ผลจากการเร่งรัดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อนํ้ามันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป้าหมายเพื่อยกระดับราคาผลปาล์มทะลายให้สูงขึ้น ช่วยลดภาระงบประมาณที่ต้องใช้ในการประกันรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มนํ้ามัน พร้อมมีมาตรการคู่ขนานที่จะบริหารจัดการสมดุลอุปสงค์ อุปทานและการแก้ปัญหาราคาให้มีความยั่งยืน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงนโยบายปรับสมดุลปาล์มเพื่อความยั่งยืนของกระทรวงพลังงาน ที่ได้ประกาศกรอบเวลาดำเนินการไว้ตามลำดับ เริ่มจากวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ขอความร่วมมือผู้ค้านํ้ามันเพิ่มปริมาณการจำหน่าย บี 10 ในสถานีบริการ วันที่ 1 ธันวาคม 2562 ประกาศใช้มาตรฐานบี 100 เกรดเดียว วันที่ 1 มกราคม 2562 ให้ผู้ค้านํ้ามันทุกคลังผลิตนํ้ามันดีเซลบี 10 และวันที่ 1 มีนาคม 2563 จะมีนํ้ามันบี 10 จำหน่ายในทุกสถานีบริการทั่วประเทศ ประมาณ 2 หมื่นสถานี เป้าหมาย ณ เดือนมีนาคม 2563 จะมีการใช้ไบโอดีเซล บี 100 ประมาณวันละ 7 ล้านลิตร (จาก ณ เดือนธันวาคม 2562 จะมีการใช้ประมาณวันละ 5 ล้านลิตร) สำหรับรถยนต์ที่ใช้นํ้ามันดีเซลประมาณ 10.5 ล้านคัน จากการสำรวจพบว่ากว่า 50% ได้หันมาใช้บี 10 และไม่มีปัญหาด้านเครื่องยนต์
“ความต้องการใช้ของผู้บริโภคขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคานํ้ามันดีเซลแต่ละเกรด และความพร้อมของอุตสาหกรรมยานยนต์ ตามแผนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประมาณการผลผลิตปาล์มนํ้ามันปี 2562 จำนวน 17.80 ล้านตัน ความต้องการใช้ตามแผนพลังงานทดแทนปี 2563 เท่ากับ 57 ล้านลิตรต่อวัน และจากการที่กำหนดให้บี 10 เป็นนํ้ามันดีเซลเกรดพื้นฐานในวันที่ 1 มกราคม 2563 จะรองรับนํ้ามันปาล์มดิบได้เพิ่มขึ้นอีกปีละมากกว่า 2 ล้านตัน”
ปัจจุบันมีรถยนต์ที่ใช้บี 20 เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าอาจจะมีความต้องการใช้มากกว่าบี 10 แต่หากราคาจำหน่ายบี 10 เท่ากับบี 20 ผู้ที่ใช้ก็อาจเลือกใช้บี 10 มากขึ้น ซึ่งก็ได้มีการแบ่งประเภทรถยนต์ ที่ใช้ตามชนิดนํ้ามัน (กราฟิกประกอบ)
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบคงเหลือ ณ ปัจจุบัน 4 แสนตัน เมื่อหักปริมาณที่ กฟผ.รับซื้อจะเหลืออีกประมาณ 3 แสนตัน ประกอบกับผลปาล์มนํ้ามันที่จะออกสู่ตลาดมีแนวโน้มลดลงคาดช่วงมกราคม 2563 จะไม่มีปัญหาอุปทานส่วนเกินที่ต้องจัดการ
อย่างไรก็ดีอยู่ระหว่างการจัดทำโครงสร้างไบโอดีเซลบี 100 เกรดเดียวเพื่อใช้เป็นฐานในการปรับราคาจำหน่ายบี 20 มาเป็นบี 10 สำหรับสถานีบริการ จากการประชุมร่วมกับผู้ค้านํ้ามันตามมาตรา 7 เบื้องต้น ณ สิ้นเดือนมกราคม 2563 จะมีการจำหน่ายบี 10 ในสถานีบริการมากกว่า 5,000 สถานี
ด้านนายอธิราษฎร์ ดำดี คณะอนุกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) กล่าวถึง กรณีโรงงานซื้อนํ้ามันปาล์มดิบมากลั่นนํ้ามันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBD) เพื่อนำไปผลิตบี 100 โครงสร้างต้นทุนจะใกล้เคียงกับการใช้สเตียรีนในการผลิตและตํ่ากว่าโรงงานที่ซื้อ RBD มาใช้ผลิตบี 100 ดังนั้นในอนาคตมองว่า บี 20 จะได้รับการยอมรับและมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น คาดว่าปริมาณการใช้บี 20 จะไม่ลดลงจากปัจจุบันมาก ซึ่งกระทรวงพลังงานอาจจะต้องปรับแผนพยากรณ์การใช้นํ้ามันดีเซลหมุนเร็วให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันราคาผลปาล์มวันนี้พ้น 4 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แล้ว จากผลผลิตมีน้อย ดังนั้นในรอบ 3 รัฐคงไม่ต้องชดเชยประกันรายได้
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,525 วันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2562