ปักหมุดสถานีราชเทวี รฟม. แจ้งปิดสะพานข้ามแยกราชเทวี สร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม

05 ม.ค. 2568 | 00:15 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2568 | 02:58 น.

ลุยรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก รฟม. แจ้งปิดสะพานข้ามแยกราชเทวี ฝั่งขาออก บนถนนเพชรบุรี ดำเนินงานก่อสร้างสถานีราชเทวีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2568 – 30 เมษายน 2571 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีความจำเป็นต้องปิดสะพานข้ามแยกราชเทวี ฝั่งขาออก บนถนนเพชรบุรี เพื่อดำเนินงานก่อสร้างสถานีราชเทวี ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2568 – 30 เมษายน 2571 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป

ปิดสะพานข้ามแยกราชเทวี ฝั่งขาออก บนถนนเพชรบุรี เพื่อดำเนินงานก่อสร้างสถานีราชเทวี

มีผลให้ผู้ใช้เส้นทางไม่สามารถขึ้นสะพานข้ามแยกราชเทวีได้ โดยให้สัญจรเฉพาะทางราบบนถนนเพชรบุรี ฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 2 ช่องจราจร โดยประชาชนสามารถเข้า - ออกที่พักอาศัยได้ตามปกติทั้งนี้ การปิดเบี่ยงจราจรเพื่อดำเนินงานดังกล่าว อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและอาจมีเสียงดังรบกวนพื้นที่บริเวณใกล้เคียงในวันเวลาดังกล่าว ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็น โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทาง และ รฟม. ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้

 

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา รฟม. มีแผนรื้อถอน 3 สะพาน เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย พร้อมคุมเข้มมาตรการลดผลกระทบระหว่างก่อสร้าง โดยนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

แผนก่อสร้าง

ได้สั่งการให้ รฟม. กำกับดูแลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ให้มีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนงานอย่างต่อเนื่องและเปิดให้บริการได้ตามแผนที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ รฟม. กำกับควบคุมงานก่อสร้างด้วยความเอาใจใส่ และรักษามาตรฐานความปลอดภัยไว้สูงสุด รวมถึงต้องดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะการลดผลกระทบด้านการจราจร และให้มีการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างทั่วถึง 

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ตามที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้เริ่มการปิดเบี่ยงจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง 5 สถานีแรก ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป

เพื่อดำเนินงานรื้อย้ายสาธารณูปโภคเป็นลำดับแรก และสถานีที่เหลือจะดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 นั้น รฟม. ได้กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานก่อสร้างของผู้รับจ้าง/ผู้รับสัมปทานอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในส่วนของสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณวัดสุทธาวาส สะพานข้ามแยกราชเทวี และสะพานข้ามแยกประตูน้ำ รฟม. มีแผนการปิดเบี่ยงจราจร    เพื่อการสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ดังนี้

1. สะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ มีแผนจะเริ่มดำเนินการปิดและรื้อถอนสะพานในวันที่ 6 มกราคม 2568 เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า โดยในระหว่างการดำเนินการปิดเบี่ยงจราจร ผู้ใช้เส้นทางสามารถสัญจรทางราบบนถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันและถนนสุทธาวาสฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 1 ช่องจราจร และมีแผนจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์คืนในเดือนธันวาคม 2569 และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือนมิถุนายน 2571 โดยภายหลังเปิดใช้สะพานข้ามถนนจรัญสนิทวงศ์ผู้ใช้เส้นทางจะสามารถกลับมาสัญจรบนสะพานฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 1 ช่องจราจร และสัญจรทางราบบนถนนเลียบทางรถไฟตลิ่งชันและถนนสุทธาวาสฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 1 ช่องจราจร เหมือนเดิม

2. สะพานข้ามแยกราชเทวี มีแผนจะเริ่มดำเนินการปิดและรื้อถอนสะพานในวันที่ 15 มกราคม 2568 เพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า โดยในระหว่างการดำเนินการปิดเบี่ยงจราจร ผู้ใช้เส้นทางสามารถสัญจรบนทางราบ บนถนนเพชรบุรีฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 2 ช่องจราจร และมีแผนจะดำเนินการก่อสร้างสะพานข้ามแยกราชเทวี คืนในเดือนธันวาคม 2569 และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือนเมษายน 2571 โดยภายหลังเปิดใช้สะพานข้ามแยกราชเทวีผู้ใช้เส้นทางจะสามารถกลับมาสัญจรบนสะพานฝั่งขาออกได้ 2 ช่องจราจร และสัญจรทางราบบนถนนเพชรบุรีฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 2 ช่องจราจร เหมือนเดิม

3. สะพานข้ามแยกประตูน้ำ มีแผนจะเริ่มดำเนินการปิดและรื้อถอนเฉพาะพื้นที่เชิงลาดขึ้นสะพาน 5 ช่วงเสา ระยะประมาณ 60 เมตร บริเวณหน้าห้าง Platinum ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2569 เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและดำเนินการคืนสภาพให้แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2569 โดยในระหว่างการดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรผู้ใช้เส้นทางสามารถสัญจรทางราบ บนถนนเพชรบุรีฝั่งขาเข้าและขาออกได้ฝั่งละ 2 ช่องจราจร ทั้งนี้ ในการคืนสภาพจะมีการปรับปรุงสะพานให้มีช่องทางมากขึ้น โดยลดจำนวนเสาต่อม่อสะพานบริเวณกลางแยกไปในคราวเดียวกัน 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) ตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 6 ปี และเปิดให้บริการปลายปี 2573 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี(สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร ตามแผนจะเปิดเดินรถได้ภายในปลายปี 2570 หรือต้นปี 2571

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี