วันที่ 15 มิถุนายน 2563 นายสัตวแพทยสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า โรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness: AHS) ในประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันของโรค มาตรการในการควบคุมโรค ผลการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์ และเพิ่มมาตรการเข้มคุมโรคให้ "นำม้าลายเข้ามุ้ง" ตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ 2558 ที่ประกาศเพิ่มให้ม้าลายเป็นสัตว์ชนิดอื่น ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2563
สืบเนื่องจากการเกิดโรค AHS ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก กรมปศุสัตว์ได้รับแจ้งวันที่ 25 มีนาคม 2563 และได้เร่งลงพื้นที่สอบสวนโรคและรายงานไปองค์การสุขภาพสัตวโลก (OIE) ทันที และรายงานต่อเนื่องรายสัปดาห์ จากการดำเนินงานต่อเนื่องภายในระยะเวลา 2 เดือน สถานการณ์ล่าสุดสามารถควบคุมการเกิดโรคได้วงพื้นที่จำกัด กรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีการตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อดำเนินการครอบคลุมทั้งด้านวิชาการ วัคซีน การลงพื้นที่ภาคสนาม การวิจัย และการศึกษาแมลงพาหะ มีการทำแผนปฏิบัติการกำจัดโรค AHS เพื่อคืนสถานภาพปลอดโรคจาก OIE ของประเทศไทย
ประกอบด้วย 3 ระยะ โดย ระยะแรก คือ ระยะเผชิญเหตุ (กำลังอยู่ในระยะนี้) ถ้าไม่มีรายงานม้าป่วยตายต่อเนื่องระยะเวลา 30 วัน จะสามารถเข้าสู่ ระยะสอง คือ ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติโรคซ้ำ และระยะสาม คือ การขอคืนสภาพปลอดโรคของประเทศไทย โดยสิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินงานให้สำเร็จได้ (Key of successful measures) คือ ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (Public Private Partnership: PPP) ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะจากสมาคมและผู้เลี้ยงม้าทุกราย
กรมปศุสัตว์มีมาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ซึ่งตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดสัตว์ชนิดอื่น ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ได้ประกาศเพิ่มให้ "ม้าลาย และรวมถึงสัตว์ในวงศ์อีไควดี" เป็นสัตว์ชนิดอื่นตามมาตรา 34 แห่ง พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา "ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2563" ซึ่งขั้นตอนการนำเข้ามีการทำงานร่วมกัน 3 หน่วยงาน คือ กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมศุลกากร
การนำเข้าสัตว์ต้องทำตามมาตรการและเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด มีการตรวจสุขภาพสัตว์เบื้องต้น ตรวจเอกสารรับรองสุขภาพสัตว์ (Health Certificate) และมีการตรวจเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ เฉพาะสัตว์ที่ปกติและตรงตามเงื่อนไขเท่านั้นสามารถนำเข้าได้ กรณีที่ผิดปกติ/ไม่ตรงตามเงื่อนไข จะส่งกลับหรือทำลาย ซึ่งจากการรายงาน "ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2563 ยังไม่มีรายงานการนำเข้าม้าลาย" และจากการรายงานพบว่า "สัตว์ที่ผ่านการนำเข้าตามขั้นตอนและมาตรการของกรมปศุสัตว์ ยังไม่มีรายงานการเกิดโรคในสัตว์ที่กำหนดตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558"
แนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค AHS ในม้าลาย กรมปศุสัตว์มีมาตรการสำหรับการป้องกันโรค ดังนี้ 1. คอกพักสัตว์ต้องติดตั้งมุ้งหรือตาข่ายสำหรับกันแมลง ที่มีขนาดความถี่ 32 ตา เป็นอย่างน้อย ทำการฝึกสัตว์ให้คุ้นชินต่อการกักตัวในคอกพัก และให้นำม้าลายเข้าพักในคอกที่มีมุ้งตาข่ายในเวลากลางคืน ทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ทำลายเศษอาหารหรือกองมูลบริเวณที่เลี้ยงสัตว์ และพ่นน้ำยากำจัดแมลงบริเวณคอกพักสัตว์รวมถึงมุ้งตาข่าย ทุกๆ 7-14 วัน
2. ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงพาหะ และแมลงบินต่างๆ ด้วยการฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลง ที่ปลอดภัยต่อม้าลาย หรือพ่นยาฆ่าแมลงชนิดพ่นควัน 3. พ่นยาฆ่าแมลงที่ตัวม้าลายด้วยยาในกลุ่มที่มีความปลอดภัยต่อตัวสัตว์ เช่น ยาในกลุ่ม Etofenprox หรือสารสกัดจากธรรมชาติ
สำหรับกรมปศุสัตว์ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ที่เลี้ยงม้าลายทุกรายให้ดำเนินการตามข้อกำหนด ซึ่งได้ดำเนินการนำม้าลายเข้ามุ้งเรียบร้อยแล้ว 2 แห่ง คือ สวนสัตว์นครราชสีมา และสวนสัตว์เขาเขียวสงขลา ในองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจะมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตาม ถ้าไม่ทำตามมาตรการจะมีบทกำหนดลงโทษตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 นอกจากนี้ ในการประชุมคณะกรรมาธิการ OIE ประจำภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกไกล และโอเชียเนีย เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 เพื่อเป็นความมั่นคงของวัคซีนลดการแพร่กระจายของโรค หากมีการเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้เสนอให้มี Vaccine bank แบบชั่วคราวในภูมิภาคนี้ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว ซึ่งจะพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป