IOT เสริมศักยภาพด้านการแพทย์ เซนเซอร์อัจริยะเฝ้าระวังการล้ม

27 ต.ค. 2561 | 03:32 น.
นักวิจัยสตรีดีเด่น จากโครงการทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2561 ของบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ช่วยพัฒนาประเทศชาติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปีนี้มีผลงานที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาเสริมกับงานวิจัย แล้วพัฒนาออกมาเป็นชิ้นงาน

หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจคือ งานศึกษาพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีโครงข่ายเซนเซอร์ร่างกายและไอโอที (Internet of Things; IoT) มาใช้สนับสนุนระบบการดูแลผู้สูงอายุ ของ "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรภา เทียมจรัส" ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) โดยมีแนวความคิดมาจากภาพรวมของประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ประชากรอายุ 60 ปี เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ และต้องการการรักษาและการฟื้นฟูอย่างมาก แต่รัฐบาลอาจไม่สามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุม และยังขาดแคลนผู้ดูแล ที่ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิด

lorealfwis2018-11 เทคโนโลยีสารสนเทศ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการเฝ้าระวังและดูแลผู้สูงอายุ โดย "ดร.สุรภา" ได้ศึกษาเทคโนโลยีโครงข่ายเซนเซอร์ร่างกายและไอโอที (Internet of Things; IoT) มาใช้สนับสนุนระบบการดูแลผู้สูงอายุ จากการร่วมกับโรงพยาบาลและสถานพยาบาล 5 แห่ง ในการรวบรวมข้อมูล ศึกษาความต้องการในการใช้งาน และความต้องการควาช่วยเหลือ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องการได้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะมาช่วยป้องกันการล้ม

"ดร.สุรภา" ได้พัฒนาและวิจัย "เซนเซอร์อัจฉริยะขนาดเล็ก" เพื่อนำมาพัฒนาเป็นอุปกรณ์และระบบสำหรับเฝ้าระวัง ตรวจจับ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น ปัญหาแผลกดทับและการลื่นหกล้ม เป็นต้น โดยเซนเซอร์จะคอยเฝ้าระวังผู้สวมใส่ และแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแล หากมีเหตุการณ์หรือภาวะเสี่ยง เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที โดยจะเก็บข้อมูลจาก 8 ตำแหน่ง ในร่างกาย และท่าล้ม 13-14 ท่า

ขณะนี้ได้เริ่มทดลองใช้แล้ว กับผู้ป่วย ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท และโรงพยาบาลสมเด็จ ศรีราชา หลังจากนั้นจะนำมาพัฒนาต่อ และในปีหน้า จะได้เห็นการใช้งานจริงในโรงพยาบาลต่างๆ รวมไปถึงผู้ป่วยตามบ้าน

งานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมกิจกรรมของผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล กองทุนนิวตัน (Institutional Links) และ ความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท ไวซ์ไซท์ จำกัด, หสม. ซอฟต์แวร์อิสระ, บริษัทเอเมทเวิร์คส์ จำกัด และ บริษัท อัลฟ่า อีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด รวมไปถึงสถานพยาบาล โรงพยาบาลสมิติเวช และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ ศูนย์แฮมลิน อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ทำให้การศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีนี้มีความก้าวหน้า ช่วยเพิ่มองค์ความรู้ให้นักวิจัย ลดเวลาในการพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย อีกทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลได้อีกด้วย

นี่คืออีกหนึ่งงานด้าน IOT ที่ถูกนำมาใช้เสริมศักยภาพการดูแลผู้ป่วย ที่กำลังจะเริ่มผลิตใช้จริง โดยนักวิจัยและพัฒนาคนไทย

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,412 วันที่ 25-27 ตุลาคม 2561

595959859