เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2564 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประกาศผู้ชนะการประมูลสต็อกยางรัฐบาลใน 2 โครงการ ก็คือ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 104,763.35 ตัน ให้กับ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูล
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท 1 ใน 5 เสือส่งออกยาง ซึ่งการที่บริษัทนี้ได้ประมูลก็ไม่ติดใจ เพราะยางมีอายุ 9 ปีแล้ว เป็นเรื่องดี จุดประสงค์ของเครือข่ายฯ ก็คือ ต้องการทำลาย ไม่ต้องการให้ยางก้อนนี้มาหลอกหลอนชาวสวนยางอีก ถือว่าสำเร็จแล้วให้จบไปก่อนที่จะเปิดหน้ายาง
“เป็นคำที่ได้ให้คำแนะนำที่ทางเครือข่ายฯ แค่ทำให้เรียบร้อย หากเปิดหน้ายาง เดือนพฤษภาคม มิถุนายน ถ้ายางออกมาจะทำลายราคายางของเราได้ เป็นการทำในจังหวะที่ไม่ได้ออกสู่ตลาดเท่าไร ส่วนราคาจะซื้อขายกันเท่าไร เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารจัดการก็คงจะทำให้ดีที่สุด”
นายธีระชัย กล่าวว่า ราคาไม่ได้ติดใจ จะซื้อขายตามราคาตลาด หรือความเสื่อมของยาง ตรงนี้จะมีคณะกรรมการอยู่ เราไม่กล้าล่วง เรามีสถานะเป็นเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เรามีขอบเขตการจำกัดของเราอยู่เท่านี้ เพียงแต่ให้นโยบายไปว่าควรทำ ไม่ควรทำในช่วงไหนก็จะบอก แต่คราวนี้เราบอกว่าควรทำ
เช่นเดียวกับนายพิเชฏฐ์ พร้อมมูล ประธานเจ้าหน้าบริหาร บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo หรือเออร์โก้) กล่าวว่า ผมประเมินแล้วการขายปิดดีลยางในครั้งนี้ภาพรวมเป็นบวก เพราะก่อนหน้านี้สต็อกยางก้อนนี้ค้างคาอยู่ ซึ่งเป็นไปตามที่ผู้ใหญ่หลายคนใน กยท. มาบอกว่าการซื้อเก็บสต็อกหวังว่าคงจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคตปัจจัยเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วก็ในตอนที่ทำโครงการในขณะนั้นก็คิดว่าจะทำให้ราคายางสูงขึ้น โดยวิธีการซื้อชี้นำสูงกว่าราคาตลาด ถามว่าได้ไหม ก็ได้
"แต่เป็นการยกระดับราคาเพียงชั่วคราว และได้เฉพาะคนเอายางมาขายได้ ส่วนคนอื่นก็ไม่ได้มีผลอะไรถ้าถามว่าช่วยดึงราคายางในตลาดโลกในขณะนั้นให้สูงขึ้นได้ไหม ซึ่งก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัด หรือทำให้ราคาในตลาดโลกสูงได้ แล้วคนที่นำยางมาขายให้กับรัฐบาลได้ในช่วงนั้นจะได้ราคาที่สูงกว่า คนที่เอามาขายได้ก็พอใจเพราะได้ราคายางที่ดีกว่า นี่ก็เป็นการหวังดี แต่ก็กลายเป็นภาระและสต็อกยางในปัจจุบัน"
นายพิเชฏฐ์ กล่าวว่า การขายยางทุกครั้งที่จะขายจริง จะมีเสียงต้านว่าจะทำให้ราคายางตกต่ำ ถ้าพูดโดยรวมแน่นอนก็กระทบจริง แต่อย่างไรก็ตาม หากยังมีสต็อกค้างคาอยู่ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็จะปล่อยออกมา เป็นภาพลบต่อราคาในตลาดโลก มองว่าเป็นการยอมเจ็บ เพื่ออนาคตที่ดีกว่า ถ้าถามลักษณะนี้โดยรวม ผมเห็นด้วยของการทำลายให้หายหมดสิ้นไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการไหนก็ตาม แต่การนำไปใช้ในประเทศ อาจจะช้า เลยต้องออกมาประมูลเทขายสต็อกยางในครั้งนี้ แน่นอนภาพทั้งโลก ตลาดยางก้อนนี้จะส่งผลลบต่อราคายางนิดหน่อย แต่หลังจากนี้ภาพที่ว่า รัฐบาลมีสต็อกยางอยู่ ก็จะไม่มีแล้ว ซึ่งเราก็คาดว่าจะส่งผลภาพบวกดีในระยะยาวได้ในที่สุด
ขณะที่ ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวว่า ผมมองว่าการประมูลในครั้งนี้ไม่โปร่งใส ผมคิดว่าการขายในครั้งนี้มองว่าเป็นการหาเงินเลือกตั้ง แล้วบริษัทนอร์ทอีส พ่อเค้าเป็นเป็นเพื่อนกับผม พ่อเค้าเคยเป็นนายกชาวสวนยางจังหวัดบุรีรัมย์ ชื่อคุณนรินทร์ จึงธนสมบูรณ์ ลูกชายผมก็รู้จัก แต่ไม่สนิท
“ผมกล้าพูดต่อหน้าพระแก้วมรกต ผมคิดว่าราคาซื้อขายอาจจะอยู่ราคากว่า 35-37 บาท ปัจจุบันราคาขี้ยางอยู่ที่ 47 บาท/กิโลกรัม ณ วันที่ 23 เมษายน 2564 ผมคิดว่าน่าจะทยอยนำไปขายตลาดกลางดีกว่าทีละ ตลาดละ 100 ตัน 7 ตลาด ก็ 700 ตัน”
นายอุทัย กล่าวว่า ผมมองดูว่าการขายยางครั้งนี้ คาดคะเนว่าจะมีการยุบสภา ก็หาเงินมาใช้ ประกอบกับ ตอนนี้ผู้ว่าฯ อยู่ในระหว่างการประเมินผลงานในช่วงประเมินหากไม่ทำเงินให้ ก็คิดว่าอาจจะประเมินตก แต่ว่าผมทำอย่างนี้พ่อค้าไม่เอาด้วย ผมว่าหากนำยางล็อตนี้ไปขายได้ทันทีเลยนะ รับมอบ 2 วันขาย 43-45 บาท ขายหมดเลย คนละพันตัน ได้เลย กองละ 500 ตัน จะเอาเท่าไร เพราะขี้ยาง 47 บาท แค่ 45 บาทได้กำไรแล้ว
“การมีเจ้าเดียวผมมองว่าเป็นการตกลงราคา ไม่ใช่ประมูลแล้ว ยางในสต็อกเป็นของหลวง เป็นของรัฐบาล น้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ทำไมไม่เปิดเผยราคา หากทำแบบนี้การประมูลสมัยอดีตผู้ว่าการฯ “ธีธัช สุขสะอาด” โปร่งใส มากกว่า และการทำแบบนี้ทำให้ผู้ประกอบการแตกแยกกัน แล้วอย่ามาพูดเงื่อนไขที่บริษัทที่ประมูลยางจะต้องมารับซื้อเพิ่มอีก 1 เท่า ก็ต้องซื้ออยู่แล้ว หากไม่ซื้อแล้วจะดำเนินธุรกิจปกติอย่างไร ถ้าไม่ซื้อจากสถาบันเกษตรกร จะซื้อให้เพื่อนบ้านหรืออย่างไร”
นายอุทัย กล่าวว่า ตามหลักการขายยางครั้งนี้ การเทขายให้หมดไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรา ยอมรับตามมติของ กนย. เราขายไปเป็นไปด้วยความโปร่งใสหรือเปล่า กนย.มอบอำนาจไป ไม่ใช่ว่าคุณจะไปทำอะไรก็ได้ เรายอมรับว่าอยากให้หมดไป แต่หมดวิธีไหน มาตรการที่ 2 ก็ต้องมีหลักเกณฑ์แล้วใช้กฎระเบียบข้อบังคับก็ต้องกระจายให้ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่งั้นผู้ประกอบการจะทะเลาะกัน ไม่รักสามัคคีกัน จะเอาเปรียบกัน คนนี้ได้คนนี้ไม่ได้เป็นเรื่องปกติมีอิจฉาริษยากัน
แต่ถ้ามองให้ลึก เป็นผลลบแทนที่ผู้ประกอบการจะหันมาหาทางช่วยเหลือ ก็ลดลง แล้วอาจจะหมดศรัทธาต่อองค์กร อะไรจะเกิดขึ้น กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ควรจะคิดให้ลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่คิดอยู่แต่ว่าจะขายให้หมดๆไป แต่หมดไปด้วยวิธีไหน มีระเบียบและกฎเกณฑ์ไหม ไม่มีนอมินี มัดจำ30% แต่ละโกดัง แล้วก็ประมูลไป ผมยังงง ว่าการที่ไม่กำหนดราคากลาง คุณจะไปมัดจำ 30% มูลค่าเท่าไร ดังนั้น ถ้าหาก 30% มูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ราคากลาง จะผิดเงื่อนไขในทีโออาร์หรือไม่
ปิดท้าย นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชสยท.) และรองผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กล่าวว่า ทำไม กยท. ไม่ยอมขายยางตามคุณภาพ ทั้งที่ตอนเก็บเข้าโกดัง คุณแยกสภาพแต่ละยางไว้ตามโกดังต่างๆ ทำอย่างนี้เพื่ออะไร เพราะ 1. ต้องการปัดความรับผิดชอบทั้งหมด ยางที่หาย ยางที่เสียหายจากหลังคารั่ว โกดังน้ำเข้า ยางที่คุณภาพเสียไปจากที่เก็บ กลายเป็นของเสีย แต่ว่ายางทั้งหมด ไม่ได้เสียทั้งหมด ยางยังอยู่ในสภาพดี ดังนั้นคนที่จะประมูลได้เด้ง เพราะจะอ้างแต่ว่ายางเสื่อมสภาพมีอายุ 9 ปีแล้ว
“แต่จริงไม่ใช่ เพราะยางมีหลายล็อตจะต้องไล่ทีละล็อต จะไปเหมารวมว่าเป็นยางอายุ 9 ปี ทั้งหมดไม่ใช่ ผมมองว่า เป็นขบวนการทุจริต เพราะสัญญาที่ซ้อนกัน จะไปสอดรับกับโครงการชะลอการขายยาง ก็นำยางของสถาบันเกษตรกรมาขายในช่องทางนี้ ที่ผ่านมาทางผู้บริหารถึงพยายามพูดว่าเป็นยาง ไม่ใช่ ทำไมไม่แบ่งขาย”
นายเพิก กล่าวว่า วันนี้ยางทุกคนมีความต้องการ คุณสามารถแบ่งเกรดขายได้ แล้วจะได้ราคาสูงกว่าแน่นอน ราคากลางก็ไม่มี ไม่เห็นประกาศเลย ทำไมขายของหลวงไม่มีราคากลาง เมื่อตกลงเรียบร้อยแล้ว บอกว่ามาวาง 30% จากราคาไหน ความจริงเรื่องพวกนี้ควรที่จะโปร่งใส เมื่อขายไปแล้วจะต้องอายทำไม ผมไม่ได้เข้าข้างพ่อค้าสัญชาติดไทย ไม่มีรายไหนที่ใหญ่ถึงขนาดที่จะซื้อยางล้อตนี้ได้ ในคราวเดียว นอกจากเอาทุนนอกมา
อยากให้เอาเงื่อนไขมากางในสัญญา นอร์ทอีสต์จะทำตามหรือไม่ แปรรูป ก็ได้ว่าขายให้กับใคร มีเงื่อนงำ เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ กลต.ไม่สนใจ ซึ่งความจริงโยงไปหมด ชะลอการขายยาง ต้องแปรรูปเพิ่มมูลค่า ตอนที่ยางขึ้น มีเก็บไว้ เท่าไรก็เอา แต่ถ้าเป็นขาลง ยางเก็บไว้ 1 หมื่นตัน ลง กิโลละ1 บาท ใครกล้าขาย พรุ่งนี่ ลง 2 บาท หรือ 3 บาท ยางพวกนี้ใครจะรับผิดชอบ ชะลอยาง ควรมีปลายทางชัดเจน ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายเดิม
ตอนนั้นสมัยที่ผมทำ เรานำยางนี้ไปขายตรงกับคนจีนไม่ผ่านพ่อค้า แล้วเป็นโครงการแปรรูปที่เพิ่มมูลค่าให้สถาบันเกษตรกรเก็บรักษา จ่ายเงินบางส่วน ตามสภาพสหกรณ์ เอาเงินไป แต่ถ้าขาดทุนคุณรับผิดชอบเองนำ เราไม่ยุ่งให้เงินสนับสนน แต่อำนาจการตัดสินใจ ต้องเป็นสหกรณ์เพราะเราต้องการแยกให้ยางเกิดความสมดุลในระบบ
“ดูพฤติกรรมขายยาง ไปดูได้เลย ว่ามีโกดังมาแล้วยางในสต็อกไม่ต้องปรับปรุงสามารถนำไปใช้ได้ เลยอาทิ บริษัทใช้ยางไปผสมคอมปาวด์ขึ้นรูปในไลน์ผลิตได้ ไม่ต้องเอาไปแช่น้ำ หรือเป็นแบบขี้ยาง แต่น้ำเข้า เป็นรา ต้องทำใหม่ไม่เสีย”
นายเพิก กล่าวว่า ผมมองว่าจะทำให้โครงสร้างระบบยางเสียหาย เพราะยางแทนที่จะถูกกระจายออกไป แล้วได้ราคาของดี ขายได้แพง แล้วราคาของถูก ขายได้ถูก แต่อย่างน้อยก็เชื่อว่าราคาจะสูงกว่าขายแบบเหมา แล้ววงการตลาดจะเสียด้วย เพราะยางไปอยู่ในเมือคนใดคนหนึ่ง คุณบอกว่ารังเกียจ 5 เสือ แต่ว่าวันนี้คุณกลับไปสร้างเสืออีก 1 ตัว ให้มีมากกว่า เสือตัวอื่น ในขณะที่คนอื่นไม่มียางจะต้องวิ่งหายาง
“ผมคิดในแง่ร้าย ที่ได้ไป บริษัท 5 เสือบอกว่าไม่เป็นไร แต่ลบริษัทก็มีสาขาต่างประเทศ ไม่ซื้อประเทศไทย สักเดือน 2 เดือน ไปเล่นซื้อยางต่างประเทศส่งออก อะไรจะเกิดขึ้นในเมืองไทยจะทำให้ยางในตลาดต่ำลงมา พอต่ำลงมาพวกนี้ก็กลับมาซื้อใหม่”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง