นายสานิตย์ จิตต์นุพงศ์ ประธานยุทธศาสตร์ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย และ อุปนายกกำแพงเพชร และผู้ก่อตั้ง “ขาณุโมเดล” เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ปีนี้ เริ่มฤดูกาลนาปี 2564 กลุ่มเกษตรกร GAP ขาณุ เริ่มใช้ โซลูชั่นกลยุทธ์ นา-น้ำ-นวัตกรรม ของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย โดยปั้นชาวนาสร้างเศรษฐกิจจากข้าว ใช้ทฤษฎีจอมปลวก เชื่อมต่อกับธุรกิจชุมชน ปิดท้าย แบ่งส่วนข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ขายกันภายใต้แนวคิด "คนกำแพงกินข้าวกำแพง"
“ปีนี้มีความร่วมมือกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้เสนอ ท่านนายกรัฐมนตรี ขออาสาสร้าง กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวพื้นนุ่มคุณภาพดี โดยมีกรมการข้าวให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ฤดูนาปี2563 จำนวน 3,500 ไร่ โดยมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ตามกลไกของห่วงโซ่อุปทาน มีการรวบรวมข้าวของกลุ่มเพื่อตรวจสอบก่อนส่งคู่ค้าโรงสี และเมื่อเดือน มีนาคมที่ผ่านมาคณะนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรการบริหารเศรษฐศาสตร์สาธารณะสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่น19 ได้ลงมาทำงานวิจัยเชิงวิชาการ
นายสานิตย์ กล่าววอีกว่า สำหรับโครงการ ขาณุโมเดล เป็นโมเดลที่ต้องการให้เกษตรกรเปลี่ยนกระบวนทัศน์จาก การรับค่าแรง มาเป็น ผู้ผลิตวัตถุดิบคุณภาพดี ทั้งนี้ในการรวมกลุ่มต้องมาจาก อินเนอร์ของเกษตรกรผู้ต้องการปรับตัวเข้าสู่โลกการค้ายุคใหม่ เปรียบเทียบเหมือนจอมปลวกที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากปลวกงานที่มีความเพียรและรู้จักหน้าที่ จึงสามารถเชื่อมโยงสร้างรายได้ระหว่างธุรกิจชุมชนได้หลายทาง ทำให้เกิดพลวัตทางเศรษฐกิจของชุมชน
ด้าน นาย ฉัตรชัย มาฉาย ประธานกลุ่มเกษตรกร GAP ขาณุ กล่าวถึงมาลงพื้นที่ของทีมจากสถาบันพระปกเกล้าย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะจะเกิดประโยชน์อย่างสูงต่อชุมชนเกษตรกร และจะเป็นข้อมูลวิชาการที่ให้เราพัฒนา เศรษฐกิจชุมชน ของเราต่อไป ที่สำคัญ ในฤดูนาปี 2564 จะเป็นแนวทางลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ในหลายด้าน" ประธานกลุ่มเกษตรกรกร GAP ขาณุกล่าวทิ้งท้าย
นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า “ขาณุโมเดล" เป็นโครงการนำร่อง ที่จะเชื่อมโยงไปจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ชาวนาได้เห็นต้นแบบที่แท้จริงว่าทำนาอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จ ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวนี้เป็น 1 ในแปลง ที่ชาวนาขายข้าวให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มีการสนับสนุนตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต”
ปีนี้ทางสมาคมร่วมกับโรงสีพันธมิตร ปลูกข้าวพื้นนุ่มไทย ชิงตลาดโลก ดังนั้นเราควร ใช้โอกาสนี้จัดโปรโมท ข้าวพื้นนุ่มของเรา ทั้ง กข79 และ กข87 เน้นคุณภาพดีไว้หลายหมื่นไร่แล้ว ยามวิกฤติเศรษฐกิจแบบนี้ สินค้าเกษตรนำเงินเข้าประเทศได้ และฝากความหวังไว้ที่ คุณ กีรติ กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ที่จะทวงมาร์เก็ตแชร์จากเวียดนามให้มาอยู่ที่ประเทศไทย ชาวนาพร้อมสนับสนุนปลูกข้าวพื้นนุ่ม เพื่อตอบโจทย์ ตลาด ขณะเดียวกันจะมีการรณรงค์ให้ชุมชนได้รับประทานข้าวเพื่อท้องถิ่นตัวเอง เช่น "ปลูกคนกำแพง กินข้าวกำแพง"
“ขาณุโมเดล” เกิดจากความเพียรของเกษตรกร นำมาสู่ การรวมกลุ่มเกษตรกร เป็นองค์กรมีรูปแบบการจัดการ มีระบบระเบียบ มีวิสัยทัศน์และ เป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนให้กลุ่มสมาชิกและสังคมได้ในอนาคต และนี่คือแนวคิดทฤษฎีจอมปลวก ของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยในการสร้างกลุ่มผู้ผลิตข้าวคุณภาพดี โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพื่อนำความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์และนิเวศน์ทางธุรกิจ มาเชื่อมโยงกับคู่ค้าคือ โรงสี สร้างข้อตกลงร่วมกันผลิตข้าวคุณภาพดี "ปลูกข้าวตามออเดอร์ "
พลิกแฟ้มประวัติที่มาโครงการฯ เริ่มขึ้นที่อำเภอ ขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งแต่ฤดูกาลนาปี 2563 เริ่มต้นที่3,000ไร่ วันนี้กลุ่มมีสมาชิก1,000 คน พื้นที่นามากกว่า 18,000 ไร่ โดยในช่วงแรกมีสมาชิก 100 คน และขยายเพิ่มเป็น1,167 คน ในปัจจุบันภายใต้ชื่อ "กลุ่มเกษตรกร GAP ขาณุ"
โดยเป้าหมาย เป็นแหล่งผลิตข้าวพื้นนุ่มคุณภาพดี แบบเกษตรแปลงใหญ่ ผลิตข้าวในมาตรฐาน GAP หรือเกษตรปลอดภัย ที่สำคัญกลุ่มเกษตรกรฯมีรูปแบบองค์กรที่ชัดเจน มีคณะกรรมการบริหารฯตั้งแต่ระดับตำบล ไปสู่ระดับอำเภอ รวมทั้งการที่มี ลานรวบรวมข้าวเปลือก ของกลุ่มเพื่อคัดคุณภาพก่อนส่งมอบให้กับคู่ค้า ให้ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 6 ตำบล และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้การสนับสนุนตามภารกิจอย่างเต็มกำลัง คุณ ฉัตรชัย มาฉาย ที่ปรึกษาส่วนตัว นายสุนทร รัตนากร นายกอบจ. กำแพงเพชร เป็นประธานกลุ่มเกษตรกร GAP ขาณุ และ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้แก่ 1 เทศบาลตำบลขาณุวรลักษบุรี 2 อบต.แสนตอ 3 อบต. เกาะตาล 4 อบต. บ่อถ้ำ 5 อบต. โค้งไผ่ และ 6 อบจ. กำแพงเพชร
อนึ่งพื้นที่ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมการข้าว ประกอบด้วย ตำบลโค้งไผ่ 2,000 ไร่ ตำบลเกาะตาล 2,000 ไร่ ตำบล บ่อถ้ำ 6,000 ไร่ ตำบล ป่าพุทรา 3,000 ไร่ ตำบล ยางสูง 1,000 ไร่ ตำบล แสนตอ 4,000 ไร่ รวม 18,000 ไร่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง