"Jude case" ไอเดียแปลกโดนใจตลาด

30 ก.ค. 2560 | 05:31 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ค. 2560 | 07:32 น.
จากความชื่นชอบส่วนตัวต่อรองเท้าแตะ รวมถึงชอบเปลี่ยนเคสโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ และชอบหาธุรกิจใหม่ๆอยู่เสมอได้นำมาสู่การต่อยอดไอเดียความคิดแปลกแหวกแนวให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เคสรองเท้าแตะภายใต้แบรนด์ “Jude case” ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากการแชร์ และส่งต่อกันบนโลกออนไลน์ เสมือนเป็นไวรัสทางการตลาด (Viral Marketing) ดันให้ ลฎาภา ยิ้มละมัย สาวน้อยวัย 26 ปี อดีตสาวแบงก์รัฐกลายเป็นผู้ประกอบการ++จากไอเดียแปลกสู่ธุรกิจ

[caption id="attachment_186398" align="aligncenter" width="335"] ลฎาภา ยิ้มละมัย ลฎาภา ยิ้มละมัย[/caption]

ลฎาภา กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จุดเริ่มต้นของเคสรองเท้าแตะมาจากความคิดที่ว่าหากนำรองเท้าแตะมาทาบอยู่บนใบหน้าคงจะดูเท่ไม่น้อยในสายตาผู้พบเห็น จึงตัดสินใจตัดสายรองเท้าแตะของตนเองเพื่อนำมาติดกับเคสโทรศัพท์ โดยความช่วยเหลือจากคุณแม่ทำให้เคสรองเท้าต้นแบบชิ้นแรกสำเร็จออกมาใช้งาน ซึ่งก็เป็นไปตามคาดเมื่อผู้ที่ได้เห็นต่างให้ความสนใจและถามเป็นเสียงเดียวกันว่าซื้อมาจากที่ใด ทำให้มองเห็นโอกาส และช่องทางในการทำตลาดจากไอเดียดังกล่าว โดยนำโพสต์ลงในอินสตาแกรม (IG) ปรากฏว่ามีลูกค้าสั่งออร์เดอร์เข้ามา และโอนเงินค่าสินค้ามาให้ ซึ่งปัญหาที่ตามมาตอนนั้นก็คือจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากไม่สามารถตัดจากรองเท้าจริงเพื่อนำไปติดบนเคสได้ เพราะสายมีขนาดที่ใหญ่เกินไป

จนสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าต้องหาโรงงานขึ้นรูปสายรองเท้าแตะให้ เพื่อนำมาติดกับเคสโทรศัพท์ที่สั่งเข้ามา จนทางโรงงานยินยอมที่จะผลิตให้ในปริมาณที่ไม่มาก เคสโทรศัพท์ล็อตแรกจึงสำเร็จและสามารถส่งให้กับลูกค้าได้ตามต้องการ หลังจากนั้นจึงมีออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมากกว่า 500 ชิ้นเพื่อนำไปขายต่อ แต่ก็ไม่สามารถผลิตให้ได้ทัน ที่สำคัญปัญหาของผลิตภัณฑ์ในช่วงแรกก็คือ สายรองเท้าแตะที่ติดกับเคสจะหลุดง่ายมาก ทำให้ต้องรับเคลมสินค้าให้กับลูกค้าเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี เมื่อนำปัญหาดังกล่าวไปปรึกษาคุณพ่อที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับร้านป้าย ทดลองคิดสูตรเพื่อผสมกาวที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาเพื่อใช้เอง ซึ่งสามารถทำให้ช่วยลดอัตราการเคลมจากลูกค้าจนกลายเป็นศูนย์ได้ในที่สุด โดยเคสรองเท้าแตะแบรนด์ “Jude case” เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะมีครอบครัวเป็นกำลังสนับสนุนที่สำคัญ

TP133283-a ++ขยายตลาดในและต่างประเทศ
สำหรับกลยุทธ์ในการทำตลาดปี 2560 นั้น จะเน้นเรื่องของการขยายฐานลูกค้า โดยล่าสุดได้มีการออกเคสรองเท้าแตะแบบสีพาสเทล(Pastel color) ซึ่งทำให้สามารถเจาะฐานลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้หญิงได้มากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ชาย เนื่องจากผลิตภัณฑ์จะเป็นเคสรองเท้าแตะแบบสีพื้นขาวและดำ โดยมีสายคาด 3 สีได้แก่ สีนํ้าเงิน แดง และเขียว นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มตัวแทนจำหน่ายให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 30 รายที่นำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายบนช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซด์ขายดีดอทคอม (www.Kaidee.com) ,อีเบย์ (www.Ebay.com) เป็นต้น ขึ้นอยู่กับว่าตัวแทนแต่ละรายจะใช้ช่องทางไหนในการทำตลาด

ส่วนตลาดต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างการหาช่องทางนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศ AEC เพื่อขยายตลาดนอกเหนือไปจากประเทศลาว ซึ่งมีตัวแทนจำหน่ายอยู่ 3 รายที่ช่วยกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภค โดยปัจจุบันก็มีบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับทางด้านการส่งออกติดต่อเข้ามาต้องการนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศดังกล่าวเหล่านี้ แต่ตนเองต้องการให้มีตัวแทนของแต่ละประเทศเป็นผู้เข้าไปทำตลาดให้มากกว่า โดยขั้นตอน ณ เวลานี้ก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาหาช่องทางที่มีความเหมาะสมมากที่สุด นอกจากนี้ยังเตรียมศึกษาการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแผนในระยะสั้นช่วง 3-5 ปี

TP133283-b นอกจากนี้ ล่าสุดยังได้รับการติดต่อจากเว็บไซต์อาลีบาบา (www.Alibaba.com) เพื่อนำสินค้าไปจำหน่าย แต่เราต้องการทำผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานมากกว่านี้ อีกทั้งยังเตรียมขยายช่องทางการจำหน่ายไปสู่รูปแบบของออฟไลน์ โดยปัจจุบันได้ดำเนินการเจรจาธุรกิจอยู่กับร้าน ลอฟท์ (Loft) และห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว เพื่อนำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่าย โดยคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ หรือกลางปีหน้า เนื่องจากต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องของกำลังการผลิตด้วย

“ความจริงแล้วผลิตภัณฑ์ Jude case ได้เข้าไปทำตลาดแล้วในสหรัฐฯ โดยผ่านตัวแทนจำหน่ายในรูปแบบของการมารับผลิตภัณฑ์ไปขายเป็นล็อตในช่วงที่เดินทางกลับมาประเทศไทย ซึ่งจากกลยุทธ์การทำตลาดดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้รายได้ของ Jude case เพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 1 แสนบาท และจะขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตลาดตามแผนเป็นระยะๆ”

เธอกล่าวทิ้งท้าย ให้แง่คิดว่า หลักในการทำธุรกิจที่ทำให้เป็นกุญแจไขไปสู่ความสำเร็จได้นั้น คือการคิดเร็วทำเร็ว มองว่าเมื่อเห็นโอกาสก็ต้องรีบคว้า และลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะหากไม่รีบทำในตอนนั้น ในอนาคตอาจจะมีผู้อื่นที่คิดและทำก่อนก็เป็นได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283
วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560