รายงาน : โดย บุญเลื่อน พรหมประทานกุล
รัฐบาลอนุมัติโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยแผนงานที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักคือ ต่อทางรถไฟสายใต้ที่ชุมพรไปยังระนอง ระยะทาง 108 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 45,000 ล้านบาท เพื่อให้ท่าเรือระนองเป็นประตูด้านตะวันตกเชื่อม 2 ฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน และเชื่อมโยงฐานการผลิตในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) กับการขนส่งสินค้า วัตถุดิบกับพื้นที่ภาคใต้และการค้ากับกลุ่มประเทศอ่าวเบงกอล (กลุ่มบิมสเทค) ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบทางรถไฟสายใหม่นี้
นายจตุพจน์ ปิยัมปุตระ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ตามที่มีความคืบหน้าแผนก่อสร้างระบบรางชุมพร-ท่าเรือระนองแล้วนั้น ขณะนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้กลับมาศึกษาโครงการคอนเทนเนอร์ แลนด์ยาร์ด ที่จังหวัดชุมพรอีกครั้ง หลังโครงการนี้หยุดชะงักมาระยะหนึ่ง โดยได้หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกัน โครงการดังกล่าวจะเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการขนถ่ายสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์จากฝั่งอ่าวไทยมายังฝั่งอันดามัน ระหว่างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้รอบอ่าวเบงกอล (กลุ่มบิมสเทค) และเชื่อมฐานการผลิตทางตะวันออกของประเทศ โดยขนส่งทางรางจากแหลมฉบังมาพักถ่ายที่ศูนย์คอนเทนเนอร์แลนด์ยาร์ดที่ชุมพร เพื่อขนส่งต่อมายังท่าเรือระนองแล้วกระจายสู่ประเทศในฝั่งทะเลอันดามันต่อไป เมื่อศึกษารายละเอียดครบแล้วจะได้เสนอขออนุมัติการลงทุนจากรัฐบาลต่อไป
จุดแข็งของท่าเรือระนอง คือ มีที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลฝั่งอันดามัน และจะเป็นฮับแห่งหนึ่งในขนส่งทางทะเล ของกลุ่มประเทศเอเชียใต้(บิมสเทค) ได้ แต่ต้องสนับสนุนให้มีการพัฒนาเป็นขั้นตอน โดยขั้นตอนแรก จะต้องเชื่อมโยงท่าเรือระนองกับท่าเรืออาห์โลน เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เข้าด้วยกัน แม้ว่าที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเข้ามาให้บริการเดินเรือที่ท่าเรือระนองจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่มั่นใจในศักยภาพและโอกาสที่ท่าเรือระนองจะกลายเป็นท่าเรือสำคัญในภูมิภาค
จากรายงานการศึกษาพบว่า การขนส่งผ่านท่าเรือระนองมีความเป็นไปได้สูง โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน และมีต้นทุนตํ่ากว่าการไปใช้ท่าเรือสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันคิดอัตราค่าบริการสูงมาก ขณะที่การขนส่งสินค้าทางถนนผ่านด่านแม่สอดไปเมืองย่างกุ้งของเมียนมา มีปัญหาต้นทุนการขนส่งทางถนนสูง ขนส่ง 300 ตู้คอนเทนเนอร์ ต้องใช้รถบรรทุก 300 คัน แล้วไปเปลี่ยนถ่ายรถบรรทุกของเมียนมาที่ชายแดน มีปัญหาทั้งสภาพรถและสภาพถนน เกิดความล่าช้า และสินค้าแตกหักเสียหายเป็นสัดส่วนสูง แล้วยังต้องหาเช่าคลังสินค้าที่มีราคาแพงอีก ทำให้เมื่อสินค้าถึงปลายทางมีต้นทุนสูงกว่าขนส่งทางเรือมาก สำหรับสินค้าปริมาณมากหรือนํ้าหนักเยอะและมีคลังสินค้าที่ท่าเรือให้บริการพร้อม
หากทุกฝ่ายร่วมผลักดันโมเดลนี้ให้สำเร็จ ซึ่งจะทำให้การเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งจากอ่าวไทยมายังจังหวัดระนองกระจายสู่ฝั่งอันดามันสามารถทำได้สะดวกรวดเร็ว แต่ที่รัฐต้องสนับสนุนสำคัญคือกฎระเบียบการขนถ่ายลำ ที่ยังติดข้อกฎระเบียบของศุลกากรที่กำหนดขึ้นท่าเรือใดก็ต้องส่งที่ท่าเรือนั้น ซึ่งจุดนี้เป็นปัญหามากในการผลักดันโมเดลให้สำเร็จ ส่วนการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้าภาคใต้จากนราธิวาสขึ้นมายังตอนบนที่มียางพารา ไม้ยางพารา ก็สามารถเชื่อมมาถึงระนอง มีการวางระบบโลจิส ติกส์เชื่อมโยงสู่ท่าเรือระนองด้วยเช่นกัน ส่วนการเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศในบิมสเทค ที่ผ่านมาได้พูดคุยและศึกษาในความเป็นไปได้ ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับท่าเรือจิตตะกอง
นายพิฑญาฬ์ เดชารัตน์ ผู้จัดการท่าเรือระนอง เปิดเผยว่า ท่าเรือระนองได้เพิ่มศักยภาพในการให้บริการโดยการเพิ่ม
เครื่องมือทุ่นแรง บุคลากร เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้เต็มศักยภาพ และเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ BIMSTEC ประกอบด้วย เมียนมา อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา และไทย เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับโลก เป็นประตูการค้าฝั่งทะเลอันดามันอย่างแท้จริง
โดยท่าเรือระนองให้บริการเรือสำหรับผู้ประกอบการนำสินค้าไปยังท่าเรือต่างๆ ระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีภาคเอกชนเข้ารับบริการแล้ว 2 ราย คือสายการเดินเรือ S.A.K. เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 และบริษัท เอ็น.ซี.แอล. อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ท่าเรือระนองยังมีแผนการขยายท่าเรือ เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคตข้างหน้า เพิ่มศักยภาพรองรับเรือใหญ่ได้ และการเข้าสู่อาเซียน อีกทั้งยังมีความมุ่งมั่นและตั้งใจให้ท่าเรือระนองใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพและเป็นท่าเรือสากลที่จะเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคอาเซียนได้
(ล้อมกรอบประกอบ)
อนุมัติ 70 ล้านพัฒนาท่าเรือระนอง
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 เห็นชอบหลักการการศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดของรูปแบบการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชุมพร-ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช (การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน) ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอภายใต้กรอบการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่
(1) การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก
(2) การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน
(3) การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง
และ (4) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมวัฒนธรรม และการพัฒนาเมืองน่าอยู่
ประกอบด้วยโครงการจำนวนรวม 116 โครงการ กรอบวงเงินปี 2562-2565 รวม 106,790.13 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 อนุมัติงบสำหรับโครงการจำเป็นเร่งด่วน 8 โครงการ วงเงินรวม 2,677.3173 ล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นคือ โครงการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการตลาดของท่าเรือระนอง รองรับกลุ่ม BIMSTEC วงเงิน 70 ล้านบาท
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,486 วันที่ 11 - 13 กรกฎาคม 2562