หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC)เผยผลสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำครึ่งแรกของปี 2560เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมาพบว่าในจำนวน534 บริษัทที่ตอบเกี่ยวกับประเด็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) ส่วนใหญ่ตอบว่ามีความสนใจที่จะลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว
นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทรกรุงเทพฯ) ในฐานะผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยด้านเศรษฐกิจของเจซีซี เปิดเผยว่า การสำรวจครั้งล่าสุดนี้ จัดทำขึ้นในระหว่างวันที่ 22 พฤษภาคม- 14 มิถุนายน 2560 และนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำหัวข้อเกี่ยวกับอีอีซีเพิ่มเข้ามาในการสำรวจทั้งนี้ หากพิจารณาแยกย่อยลงไปจะพบว่า บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นที่ตอบว่า “มีแผนการลงทุนที่แน่นอนในพื้นที่อีอีซี”เช่นมีแผนจะเพิ่มการลงทุนฯลฯมีจำนวนรวม 28 บริษัท หรือคิดเป็น 5% ขณะเดียวกันบริษัทที่ตอบว่า “มีความสนใจอย่างมากที่จะลงทุนเพิ่มเติม แต่ยังไม่มีแผนลงทุนที่ชัดเจน”นั้นมีจำนวนถึง 46 บริษัท(9%)และแนวโน้มที่ดีก็คือมีบริษัทที่ตอบว่า มีความสนใจที่จะลงทุน (แต่ยังดูๆโอกาสและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่นั้น) มีจำนวนมากถึง 135 บริษัทหรือคิดเป็นสัดส่วน 25%ของบริษัทญี่ปุ่นที่ตอบคำถามการสำรวจทั้งหมด
“ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นที่ความสนใจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นที่ต้องการจะลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซี ยกตัวอย่าง ในบรรดาบริษัท 5% ที่ตอบว่า “มีแผนการลงทุนที่แน่นอนเป็นรูปธรรมแล้ว” นั้น เป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ (ทั้งยานยนต์ทางบก นํ้า และอากาศ รวมไปถึงอะไหล่และชิ้นส่วนประกอบ) ถึง 5 รายด้วยกันนอกนั้นก็เป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเคมี4รายอุตสาหกรรมเหล็กและอโลหะ 2 รายอุตสาหกรรมเครื่องจักรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2 ราย อุตสาหกรรมเครื่องจักรทั่วไป 1 ราย และอุตสาหกรรมอื่นๆในภาคการผลิต 4 ราย รวมเป็น 18บริษัทส่วนบริษัทที่มีแผนลงทุนชัดเจนเช่นกัน แต่อยู่นอกภาคการผลิต เช่น ภาคบริการค้าปลีก ประกันภัย ก่อสร้าง และขนส่ง ฯลฯ มีจำนวน 10 บริษัท”ประธานเจโทรกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัทที่ตอบว่า ไม่สนใจที่จะลงทุนในพื้นที่อีอีซีซึ่งมีสัดส่วน 26% และไม่มีความคิดเห็น 34% นั้น สามารถอธิบายเหตุผลส่วนหนึ่งได้ว่า เป็นเพราะสมาชิกของเจซีซีส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีความสามารถในการลงทุนค่อนข้างจำกัด หากตัดสินใจลงทุนในพื้นที่หนึ่งไปแล้ว เช่น พื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ อาทิ อยุธยา ก็ไม่มีความต้องการจะลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นอีก
บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นที่ตอบคำถามการสำรวจจำนวนกว่า 500 บริษัท ยังได้ให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจด้วยว่า นโยบายภาครัฐของไทยที่บริษัทเห็นว่า “ได้ผล” และมีส่วนช่วยเพิ่มความมั่นใจนั้น บริษัทส่วนใหญ่ (152 บริษัท หรือ 26%) เทคะแนนให้กับนโยบายพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการขนส่งในระยะเริ่มต้น ซึ่งได้แก่การสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเข้าสู่พื้นที่และการสร้างทางหลวงระหว่างกรุงเทพฯและเขตอีอีซี นโยบายอื่นๆ ที่บริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นเห็นว่าได้ผล ยังได้แก่ การผ่อนปรนข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการขออนุญาต เช่น การลดข้อบังคับ และการใช้ระบบ fast track ในขั้นตอนการขออนุญาต(103 บริษัท หรือ 18%) การพัฒนาสนามบินและท่าเรือ (96 บริษัทหรือ17%)และการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีต่อแรงงานที่มีทักษะสูงเป็นต้น (ดังแผนภูมิประกอบ)
ไม่เพียงเท่านั้น ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ทางกระทรวงเมติของญี่ปุ่น หรือกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม จะนำคณะนักธุรกิจชั้นนำกลุ่มใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นมาเยือนประเทศไทยเพื่อร่วมหารือความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนฉลองความสัมพันธ์ 130 ปีไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งในโอกาสนี้จะมีการนำคณะลงพื้นที่อีอีซีด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560