ชาวสวน-ส่งออกผวา! ตื่นรัฐจัดระเบียบ "ยาง" ตามมาตรฐานอียู เลียนโมเดลไอยูยู ... 'อุทัย' โวย! ชาวสวนจะตกเป็นแพะ ถูกบังคับให้ปฏิบัติเยี่ยงคนในโรงงาน ขัดวิถีชาวบ้าน เผย อียูตลาดเล็กแค่ 3 แสนตัน/ปี หวั่นได้ไม่คุ้มเสีย
พิษสงครามการค้าของ 2 มหาอำนาจยักษ์ใหญ่
"สหรัฐฯ-จีน" ที่หลายฝ่ายคาดการณ์หากยังคงยืดเยื้อจะกระทบทำให้เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลงในปีนี้ โดยสินค้าไทยหลายรายการจะได้รับผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวก โดยในส่วนที่จะได้รับผลกระทบในเชิงลบอย่างชัดเจน คือ สินค้ายางพารา ที่ไทยมีตลาดใหญ่ที่จีน ที่คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ที่ไทยส่งออกวัตถุดิบยางพาราไปทั่วโลก ซึ่งช่วง 11 เดือนแรก ปี 2561 การส่งออกยางพาราของไทยไปจีนมีมูลค่า 5.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
จาก
"สงครามการค้า" มีผลให้จีนสั่งนำเข้าวัตถุดิบยางพาราไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาง (ส่วนใหญ่เป็นยางล้อรถยนต์) ส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง ซึ่งทางออกหนึ่งนับจากนี้ คือ สวนยางพาราของไทยต้องปรับตัวให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อให้ได้มาตรฐาน FSC และ PEFC ซึ่งเป็นมาตรฐานสหภาพยุโรป (อียู) ในการจัดการป่าไม้อย่างรับผิดชอบ ที่ 85 ประเทศทั่วโลกยอมรับ ช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกยางพาราของไทยทดแทนตลาดเก่าได้เพิ่มขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งขัดกับวิถีชาวสวนยาง
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาผลผลิตทางการเกษตร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และในฐานะประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงมาตรฐานระบบการให้รับรองยางพารา (Forest Management Certification (FSC-FM)) ด้านการจัดการป่าไม้และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไม้ หรือ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ได้จากสวนไม้ จะเป็นประทับตราเครื่องหมาย FSC เป็นสัญลักษณ์ หรือ ใบรับรองผลิตภัณฑ์ป่าไม้ที่ได้รับใบรับรองจัดการอย่างถูกต้อง ตามหลักซึ่งกำหนดไว้ว่า ต้องมีพื้นที่อนุรักษ์อย่างน้อย 10% ของพื้นที่สวนไม้ และต้องเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง ไม่ได้มาจากการทำลายป่าธรรมชาติ โดยการทำมาตรฐานนี้ ทางสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศจะไม่รับซื้อยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านมาตรฐานในปี 2563
"ตัวอย่างประมงไอยูยูที่เราต้องทำให้ได้มาตรฐานเขา ทำให้อาชีพชาวประมงล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาตรฐาน FSC/PEFC ก็เช่นกัน ที่เราต้องทำตามกฎสำคัญ 10 ข้อ ซึ่งในส่วนของชาวสวนได้ถูกบังคับต้องปฏิบัติในหลายข้อ เช่น ให้สวมเสื้อผ้า รองเท้า คลุมผม แบบปิดมิดชิดในเวลากรีดยางเหมือนคนในโรงงาน รวมทั้งห้ามใส่ปุ๋ยเคมี ห้ามฉีดยา ห้ามพรวนดิน แค่นี้ไม่ถูกต้องแล้ว เพราะขัดกับวิถีชาวบ้าน หากทำแบบนี้
"เราเป็นเมืองขึ้นของอียูหรืออย่างไร จะต้องไปทำตามหมดทุกอย่าง" ..."
นายอุทัย กล่าวว่า ในส่วนของมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) จะต้องออกมาควบคู่และดูแลด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างชาติจัดการอยู่ฝ่ายเดียวในการออกกฎระเบียบต่าง ๆ คุ้มหรือไม่กับแค่ยางส่งออกไปตลาดอียูราว 3 แสนตันต่อปีเท่านั้น อีกด้านหนึ่ง ชาวสวนปัจจุบันได้รับการดูแลจากภาครัฐน้อยอยู่แล้ว จะต้องทำให้ตายทั้งเป็นเหมือนกับชาวประมงหรืออย่างไร
สอดคล้อง ดร.ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด ที่กล่าวว่า หากพิจารณาแนวโน้มตลาดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดนํ้ายางข้นโตเร็วมาก เชื่อว่ายังมีความต้องการอยู่มาก มองว่า ไม่จำเป็นว่าจะมีตลาดอียูหรือไม่ อีกด้านหนึ่ง ประเทศที่จะมีการออกเกณฑ์บังคับมาตรฐาน เชื่อว่าจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่บังคับเข้มงวดทันที จะกระทบตลาดแน่นอน แต่ไม่ใช่ตลาดจะหายไปเลย อีก 2 ปีข้างหน้า ยังมีเวลาในการปรับเปลี่ยน
"กฎระเบียบมาตรฐานหลายตัว ไทยไม่จำเป็นต้องทำตามทั้งหมด
'ยุโรป' เป็นตลาดที่ส่งออกไม่สูงมากนัก สามารถทดแทนด้วยการส่งออกที่อื่นก็ได้ ดูตัวอย่าง
"ไอยูยู" บังคับใช้โดยยังไม่ให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อม
เพราะสิ่งที่ได้กลับมา มองว่า "น้อยนิด" แต่ความเสียหายมีมากกว่า ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป สหรัฐฯ จะนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อนเป็นหลัก แต่ของไทยเอาต่างชาติก่อน คือ รับมาตรฐานต่างชาติมาก่อน แล้วมาทำให้คนไทยเดือดร้อนถูกต้องหรือไม่"
อนึ่ง มาตรฐาน FSC จะใช้สำหรับไม้ยางพารา และมาตรฐาน PEFC หรือ Program for the Endorsement of Forest Certification Scheme จะใช้มาตรฐานบังคับนํ้ายางและยางแผ่นนำเข้าของอียูที่จะบังคับใช้
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,435 วันที่ 13-16 มกราคม 2562