ปัจจุบันโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ “ไทยแลนด์ อีลิท การ์ด” ที่มีสมาชิกเป็นชาวต่างชาติ 9,380 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนจีน 2,086 ราย คิดเป็น 22% การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแผนการขายบัตรในปีนี้หรือไม่ และการขับเคลื่อนธุรกิจในปีนี้จะเดินอย่างไร ภายใต้การกุมบังเหียนของเอ็มดีคนใหม่ อ่านได้จากสัมภาษณ์ นายสมชัย สูงสว่าง ผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี)
จีนเบอร์1อีลิทการ์ด
จีนเป็นชาติที่เป็นสมาชิกอีลิทการ์ดสูงสุดอันดับ 1 และยังเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ โดยจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2563 สมาชิกอีลิทการ์ด มีทั้งหมด 9,300 ราย เป็นสมาชิกเก่า (ก่อนปี 2556 ที่เป็นสมาชิกตลอดชีพซึ่งเลิกขายไปแล้ว) 2,438 ราย และสมาชิกใหม่จำนวน 7 ประเภท (หลังปี 2556 ที่มีการกำหนดอายุบัตรตั้งแต่ 5-20 ปี) 6,942 ราย ซึ่งสมาชิกใหม่ก็ยังเป็นคนจีน 2,013 ราย สัดส่วนสูงถึง 29%
ในปีงบประมาณ 2562 แม้จะเกิดสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา แต่การขายบัตรอีลิทการ์ดก็ยังคงเติบโตเกิน 15% โดยมียอดขายบัตรราว 2 พันใบ มีรายได้ 1,292 ล้านบาท
แสดงให้เห็นชัดเจนว่าอีลิทการ์ดมีสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านวีซ่าระยะเวลาสั้นสุด 5 ปี และสูงสุด 20 ปีตามประเภทของบัตรที่ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 5 แสนบาทไปจนถึง 2 ล้านบาท การให้บริการต้อนรับพิเศษที่สนามบิน บริการรถลีมูซีน การประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่สมาชิกจะต้องรายงานตัวทุก 90 วัน รวมถึงเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวของไทย
ทั้งการจัดอันดับ Global Residence Program Index ในปี 2561 ที่เพิ่งประกาศ ไทยได้อันดับ 4 ของโลก รองจากออสเตรีย, โปรตุเกส, อิตาลี และยังเป็นที่ 1 ของเอเชีย แสดงให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่น่าพำนักอาศัย
ไวรัสยังไม่กระทบ
ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีนี้ จากการหารือกับตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ พบว่าปัจจุบันไวรัสโคโรนา ยังไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายบัตรอีลิทการ์ด เนื่องจากคนที่ตัดสินใจซื้ออีลิทการ์ด ไม่ได้เพิ่งตัดสินใจ กระบวนการอนุมัติต้องใช้เวลา 30-35 วัน
ทั้งคนที่ซื้อก็มองการใช้สิทธิที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมากกว่า และด้วยความที่คนจีนไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ประกอบกับการเติบโตของชนชั้นกลางทำให้คนจีนเข้ามาซื้ออสังหา ริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และอยู่กันเป็นชุมชนมากขึ้น จีนจึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการขายบัตร ไม่กระทบเหมือนการท่องเที่ยว
ทั้งในขณะนี้ก็เริ่มเห็นว่านักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทยช่วงนี้ มีจำนวนหนึ่งก็คิดอยากอยู่เมืองไทยต่อนานขึ้น ก็มีเข้ามาซื้อบัตรอีลิทการ์ด ประเภทวีซ่า 5 ปี มูลค่า 5 แสนบาท ดังนั้นในขณะนี้แม้ไวรัสโควิด-19 จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการขายบัตรอีลิทการ์ด แต่เราก็ยังต้องเฝ้าระวังอยู่เช่นกัน
เป้า 2.5พันใบ
ขณะเดียวกันสมาชิกอีลิทการ์ด ก็ยังมีอีกหลายชาติที่เติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกลุ่มผู้เกษียณอายุชาวยุโรป เนื่องจากไทยเหมาะสมกับการพำนักระยะยาว เนื่องจากมีทั้งเรื่องความสะดวกในการให้บริการ และค่าครองชีพไม่สูง ทำให้บัตรสมาชิกอายุ 20 ปี จะขายได้ดีสำหรับกลุ่มนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวไทยแล้วไม่อยากกลับ และกลุ่มที่ทำงานอยู่แล้วในไทย ก็เข้ามาเป็นสมาชิก เพราะต้องการสิทธิประโยชน์ที่อีลิทการ์ดมีให้
ในปีนี้ผมตั้งเป้าหมายผลักดันยอดขายอีลิทการ์ดที่ 2,500 ใบ โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เราทำตัวเลขดีกว่าเป้าหมาย 5% โดยมีแผนขยายการขายเน้นตลาดอินเดีย ออสเตรเลีย เพิ่มเติมจากปัจจุบันมีการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย จำนวน 16 ราย อาทิ จีน สิงคโปร์ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น บังกลาเทศ ไทย ซึ่งตั้งเป้าเพิ่มรายได้ต่อเนื่อง โดยขยายจำนวนสมาชิกเพิ่ม คาดว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่เหลืออยู่จำนวน 518 ล้านบาท ได้ภายในปี 2566
ส่วนแผนการทำตลาดในปีนี้ หลังจากมีการปรับโครงสร้างองค์กรให้กระชับขึ้น ก็จะเน้นด้านดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น การเดินทางไปร่วมโปรโมตอีลิทการ์ด ผ่านการจัดงานสัมมนาของบริษัทที่ปรึกษาด้านลองสเตย์ ซึ่งปีนี้ก็จะไปที่ญี่ปุ่น หรือตัวแทนขายในต่างประเทศ และในปีนี้ทีพีซีได้ลงทุน 13 ล้านบาท ในการขยายพื้นที่ทำงานที่สนามบินสุวรรณภูมิ การรับพนักงานเพิ่ม การจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ
รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะปรับปรุงรูปแบบใหม่ คาดว่าจะเปิดเผยได้ในเดือนกันยายนนี้ ที่จะเป็นการลดการซํ้าซ้อนของบัตรเดิม และเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆเพิ่ม เช่น ด้านเมดิคัล หรือการทำประกัน เป็นต้น
ทั้งหมดเป็นทิศทางในการทำงานของทีพีซีที่จะเกิดขึ้น
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2563