เปิด 10 สินค้าเด่น ดันส่งออกครึ่งหลังโตต่อเนื่อง

30 พ.ค. 2564 | 04:00 น.

สรท.เปิดเป้าหมายส่งออกไทยรายสินค้าดันตัวเลขทั้งปีโต 7% เผย 10 สินค้าเด่นแนวโน้มขยายตัวสูง ทั้งอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ยางพารา เม็ดพลาสติก ชี้ปัจจัยบวกเศรษฐกิจโลกขยายตัว บาทอ่อนหนุนส่ง ม.หอการค้าฯ คงส่งออกทั้งปีโตแค่ 5% หลังปัจจัยเสี่ยงยังอื้อ

ภาคการส่งออกในยามนี้ถือเป็นเพียงเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ยังพอค้ำยันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวเป็นบวกได้ โดยล่าสุด(พ.ค.64) คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 0.5-2% จากเดิมคาดขยายตัวได้ 1.5-3% แต่ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ส่งออกจะขยายตัวได้ 5-7% จากเดิมคาด 4-6% จากปัจจัยหลักเศรษฐกิจโลกมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2564 ทางสรท.ได้ปรับคาดการณ์ส่งออกไทยปี 2564 จะเติบโตได้ 6-7% จากเดิมคาดขยายตัว 4-6% ทั้งนี้จากผลการสำรวจคาดการณ์ส่งออกสินค้ารายอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของ สรท.ล่าสุดพบหลายกลุ่มสินค้าจะมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่สูงในปีนี้

ชัยชาญ  เจริญสุข

โดย 10 อันดับแรกเรียงตามลำดับมูลค่า ดังนี้ อิเล็กทรอนิกส์คาดจะมีมูลค่าส่งออก 39,672 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 9%, รถยนต์ มูลค่า 35,416 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 20%, เครื่องใช้ไฟฟ้า 27,049 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15%, อาหาร 27,755 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 3%, เม็ดพลาสติก 15,287 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 28%, ผลิตภัณฑ์ยาง 13,959 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 15%, วัสดุก่อสร้าง 10,339 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 23%, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 7,941 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 22%, เคมีภัณฑ์ 7,748 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15% และ น้ำมันสำเร็จรูป 6,724 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 25%

ส่วนสินค้าอื่น ๆ ที่คาดจะขยายตัวอย่างโดดเด่น อาทิ สิ่งทอ คาดส่งออก 6,276 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9% ยางพารา คาดส่งออก 4,570 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 30%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 3,512 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 31% เป็นต้น

“จากที่ภาคเอกชนได้ร่วมประชุมกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประเมินทิศทางแนวโน้มการส่งออกร่วมกัน โดยเอกชนยืนยันตัวเลขส่งออกภาพรวมทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ 6-7% มีปัจจัยบวกสำคัญจากเศรษฐกิจ และการค้าโลกฟื้นตัวหลังมีการระดมฉีดวัคซีน รวมถึงเงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้น”

อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงการส่งออกที่สำคัญในเวลานี้ ได้แก่ การขาดแคลนตู้สินค้า ค่าระวางเรือยังสูง การขาดแคลนวัตถุดิบเช่นชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์ การขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงปัญหาที่ต้องจับตามอง และต้องคุมเข้มคือการระบาดของโรคโควิด ไม่ให้เกิดขึ้นเหมือน คลัสเตอร์โรงงานแคล-คอมพ์ฯที่เพชรบุรี เพราะหากเกิดขึ้นจะกระทบกับห่วงโซ่การผลิตทั้งในและต่างประเทศ”

ด้านดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ทางศูนย์ฯคาดปีนี้การส่งออกไทยจะขยายตัวที่ 5% ซึ่งตั้งคาดการณ์ต่ำกว่าสำนักอื่น เนื่องจากต้องเผื่อปัจจัยเสี่ยงไว้บ้าง ซึ่งเวลานี้การส่งออกไทยนอกจากปัจจัยเสี่ยงข้างต้นแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ยังคงอยู่ รวมถึงข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯและสหภาพยุโรป กรณีฝ้ายซินเจียงที่ถูกระบุมีการใช้แรงงานทาส ทำให้ตอบโต้ทางการค้ากันไปมา รวมถึงข้อพิพาททางการค้าจีน-ออสเตรเลีย ข้อพิพาทเหล่านี้อาจส่งผลกระทบกับไทยที่เป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกของคู่พิพาท

อัทธ์  พิศาลวานิช

“นอกจากนี้ที่น่าห่วงคือโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหลายประเทศกลับมาระบาดซ้ำใหม่อาจกระทบเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ปัญหาการระบาดของโควิดในโรงงานอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผลให้คู่ค้าไม่แน่ใจในสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยอาจชะลอการนำเขาและมีการตรวจเข้มขึ้น ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ไม่ค่อยน่าห่วงเพราะส่วนใหญ่มีการคุมเข้มในโรงงานค่อนข้างดีอยู่แล้ว”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

โควิดลามคลัสเตอร์โรงงาน หวั่นทุบห่วงโซ่การผลิต ฉุดศก.-ส่งออกชะลอตัว

สศค. ชี้โควิดยังฉุด แม้ส่งออก-มาตรการรัฐ ช่วยหนุนเศรษฐกิจ เม.ย. 64 ฟื้น

ปฎิวัติเมียนมา ทุบส่งออกไทย 9 หมื่นล้าน

4 เดือนไทยร่วง อันดับ 4 ส่งออกข้าวโลก

ส่อง 13 ตลาดส่งออกไทย ที่ไหนโตแรงสุด