'ดับบลิวเอชเอ' ยัน! พร้อมรับข้อเสนอกลุ่มอาลีบาบา ขายพื้นที่ 232 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคาร ผุดศูนย์กระจายสินค้าอี-คอมเมิร์ซ ใช้เงินลงทุนกว่า 5 พันล้าน คาดส่งมอบพื้นที่เข้าดำเนินงานได้ ก.ย. นี้ ทุ่มอีก 2.4 พันล้าน พัฒนานิคมฯ และจัดซื้อที่ดินเพิ่มอีกกว่า 1 พันไร่
การเยือนจีนของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้มีการหารือกับ นายแจ็ค หม่า ประธาน บริษัท อาลีบาบาฯ ในการ Transform ประเทศไทยสู่ Digital 4.0 โดยได้ยื่นข้อเสนอต้องการขอซื้อที่ดินแทนการเช่าที่ดิน 1.3 แสนตารางเมตร บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา-ตราด) กิโลเมตรประมาณ 34-38 ในท้องที่ ต.บางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ของบริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิงส์ จำกัด ในเครือบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้มีการตกลงเบื้องต้นไว้ก่อนหน้านี้
ล่าสุด พื้นที่ดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มี พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 15 ก.พ. นี้ จัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ บนเนื้อที่ 232 ไร่ ประกอบไปด้วย ศูนย์กระจายสินค้า จำนวน 3 อาคาร ขนาดพื้นที่รวม 1.49 แสนตารางเมตร และอาคารเขตปลอดอากรราว 4 หมื่นตารางเมตร และพื้นที่สำนักงานสำหรับผู้ประกอบการวิจัยและพัฒนา และสำนักงานสำหรับกรมศุลกากรประมาณ 5,187 ตารางเมตร รวมพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1.94 แสนตารางเมตร หรือราว 120 ไร่ รองรับการลงทุนที่จะเกิดประมาณ 13,490 ล้านบาท
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กลุ่มอาลีบาบามีความประสงส์จะขอซื้อพื้นที่ทั้งหมดแทนการเช่าที่ดินนั้น คงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งบริษัทมีเงื่อนไขที่จะต้องซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มพัฒนาพื้นที่และก่อสร้างอาคารศูนย์กระจายสินค้า คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ได้ในเดือน ก.ย. 2562 นี้ ใช้เงินลงทุนทั้งค่าที่ดินและการก่อสร้างราว 5 พันล้านบาท โดยยังไม่รวมเงินลงทุนของกลุ่มอาลีบาบาที่จะต้องเข้ามาลงทุนในระบบต่าง ๆ อีก
นายเดวิด นาร์โดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมและการลงทุนต่างประเทศ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นอกจากการพัฒนาเขตส่งเสริมพิเศษอี-คอมเมิร์ซแล้ว ทางบริษัทจะเร่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อมารองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น เพราะขณะนี้การลงทุนในพื้นที่อีอีซีได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเห็นได้จากช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา เพียงไตรมาสเดียวมียอดขายเติบโตถึง 65% เมื่อเทียบกับทั้งปี และจะส่งผลให้ยอดขายในปี 2562 เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
สำหรับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนเกิดจากปัจจัยสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ประกอบกับต้นทุนการผลิตสินค้าในจีนสูงขึ้น อีกทั้งที่ดินในไต้หวันมีราคาสูงขึ้น ขณะที่ ญี่ปุ่นเองเริ่มมีปัญหาทางสภาพอากาศ ล้วนเป็นปัจจัยให้ต่างชาติมองหาพื้นที่การลงทุนใหม่ ซึ่งมองไทยเป็นเป้าหมายหลัก
โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถขายที่ดินได้ราว 1 พันไร่ แบ่งเป็น สัดส่วนนักลงทุนไทย 20% จีน 15% ญี่ปุ่น 25% ยุโรป 15% ไต้หวัน 25% ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าหมายการขายที่ดินในประเทศไว้ที่ 1,400 ไร่ คาดว่าจะดำเนินการได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากขณะนี้มีนักลงทุนที่ติดต่อมาและอยู่ระหว่างการเจรจาคิดเป็นพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว ประกอบกับมีโครงการที่ผูกพันจากปีก่อนที่จะทำสัญญาในปีนี้อีก 285 ไร่ ดังนั้น ด้วยปัจจัยของแต่ละประเทศที่เกิดขึ้น จะส่งผลเกิดการย้ายฐานการผลิตมาสู่ไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจีน ที่จะเข้ามาลงทุนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน
ส่วนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนนั้นจะอยู่ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม สัดส่วน 60% และอุตสาหกรรมใหม่ 15% ส่วนที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมอื่น ๆ
ปัจจุบัน บริษัทมีที่ดินในประเทศราว 4.31 หมื่นไร่ ในพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม 9 แห่ง เป็นพื้นที่พร้อมขายและอยู่ระหว่างการพัฒนาราว 7 พันไร่ โดยในปีนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 พันล้านบาท แบ่งเป็น การพัฒนาพื้นที่ 1,200 ล้านบาท และใช้สำหรับจัดซื้อที่ดินกว่า 1 พันไร่ เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนพัฒนาที่ดินในประเทศเวียดนาม 600 ล้านบาท โดยในช่วง 5 ปีนี้ บริษัทจะใช้เงินลงทุนสำหรับพัฒนานิคมราว 1.8 หมื่นล้านบาท
หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,441 วันที่ 3 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562