โป๊ะแตก “น้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม” ไม่มีมติ จะชดเชยส่งออก ได้หรือไม่

30 เม.ย. 2564 | 11:55 น.

วง กนป.เดือด “บอร์ดเกษตรกร” โวยกรมการค้าภายใน ลักไก่ ส่งออกน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม ทั้งที่ไม่มีมติที่ประชุม กลับมาขอเงินชดเชยให้พ่อค้า กิโลกรัมละ 2 บาท ผิดปกติหรือไม่

วันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)  ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์เป็นรองประธานฯ เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพื่อเป็นการยกระดับรายได้เกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน อีกทั้ง ลดผลกระทบจากแนวโน้มที่จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้งมีเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจ

 

พันศักดิ์ จิตรรัตน์

 

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้ “กรมการค้าภายใน” ได้มาขออนุมัติสนับสนุนขยายเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 จะชดเชยส่งออกกิโลกรัมละ 2 บาท ในที่ประชุมผมค้านไม่เห็นด้วย เวลานี้จะมาเข้าในที่ประชุมทำไม เพราะสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบมีแค่กว่าแสนตัน มองว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น แต่ถ้าในอนาคตน้ำมันสต๊อกเกินกว่า 3 แสนตัน ค่อยนำเสนอเข้ามาดีกว่าหรือไม่

 

“ที่สำคัญการส่งออกครั้งนี้ ใน กนป.มีการพิจารณาส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ)  แต่ กรมการค้าภายใน ส่งรายชื่อ น้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มดิบหรือ เคพีโอ นำมา ให้ที่ประชุมจ่ายชดเชยด้วย กิโลกรัมละ 2 บาท ท่านรองนายก “ประวิตร” ยังท้วงติงเลยบอกเลยว่าไม่เกี่ยวกัน กนป.อนุมัติน้ำมันปาล์มดิบเท่านั้น”

 

นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า  ผลการจัดสรรโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์ม (ธันวาคม 2563-มีนาคม 2564) เพื่ออนุมัติให้ กนป.มีมติจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการ 5 ราย ที่ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มดิบ คิดเป็นเงินกว่า 89 ล้านบาท (อินโฟกราฟฟิก) ผมอยากทราบว่าเป็นบริษัทไหนบ้าง ทำไมไม่เปิดเผย ที่สำคัญการส่งออก น้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มดิบหรือ เคพีโอ จะชดเชยกิโลกรัมละ 2 บาทได้หรือไม่

 

ผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์ม

 

“การให้หน่วยงานรัฐบริหารปาล์มทั้งระบบ พอราคาปาล์ม 7 บาท/กิโลกรัม ออกโชว์เป็นผลงาน แต่พอราคาปาล์มเหลือแค่ 4 .60 บาท/กิโลกรัม ขณะที่มาเลเซีย กิโลกรัมละกว่า 7 บาทแล้วเกิดอะไรขึ้น นี่สิ่งที่ได้ตั้งข้อสังเกต ผมมองว่าบ้านเมืองเราถ้าให้หน่วยงานของรัฐให้บริหารที่ไม่บริหารก็ไม่สามารถทำได้เพราะไม่ได้เดือดร้อน แต่กลุ่มเกษตรกรเดือดร้อน ราคาปุ๋ยก็ขึ้น ทำไมถึงไม่ได้ดูให้ราคาเป็นธรรมเลย”


 

มนัส พุทธรัตน์

 

ด้านนายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ (กนป.) ถึงที่ประชุมได้มีมติให้มีการขยายระยะเวลาดำเนินโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 จากเดิมภายใน มีนาคม 2564 เป็นกันยายน 2564 ส่วนระยะเวลาโครงการจากเดิมสิ้นสุด สิงหาคม 2564 เป็นธันวาคม 2564 วงเงิน 618 ล้านบาท และในที่ประชุมก็ได้มีการวางมาตรการเพิ่มเติม แบบมีเงื่อนไข ถ้าปริมาณสต็อกในประเทศเกินกว่า 3 แสนตัน และราคาตลาดโลกถูกกว่าในประเทศ จะชดเชยส่งออกกิโลกรัมละ 2 บาท แต่ถ้าราคาตลาดโลกสูงกว่าจะไม่ชดเชยให้

 

“ที่น่าเจ็บใจตอนนี้ราคาตลาดโลก (มาเลเซีย) ราคาปาล์มพุ่งไปกิโลกรัมละกว่า 7 บาท  น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 32-33 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ของไทยราคาปาล์ม 18% ควรจะอยู่ 5.95 บาท/กิโลกรัม แต่ทำไมเหลือกว่า 4.60-4.70 บาท/กิโลกรัม แล้วยังมีแนวโน้มที่จะราคาต่ำลงมาอีก มีการตั้งข้อสังเกตในที่ประชุมว่า “ปาล์มสุกน้ำ” หรือไม่ มาบอกว่ารีบตัดปาล์ม แต่ความจริงราคาลงแบบนี้ไม่ใครรีบตัดหรอก มีแต่อยากจะยื้อไว้”

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก

 

ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนฯ มุ่งเป้าที่การพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคัล (หรืออุตสาหกรรมการผลิตสารสกัดธรรมชาติจากปาล์มน้ำมันเพื่อพัฒนาเป็นสินค้ามูลค่าสูง) ประกอบด้วย 6 ผลิตภัณฑ์หลัก คือ 1)ผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน 2)น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้า 3) สารตั้งต้น MES ใช้ผลิตผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4)น้ำมันหล่อลื่นและจารบีชีวภาพ 5)พาราฟิน 6)สารกำจัดศัตรูพืช/แมลง ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีความต้องการต่อปีของตลาดโลกขยายตัวต่อเนื่อง

 

เช่น ผลิตภัณฑ์สารหล่อลื่นพื้นฐาน ความต้องการ 14 ล้านตัน อัตราการขยายตัว 3% น้ำมันหมอแปลงไฟฟ้าชีวภาพ 2 ล้านตัน ขยายตัว 8.3% ผลิตภัณฑ์ผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1ล้านตัน ขยายตัว 9% น้ำมันหล่อลื่นและจารบีชีวภาพ ปริมาณ 36 ล้านตัน ขยายตัว 1% ในส่วนการดำเนินการ นางสาวรัชดา กล่าวว่า จะเป็นการบูรณาการของหลายภาคส่วน ร่วมกัน ดังนี้

 

1. ด้านกระบวนผลิต/เทคโนโลยี/วิจัย นวัตกรรม จะมี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และกรมควบคุมมลพิษ รับผิดชอบเรื่องการขึ้นทะเบียนสินค้าและบริการ ทั้งที่เป็นนวัตกรรมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้การส่งเสริมการวิจัยด้านวัตถุดิบและกระบวนการผลิต

 

2.ด้านมาตรฐานและการทดสอบ อาทิ  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิชาการเกษตร กรมธุรกิจพลังงาน รับผิดชอบเรื่อง การพัฒนาและยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบ การตรวจสอบรับรองอ้างอิงตามมาตรฐานของต่างประเทศได้แก่  JASO API NSF International เป็นต้น

 

3.ด้านสิทธิประโยชน์และการลงทุน อาทิ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงการคลัง รับผิดชอบเรื่อง มาตรการส่งเสริมการลงทุน การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

4. ด้านอุปสงค์ อาทิ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมบัญชีกลาง รับผิดชอบเรื่อง การจัดซื้อสินค้าและจัดจ้างบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green procurement) ผลักดันการรับรองสีเขียว (Green label)

 

และ 5. ด้านอื่นๆ เช่น คณะกรรมการEEC เกี่ยวข้องกับมาตรการส่งเสริมสิทธิประโยชน์ภายใต้ EEC เพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมโอลิโอเคมีคอล

 

“แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคัล ที่เห็นชอบในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศที่หลักๆคือการอุปโภคบริโภค และการใช้ด้านพลังงาน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เชื่อมั่นว่า แนวทางดังกล่าวจะสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การผลิตของปาล์มน้ำมัน สร้างเสถียรภาพด้านราคา เพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกร พัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้าเคมีภัณฑ์จากต่างประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนยกระดับเทคโนโลยี และสร้างนวัตกรรมให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยต่อไป” รองโฆษกฯ กล่าว