ชำแหละโครงสร้างราคาปาล์มที่เป็นธรรม นำ 3 ราคาจากโรงสกัด-ค้าภายใน-เกษตรกร มาเฉลี่ยตั้งราคากลาง กนป.ชี้พอใจระดับหนึ่ง ปาล์มเปอร์เซ็นต์ นํ้ามัน 22% รับ 4.29 บาท/กก. กังขาโรงสกัดบวกต้นทุนค่าขนส่ง
การใช้โครงสร้างราคาปาล์มนํ้ามันแบบคุณภาพสัมพันธ์ เป็นกลไกจูงใจให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาคุณภาพปาล์มนํ้ามันของประทศ ซึ่งหากมีการใช้ราคาตามโครงสร้างราคาที่ถูกต้องจะทำให้เกษตรกรยอมรับราคาที่สะท้อนมาจากตลาด และพัฒนาคุณภาพปาล์มนํ้ามันให้สูงขึ้น และจะส่งผลให้โรงสกัดนํ้ามันปาล์ม และอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้คุณภาพนํ้ามันปาล์มที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภค และใช้ผลิตไบโอดีเซล ในต้นทุนการผลิตที่ลดลง และมีกำไรในแต่ละช่วงในอัตราที่เหมาะสม ส่งผลดีต่อเสถียรภาพปาล์มนํ้ามันทั้งระบบ จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างราคาผลปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์ม ที่มีอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธาน
นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มนํ้ามันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างราคาผลปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์ม (5 ก.ค.62) ว่า ได้ใช้ค่าเฉลี่ยต้นทุนจาก 3 ส่วนมาคำนวณ ได้แก่ ต้นทุนโรงสกัด ต้นทุนที่กรมการค้าภายในไปสืบราคา และต้นทุนของเกษตรกร นำมาเฉลี่ยเพื่อให้ได้ราคากลาง (กราฟิกประกอบ) ยกตัวอย่าง ต้นทุนสกัดนํ้ามันปาล์มของโรงสกัด 3.36 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ขณะที่กรมการค้าภายในระบุอยู่ที่ 1.99 บาท/กก. ส่วนเกษตรกรอยู่ที่ 1.50 บาท/กก. ดังนั้นเมื่อคำนวณออกมาทั้ง 3 ส่วน ราคาต้นทุนโรงสกัดที่รับได้ 3 ฝ่ายจะอยู่ที่ 2.28 บาท/กก.
พันศักดิ์ จิตรรัตน์
ส่วนราคาผลปาล์ม จะมีการคำนวณ จากราคานํ้ามันปาล์มดิบ+ผลพลอยได้ -(ค่าใช้จ่ายสกัด+ค่าใช้จ่ายบริหาร+ค่าขนส่ง) เกษตรกรจะได้ขายราคาผลปาล์มตามเปอร์เซ็นต์ เช่น ราคานํ้ามันปาล์มดิบ ณ กรุงเทพฯ อยู่ที่ 21.25 บาท/กก. (กรมการค้าภายใน จะประกาศรายวัน) เมื่อคำนวณกลับมา ราคาผลปาล์ม อัตรานํ้ามัน 18% ชาวสวนจะขายผลปาล์ม (ราคากลาง)ได้เฉลี่ยที่ 3.51 บาท/กก. เปอร์เซ็นต์นํ้ามันที่ 19% ราคาเฉลี่ย 3.70 บาท/กก. เปอร์เซ็นต์นํ้ามัน 20% เฉลี่ยที่ 3.90 บาท/กก. เปอร์เซ็นต์นํ้ามัน 21% เฉลี่ยที่ 4.09 บาท/กก. และถ้าเป็นผลปาล์มนํ้ามัน 22% จะขายได้สูงถึง 4.29 บาท/กก.
“เมื่อเห็นโครงสร้างราคาข้างต้นก็สบายใจระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรได้ตัดปาล์มที่มีคุณภาพ ส่วนต้นทุนโรงสกัด เป็นราคาที่บวกค่าขนส่งไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องยอม เพราะอยากให้โครงสร้างราคาปาล์มเกิดขึ้น เพราะถ้าไปค้านมาก ไม่เกิดแล้ว มีแต่จะเสียเปรียบ อย่างน้อยก็ออกมาแล้วหากจะมีการปรับลด-เพิ่มโมเดลที่ 3 ฝ่ายเห็นชอบร่วมกันก็เป็นเรื่องของอนาคต”
อธิราษฎร์ ดำดี
ด้านนายอธิราษฎร์ ดำดี กรรมการในคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) กล่าวว่า การมีสูตรโครงสร้างราคาปาล์มทะลายถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แม้จะมาช้ามากๆ ก็ตาม เป็นผลงานจากการนำเสนอโดยทางสภาเกษตรกรแห่งชาติที่มีมาไม่น้อยกว่า 3-4 ปี แต่ก็ยอมรับว่าค่าตัวแปรต่างๆ เป็นค่าเขย่งที่ไม่เหมาะสม เกินจริง ราคาตลาดที่ซื้อขายปาล์มในแต่ละช่องฟ้องให้เห็นได้ชัดๆ ว่าค่าเขย่งไม่ได้มีแต่ ในคะแนนการเลือกตั้งเท่านั้น ถ้าใช้ค่าต่างๆที่เขย่งแบบนี้ ปาล์มนํ้ามันทั้งระบบ ซอยเท้ายํ่าอยู่กับที่เหมือนเดิม เกษตรกรจนเหมือนเดิม
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3486 วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
● ซีพีโอเถื่อนทะลัก ทุบราคาปาล์ม จี้ทุกหน่วยงานสกัด
● บิ๊ก กยท.-กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งจ่ายเงินชาวสวนปาล์ม-ยาง คืบ 97%
● เปิดโครงสร้างราคาปาล์มฉบับ ‘โรงสกัดปะทะสูตรเกษตรกร’
● ทุบโต๊ะอนาคตปาล์ม รุกไบโอดีเซลเต็มสูบ
● ‘มานิต’นัดท้าพิสูจน์โครงสร้างราคาปาล์ม 3 ก.ค.นี้