กว่า 30 ปี กับความยิ่งใหญ่ของร้าน“เอ็มเคสุกี้” บนเส้นทางร้านอาหารของเมืองไทย ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จติดลมบน ทุกครั้งที่มีชื่อ MK ย่อมมีชื่อ “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” เคียงข้างเสมอในฐานะประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งมวล “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ “ฤทธิ์” ผู้ปลุกปั้นอาณาจักรเอ็มเค จากจุดเริ่มต้นจนวันนี้มีมูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท
ยุทธศาสตร์ “เอ็มเค กรุ๊ป”
“ฤทธิ์” บอกว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ MK นับจากนี้จะให้ความสำคัญกับ 4 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.การซื้อแฟรนไชส์ 2.การร่วมทุนทั้งในและต่างประเทศ 3.การพัฒนาแบรนด์และสร้างแบรนด์ขึ้นมาใหม่ และ 4. การเข้าซื้อกิจการ พร้อมกันนี้ยังมีการเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงและโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นในธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านทรัพยากรบุคคล เม็ดเงิน และการวางระบบการทำงานที่ดี เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่บริษัท
ขณะที่การเข้ามาของเทคโนโลยีเมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คืออีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทางกลุ่มต้องมีการปรับตัวอย่างหนักหน่วง โดยจะมีการปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ในทุกๆ 7 ปี ซึ่งแน่นอนว่ายุทธศาสตร์การดำเนินงานนับจากนี้จะให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการพัฒนาแผนงานเพื่อรองรับการเข้ามาของยุคดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีทั้งการนำแท็บเลตมาใช้ในการสั่งอาหาร รวมถึงการนำเครื่องทอนเงินอัตโนมัติทดลองใช้ใน 10 สาขา ก่อนจะวางเป้าหมายยกเลิกการใช้เมนูกระดาษ แต่จะปรับมาใช้ดิจิทัลเมนูเข้ามาใช้แทน
“ต้องยอมรับว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนของบริษัทเองต้องมีการเรียนรู้ และมองหา เตรียมความพร้อมในการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามารองรับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการทดลองนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ภายในร้านเสมอ และหากประสบความสำเร็จก็จะมีการนำเข้าไปใช้ในร้านของบริษัททุกสาขา”
เสริมแกร่งพอร์ตธุรกิจรอบทิศ
อีกหนึ่งจิ๊กซอว์ชิ้นใหญ่ที่เข้ามาเสริมแกร่งให้กับทางเครือด้วยการทุ่มกว่า 2,000 ล้านบาทในการเข้าซื้อหุ้น “แหลมเจริญซีฟู้ด” ถือเป็นอีกหนึ่งบิ๊กมูฟของเอ็มเค ที่ต้องการสร้างความแข็ง แกร่งให้กับธุรกิจ จากเดิมที่พอร์ตธุรกิจร้านอาหารของบริษัทมีอยู่หลากหลายแบรนด์ ทำให้มีแนวคิดว่าถ้ามีแบรนด์ไหนที่จะมาร่วมกันจะต้องเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพ แน่นอนว่าแหลมเจริญคือแบรนด์ที่มองว่ามีศักยภาพทางการเติบโต และมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สามารถไปด้วยกันได้
“แหลมเจริญซีฟู้ด คือแบรนด์โลคัล ไทยซีฟู้ด ที่มีศักยภาพและความโดดเด่น ขยายตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่เอ็มเค ก็มีความแข็งแกร่งด้านระบบ การเทรนนิ่ง การสร้างแบรนด์ และการตลาด รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อว่าการทำงานร่วมกันดังกล่าวจะสามารถพาแหลมเจริญจาก 26 สาขาสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีคุณค่ามากขึ้นในอนาคต”
นอกจากนี้ยังมีการร่วมทุนกับบริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้ง คัมปะนี เปิดตัวบริษัท เอ็ม-เซนโค โลจิสติกส์ จำกัด พร้อมทั้งทุ่มงบ 1,750 ล้านบาท พัฒนาคลังเก็บสินค้าแบบเย็น (Cold Warehouse) ขนาด 20,000 ตารางเมตร รองรับการเก็บสินค้าได้มากถึง 12,000 พัลเลต (Pallet) ไปเมื่อปีที่ผ่านมา โดยคลังสินค้าดังกล่าวพร้อมเปิดให้บริการในเดือนตุลาคมนี้ โดยมั่นใจว่าจะสามารถมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาท ในปี 2568
ท้ายที่สุด “ฤทธิ์ ธีระโกเมน” ในวัย 68 ปี ยังคงเดินหน้านำทัพใหญ่ “เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” ด้วยการพาร้านอาหารในเครือเอ็มเค 8 แบรนด์ ได้แก่ ร้านเอ็มเค สุกี้, ร้านเอ็มเค ไลฟ์, ร้านอาหารญี่ปุ่นยาโยอิ, ร้านอาหารญี่ปุ่นฮากาตะ, ร้านมิยาซากิ, ร้านอาหารไทย เลอ สยาม, ร้านอาหารไทย ณ สยาม และร้านกาแฟ ให้สามารถเติบโตฝ่าวิกฤติต่อไป ก่อนจะมองหาตัวแทนที่เหมาะสมเข้ามารับไม้ต่อกับตำแหน่ง ซีอีโอ และวางมือในอนาคต
หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3513 ระหว่างวันที่ 13-16 ตุลาคม 2562