“ทีเซลส์” จับมือพันธมิตร พัฒนา AI ยกระดับแพทย์ไทย

24 เม.ย. 2564 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2564 | 03:53 น.

ทีเซลส์ จับมือราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและเครือข่ายพันธมิตร พัฒนา AI ด้านรังสีวิทยา เสริมแกร่งวงการแพทย์อนาคต

ดร. ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือทีเซลส์ (TCELS) กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบาดครั้งใหญ่ของ SARS-COV-2 กระทบทำให้ทั่วโลกเกิดภาวะวิกฤติ COVID-19  ซึ่งทางด้านการแพทย์นั้นก็ได้เร่งศึกษาโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งค้นพบได้มีการติดตามข้อมูลความเจ็บป่วยและผลการติดตามทางห้องปฏิบัติการเพื่อเฝ้าระวัง

ตลอดจนเร่งการพัฒนาและใช้องค์ความรู้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางด้านการแพทย์และสุขภาพ และเป็นที่คาดหมายได้ว่าจากสถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี (technology transformation) ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการแพทย์และสุขภาพคือ “ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI)”

ด้วยความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลมหาศาล และความรวดเร็วและแม่นยำในการประมวลผลเชิงตรรกะ AI จึงสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมากมาย ทั้งต่อบุคคลทั่วไป ผู้ป่วย แพทย์ นักวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ที่เข้มแข็ง

“ทีเซลส์” จับมือพันธมิตร พัฒนา AI ยกระดับแพทย์ไทย

โดยล่าสุด “ทีเซลส์” ได้ร่วมกับราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าวโครงการความร่วมมือการพัฒนางานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมมีพิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนางานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยา โดยภายในงานได้จัดเวทีการเสวนาหัวข้อ “ความร่วมมือการพัฒนางานด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ User Guideline” และ “การใช้ AI ในงานของกรมการแพทย์” ซึ่งนับว่าเป็นโครงการนำร่องเพื่อร่วมกันศึกษาและพัฒนางานนวัตกรรมแนวทางการใช้งานที่เหมาะสม และเพื่อให้โครงการเกิดเป็นรูปธรรมและสร้างเครือข่ายการพัฒนางานวิจัยที่ยั่งยืนต่อไป

จากความร่วมมือในครั้งนี้เราคาดหวังว่าจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ด้านรังสีแพทย์ และงานนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นแนวทางการพิจารณาการเลือกใช้งานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยา เพื่อให้รังสีแพทย์มีเครื่องมือในการประเมินเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อนการนำไปใช้ในการช่วยคัดกรอง วินิจฉัย รักษาและดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตลอดจนประชาชนยังสามารถเข้าถึงการให้บริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากสองหน่วยงานที่ร่วมมือในครั้งนี้แล้ว เรายังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นหน่วยงานเครือข่ายและพันธมิตรทั้งในส่วนของ ทีเซลส์ และราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย มาร่วมศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้ปัญญาประดิษฐ์ทางด้านการแพทย์ เช่น สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย มหาวิทยาลัยต่างๆ หน่วยงานภายในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ สมาคมเฮลเทคสตาร์อัพ โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น 

ศิรศักดิ์ เทพาคำ

“หากสำเร็จเราก็คาดหวังว่า จะเกิด Platform แบบทดสอบประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยา แนวทางการพิจารณาการเลือกใช้งานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยา เกิดฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยา เกิดงานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยาและสามารถเข้าสู่กระบวนการใช้งานจริง สามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์จะส่งผลที่ดีต่อเศรษฐกิจจากการเกิดงานนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญสุดจะก่อให้เกิดความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ และความเชี่ยวชาญการพัฒนา AI ทางการแพทย์ในอนาคตอีกด้วย” ดร. ศิรศักดิ์ กล่าว

ดร. ศิรศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในประเทศไทยนั้นงานปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปหลายด้าน บ้านเราได้มีการตื่นตัว ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และนำมาใช้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น

• ปัญญาประดิษฐ์ช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคปอดต่างๆ ซึ่งทาง TCELS ก็มีความร่วมมือและให้การสนับสนุนงานดังกล่าว ร่วมกับ หน่วยงานในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี เครือโรงพยาบาลพญาไทเปาโล ศูนย์การแพทย์จีโนม โรงพยาบาลรามาธิบดี บริษัทเมลโลอินโนเวชั่น จำกัด และ บริษัท เอไอเอส จำกัด (มหาชน) 

• ปัญญาประดิษฐ์ช่วยคัดกรองมะเร็ง

• ปัญญาประดิษฐ์ช่วยคัดกรองเบาหวานขึ้นตา เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเกิดการพัฒนางานด้านการแพทย์เพิ่มมากขึ้นในอนาคตเพื่อนำ AI มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลและรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้นนั่นเอง

ด้าน รศ.นพ. วิวัฒนา ถนอมเกียรติ ประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากภาวะวิกฤติ COVID-19  แล้ว เรื่องวัณโรคปอดยังเป็นปัญหาสุขภาพระดับชาติ ที่รัฐบาลกำหนดให้ใช้ภาพทางรังสีเป็นตัวคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง ทำให้มีปริมาณภาพรังสีเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณจนอาจจะเกินกำลังของรังสีแพทย์ที่จะแปลผลได้ การเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน

ทำให้ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว และเพื่อให้เกิดการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน ให้มีประสิทธิภาพต่อทั้งแพทย์ผู้ที่ให้การรักษาและผู้ป่วยนั้น ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยาขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนางานนวัตกรรมที่มีคุณภาพและแนวทางการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ที่เหมาะสม

โดยความร่วมมือกับ ทีเซลส์ (TCELS) ในครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะขยายการทำงาน สร้างเครือข่ายและงานนวัตกรรมที่ดีเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลและรักษาผู้ป่วยในประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :