม่จะเป็นภาวะ ชะงักงัน ที่นักเศรษฐศาสตร์บางสำนักใช้คำว่า Slow Death ซึ่งหากเกิดขึ้น จะส่งผลสะเทือนต่อประชาชนทุกกลุ่มทั่วทั้งแผ่นดิน ที่จะไม่จำกัดเฉพาะชนชั้น Elite เหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งที่ครบรอบ 20 ปี วันที่ 2 กรกฎาคม 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,275 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560