คอนโดฯท่วม 2 แสนหน่วย ดันรถไฟฟ้าสีเขียว-นํ้าเงินยังแรงไม่ตกบิ๊กเนมชิงเหลี่ยมไล่ตุนที่ไม่ยั้ง ตะลึง! เจ้าสัวเจริญซุ่มกวาดผับ-ร้านอาหารดังตรงข้ามเมเจอร์รัชโยธิน 3 ไร่ รับเขียวเหนือ “หมอชิต-ลำลูกกา” ราคาตลาดสูงกว่าราคาประเมิน 10 เท่า
การขยับแผนสร้างรถไฟฟ้า 12 สาย 314 สถานี ของรัฐบาลจาก ปี 2572 เป็นปี 2568 เพื่อบรรเทาปัญหาความคับคั่งของจราจรในระยะยาวขณะเดียวกันยังเปิดหน้าดินรอบสถานีใหม่ๆ แต่ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการยังให้ความสนใจโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมทั้งที่เปิดให้บริการ และอยู่ระหว่างก่อสร้าง เนื่องจากมีความชัดเจน แม้ราคาที่ดินจะสูง แต่มองว่า ชัวร์ ขณะที่โครงข่ายอื่นที่ยังนอนอยู่ในกระดาษแม้มีแผนตอกเข็มในอนาคต แต่มองว่ามีความเสี่ยง ที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนรัฐบาลหรือนโยบายเปลี่ยนแปลง ดังนั้นผลเสียอาจเกิดขึ้นกับที่ดินที่ซื้อดักไว้
ทั้งนี้ดูได้จาก ตัวเลขเปิดตัวคอนโดมิเนียมปัจจุบันซึ่งบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด สำรวจพบว่า ส่วนต่อขยายสายสีนํ้าเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ-หัวลำโพง-บางแค ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง มีจำนวน 22,000 หน่วย รถไฟฟ้าใต้ดิน สายสีนํ้าเงินเอ็มอาร์ทีที่เปิดให้บริการปัจจุบัน มีจำนวน 71,940 หน่วย รถไฟฟ้าบีทีเอส มีปริมาณคอนโดฯเกิดขึ้น 77,000 หน่วย ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่ ลำลูกกา)ที่มีการก่อสร้างแล้ว 40% มีจำนวน 12,000 หน่วย สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวตอน (แบริ่ง-สมุทรปราการ) 15,000 หน่วย
นายเลิศมงคล วราเวณุชย์ เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผู้ประกอบการยังให้ความสนใจ รถไฟฟ้าสายสีเขียว และสีนํ้าเงิน มองเห็นสถานีชัดเจน นอกจากนี้ยังมีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เนื่องจากทำเลลาดพร้าวมีศักยภาพ ส่วนสายสีม่วง แม้เชื่อมต่อกับ รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินแล้วและมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่ มองว่าซัพพลายยังเหลืออยู่มาก แต่หากจะพัฒนาต่อ ต้องรอให้ จำนวนหน่วยที่เหลือหมดก่อน
“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจทำเลรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่ลำลูกกา) พบว่า ยังมีความเคลื่อนไหวซื้อขายที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการต่อเนื่อง โดยนายหน้ารายหนึ่ง ระบุว่า เมื่อรถไฟฟ้าสายนี้มีการ
ก่อสร้างเกิดขึ้น ราคาที่ดินขยับสูงกว่าราคาประเมินของกรมธนารักษ์ 10 เท่า ทำให้เจ้าของที่ดิน-ตึกแถวเก่า ต่างบอกเลิกสัญญากับผู้เช่าเดิมเพื่อขายให้กับบริษัทพัฒนาที่ดิน อาทิ ทำเลตรงข้ามตึกช้าง บริเวณแยกรัชโยธิน (พหลโยธิน 27-29) เนื้อที่ 4 ไร่ ตึกแถวจำนวน 9 คูหา ปัจจุบัน มีผู้เช่าขายอุปกรณ์การเกษตร ทั้งที่ ผู้เช่าไม่ต้องการย้ายออกเนื่องจากทำเลดี แต่เมื่อเจ้าต้องการขายจึงจำเป็นต้องหาที่เช่าใหม่
นายหน้าเล่าต่อว่า ขณะนี้มีบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 3 ราย ต่อรองราคาเหลือ 500,000 บาทต่อตารางวา ขณะที่เจ้าของต้องการขายที่ 800,000 บาท ต่อตารางวา ขณะที่ทำเลฝั่งตรงข้ามเมเจอร์รัชโยธิน ซึ่งเป็นผับเจ้าของบอกเลิกสัญญาเช่นกันเพราะต้องการขายให้กับบริษัทของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในราคา 700,000 บาทต่อตารางวา แต่ต่อรองกันได้ที่ 600,000 บาทต่อตารางวา อย่างไรก็ดีทำเลย่านพหลโยธิน โซนเหนือยังมีที่ดินให้จับจองอีกมาก ส่วนใหญ่ในซอยจะเป็นหมู่บ้านจัดสรรรุ่นเก่าส่วนพหลโยธิน ฝั่งเข้าใจกลางเมือง ที่ดินส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินแปลงเล็กและทุกวันนี้ค่อนข้างหายาก ซึ่งราคาที่ดินทำเลห้าแยกลาดพร้าวขณะนี้แตะไปที่ 1 ล้านบาทต่อตารางวาเรียบร้อยแล้ว
สอดคล้องกับนายสุริยา สุริยาภิวัฒน์ ผู้จัดการสำนักวิจัย บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่าช่วง 6 ปีราคาที่ดินตารางวาละ 100,000 บาท ซึ่งปัจจุบันราคาขยับขึ้น 6-10 เท่าในทำเลรัชโยธิน โดยทำเลห้าแยกลาดพร้าวราคาอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อ
ตารางวา
ส่วนทำเลรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายส่วนใต้ (แบเริ่ง-สมุทรปราการ) ที่กำหนดเปิดให้บริการปลายปี 2561 นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มนิรันดร์กรุ๊ป กล่าวว่า สมุทรปราการ เปลี่ยน จากตึกแถว ชุมชนเก่าเป็นคอนโดมิเนียม ไม่ต่างจาก ฝั่งอ่อนนุช-บางนา กรุงเทพมหานคร เนื่องจากรถไฟฟ้าไปถึงพื้นที่ ทำให้
เกิดการขยายตัวตาม โดยมีแบรนด์ ใหญ่ อย่าง ไอดีโอ ของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ฯ และยังมีโครงการของ ควอลิตี้เฮ้าส์ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เข้าไปปักธงครองตลาด ทำเลยอดฮิตอยู่ใกล้กับโรงเรียนนายเรือ ซอยสุขุม วิท 115 โดยเฉพาะค่ายอนันดา อยู่ระหว่างก่อสร้างคอนโดมิเนียมรองรับกลุ่มคนทำงานในกทม.และพื้นที่กว่า 1,000 หน่วย ประ เมินว่าการแข่งขันดุเดือดไม่แพ้ทำเลอื่น ขณะที่ราคาที่ดินขยับเร็ว หากที่ดินอยู่ห่างสถานีราคา 150,000 บาทต่อตารางวา กรณีอยู่ติดสถานี ราคา 200,000 บาทต่อตารางวาเทียบจากก่อนที่รถไฟฟ้ามา ติดถนนสุขุมวิท ตารางวาละ 60,000-70,000 บาทก็หาซื้อได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560