นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดริ์น เทรด ประจำเดือนไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการ 112 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23 ธ.ค. 2563 ถึง 18 ม.ค. 2564 ผลการสำรวจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 47.3 ลดลงจากในช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ระดับ 47.4 ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางที่ 50 จากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งถือว่ายังไม่กลับมาเป็นปกติ เป็นการประคองตัวเท่าเดิม หรืออาจซึมตัวลงได้เป็นการมองด้วยความไม่มั่นใจ มีความกังวลในเชิงลบมากกว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ได้กลับมาอย่างโดเด่น ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิดในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา ดังนั้นในไตรมาสที่ 1 ในปี 2564 จึงระบุได้ว่ามีแนวโน้มสถานการณ์ยังคงนิ่ง ๆ สถานการณ์อาจจะปรับตัวดีขึ้นทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมการระบาดของโควิด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการโครงการคนละครึ่งที่ยังไม่สิ้นสุด และเราชนะ ที่จะมีเม็ดเงินเติมในระบบเพิ่มเติม จะส่งทางอ้อมให้ร้านค้ารายย่อยที่ค้าขายดีขึ้น เข้ามาจับจ่ายในห้างค้าปลีกได้มากขึ้น เพราะเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่ง จะมีเงินของภาครัฐเพียง 45,000 ล้านบาท และจากประชาชนอีกครึ่งนึง คือ 45,000 ล้านบาท แต่เราชนะ จะเห็นผลชัดเจนขึ้นเพราะมีเม็ดเงินถึง 2 แสนล้านบาท โดยธุรกิจค้าปลีก น่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง จากแรงหนุนเพิ่มเติมจากสถานการณ์ส่งออก และแต่ละประเทศมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้การล๊อกดาวน์น้อยลง รวมทั้งยังมีแนวคิดหากมีการเปิดน่านฟ้า ให้จัดทำเป็น วัคซีนพาสปอร์ต หากทำได้ในไตรมาส 4 สถานการณ์การคลายให้การท่องเที่ยวกลับมา น่าจะทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีก ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และกลับมาเป็นปกติได้ในปี 2565
ส่วนข้อเสนอแนะที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาคือ ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้เร็วที่สุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยลดค่าใช้จ่ายภาคปลีกและการบริการเร่งด่วน เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ 50% ระยะเวลา1 ปี นำค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า พิจารณางดเว้นการเก็บภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินประจำปี 2563 – 2565 ขยายระยะเวลาการนำผลขาดทุนสุทธิยกมาจากเดิมไม่เกิน 5 รอบ เป็น 8 รอบ ระยะเวลาบัญชี เร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศ สนับสนุนให้ธุรกิจค้าปลีกได้มีส่วนร่วมในโครงการของรัฐบาล
รวมทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ช้อป ดี มีคืน เพิ่มวงเงินเป็น 50,000 บาท ในไตรมาส 1 ปี 2564 การสนับสนุนบริษัทเอกชนในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการเสริมมาตรการป้องกันโควิด-19 เช่น สามารถเอาค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีธุรกิจได้ 2 เท่า การส่งเสริมแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ธุรกิจค้าปลีกและบริการและผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นผู้เช่า ลดภาษีนิติบุคคลจาก 20% เป็น 10% เป็นเวลา 3 ปีหรือการเลื่อนการจ่ายภาษี เช่น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย, ภาษีนิติบุคคลประจาปีเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องของธุรกิจค้าปลีกเพื่อรักษาสถานะภาพการจ้างงานภาคค้าปลีกและบริการ ป้องกันคนตกงาน เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนค่าจ้าง 50% ให้กับโซนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เช่น สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี ภูเก็ต โดยมีเงื่อนไขว่าบริษัทฯ ต้องไม่จ้างพนักงานออก หรือให้ภาคค้าปลีกและบริการนาค่าใช้จ่ายค่าจ้างแรงงานมาหักภาษีได้ 3 เท่า ในปี 2563-2565
ด้านนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการกลุ่มค้าปลีกค้า กล่าวว่า ต้องการเร่งให้ภาครัฐอนุมัติให้ผู้ประกอบการออกแบบการจ้างงานตามสถานการณ์ธุรกิจค้าปลีกได้ด้วยการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการว่างงาน แก้ไขปัญหาการตกงานของนักศึกษาจบใหม่ สนับสนุนพื้นที่แพลตฟอร์มในแอปพลิเคชั่นให้เอสเอ็มอี โอทอป นำสินค้ามาจำหน่ายได้ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ และสามารถเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยคัดกรองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการรับซอฟท์โลนจากภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลที่เอสเอ็มอีรายนั้นทำการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่นกับโมเดริ์นเทรด รวมทั้งสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรให้กับเกษตรกร
ขณะที่นางสาวชลิดา จันทร์สิริพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า การช่วยคัดกรองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการรับซอฟท์โลนจากภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลที่เอสเอ็มอีรายนั้นทำการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่นกับโมเดริ์นเทรดนั้นจะช่วยลดภาระหนี้เสียให้กับธนาคารได้ จึงขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาในส่วนนี้ รวมทั้งเร่งอนุมัติการจ้างานแบบรายชั่วโมงเนื่องจากมีแรงงานล้นตลาดโดยเฉพาะแรงานจากภาคท่องเที่ยว โดยย้ำว่าการจ้างงานรายชั่วโมงลูกจ้างยังได้สิทธิต่าง ๆจากประกันสังคมซึ่งภาครัฐต้องออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆให้เหมาะสมกับสถานการณ์