สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “สสว.” ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ “ส.อ.ท.” จัดสัมมนา “GREEN BUSINESS เทรนด์ธุรกิจ เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมบนเส้นทาง Online และ Offline” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2563 หวังปั้น “เอสเอ็มอี” (SMEs) เจาะตลาดที่ตอบโจทย์ชีวิตแบบ “New Normal” สร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืน
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยว่า หนึ่งในนโยบายของรัฐบาล คือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “BCG Economy Model” ซึ่งเป็นการบูรณาการแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 มิติ ได้แก่ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) มาใช้วางแนวทางในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สามารถนำทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ หรือปล่อยของเสียออกสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ สสว. จึงได้นำนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อนสู่ภาคธุรกิจ ภายใต้โครงการ SME Regular Level โดยมีเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ 1. เพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ 2. การลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ 3. การบริหารทุกทรัพยากรให้คุ้มค่าและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น นอกจากการพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้าแล้ว การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และส่งผลต่อเทรนด์การตลาด ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือมีกระบวนการผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี แนวทางดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของ สสว. ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ SME เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจตามวิถีใหม่ หรือ New normal มุ่งเน้นขับเคลื่อนผู้ประกอบการ SME ใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Early Stage) ผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง (Regular) และกลุ่มล้มลุก (Turn around) ให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยมีกรอบแนวทางในการพัฒนา ทั้ง 3 มิติ ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบดำเนินธุรกิจ (Business Transformation) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด 2. การผลักดันธุรกิจให้เชื่อมโยงกับตลาด ในภูมิภาค (Globalization) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME มีโอกาสเชื่อมโยงและพึ่งพากันในระดับภูมิภาคเอเซียในรูปแบบออนไลน์ (Digital Based) และ 3. การเชื่อมโยง (Future Network) มีการสร้างสังคมแห่งการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ SME ในประเทศและสร้างเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า กรอบการพัฒนาที่กล่าวมานี้ สามารถนำแนวคิด BCG Economy Model มาประยุกต์ร่วมเพื่อสร้างความยั่งยืนของธุรกิจได้ในทุกๆ แนวทาง ซึ่งตรงกับเป้าหมายของทาง ส.อ.ท. ที่พยายามผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการสู่ Green Business โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเป็นหลักและตรงกับบทบาทของ สสว. ที่เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพ SME โดยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อผลักดันการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล
“สสว. จึงได้ร่วมกับ ส.อ.ท. จัดสัมมนา GREEN BUSINESS เทรนด์ธุรกิจ เพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมบนเส้นทาง Online และ Offline ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2563 รวมทั้งมาชี้แจงแนวทางการสนับสนุนช่วยเหลือ SME ในวันนี้ และนับเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีโอกาสมาพบปะกับผู้ประกอบการ SME ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการในปีนี้และสนใจเกี่ยวกับการนำแนวคิดเรื่อง Green Business ไปปรับใช้ในธุรกิจของแต่ละท่าน”
นายสรกิจ มั่นบุปผชาติ รองประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ส.อ.ท. กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้ใช้แนวคิด BCG Economy Model มาขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เข้าสู่การบริหารจัดการธุรกิจแบบยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมูลค่าสูงสุด เป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนามุ่งเน้นไปในกลุ่มอุตสาหกรรมภาคการผลิตเป็นหลัก
โดยให้ความรู้และให้คำปรึกษาเชิงลึกใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม 2.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) 3.การใช้ของเสียให้เป็นประโยชน์ (Waste Beneficiation) 4.การใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency) และ5. อาคารสีเขียว (GREEN Building)
สำหรับการจัดงานสัมมนานั้น เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่อยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Regular Level) ปี 2563 ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมร่วมกับสถาบัน SMI ส.อ.ท. ดำเนินการ โดยมีเป้าหมายให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการจำนวน 700 ราย กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ นครศรีธรรมราช อุดรธานี สระบุรี และลพบุรี
โดยเน้นให้เห็นนโยบายขององค์กรขนาดใหญ่ที่ปรับการตลาดตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับเกียรติจาก บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มาถ่ายทอดแนวคิด รวมทั้งการนำเสนอกรณีศึกษาจากผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสะอาด โครงการ GEF UNIDO CEANTECH ขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization : UNIDO) มาสร้างแรงบันดาลใจและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ SME ได้เห็นถึงประโยชน์และแนวทางการพัฒนาของผู้ประกอบการรายเล็กที่เติบโตแบบก้าวกระโดดจากการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กร รวมถึงการสัมมนายังให้ความรู้เกี่ยวกับการตลาดที่ตอบโจทย์ชีวิตแบบ New Normal เพื่อผู้ประกอบการจะสามารถนำไปปรับกลยุทธ์การขายในองค์กรต่อไปได้ และที่ขาดไม่ได้คือการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับสถาบันการเงิน
“การสัมมนาจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและสร้างแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมนำแนวคิด BCG Economy Model มาขับเคลื่อนภาคธุรกิจให้เข้าสู่การบริหารจัดการแบบยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมูลค่าสูงสุด ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ผู้ประกอบการและชุมชนอย่างทั่วถึง และมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนต่อไป”