ดีพร้อม จับมือ ม.รังสิต ปั้นนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ กู้วิกฤติโควิด – 19

08 ก.ค. 2564 | 12:18 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ค. 2564 | 19:28 น.

ดีพร้อม ผนึกกำลัง มหาวิทยาลัยรังสิต พัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ฝีมือคนไทย รองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 มหาวิทยาลัยรังสิต

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ห่วงใยประชาชนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งขับเคลื่อนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ดังนั้น ดีพร้อม (DIPROM) จึงผลักดันมาตรการเร่งด่วนเพื่อเตรียมความพร้อมในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่จะเพิ่มความมั่นคงด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งหนึ่งในมาตรการเร่งด่วนนี้ คือการส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยรังสิต ในการร่วมดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาเครื่องมือแพทย์อย่างเป็นรูปธรรม

 

โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 25% ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมนั้นจะสามารถรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

ทั้งนี้ จากการเยี่ยมชมการดำเนินงานของทางมหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมีการจัดระบบการให้บริการคัดกรองและการให้บริการฉีดวัคซีน โดยแยกพื้นที่อย่างชัดเจน ทำให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการให้บริการประชาชนด้านต่าง ๆ จึงได้นำต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการส่งเสริมจากดีพร้อมมาใช้งานจริง ณ จุดบริการ ทั้ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต และศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ตู้แรงดันบวก สำหรับตรวจคัดกรอง (Swab Test) เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถอยู่ภายในตู้ระหว่างการตรวจคัดกรองเชื้อจากประชาชนที่อยู่ภายนอกได้อย่างสะดวกและปลอดภัย อุปกรณ์จ่ายอากาศแบบต่อเนื่อง PAPR สำหรับป้องกันระบบทางเดินหายใจแบบจ่ายอากาศบริสุทธิ์ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เครื่อง Contactless Self Service Body Check up เครื่องตรวจสุขภาพเบื้องต้น แบบลดการสัมผัส ระบบปรึกษาข้อมูลสุขภาพทางไกล Tele-Health สำหรับติดตามข้อมูลสุขภาพและระบบหุ่นยนต์ตรวจสุขภาพใช้ในการวัดความดันโลหิตและติดต่อแพทย์เฉพาะทางสำหรับปรึกษาอาการเบื้องต้น

 

โดยต้นแบบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ สามารถนำไปขยายผลสำหรับใช้ในการป้องกันและการตรวจคัดกรองบุคลากรในสถานประกอบการและภาคอุตสาหกรรม นอกเหนือจากต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แล้ว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์ไทย ยังได้มีการต่อยอดต้นแบบผลิตภัณฑ์เครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ อาทิ เครื่อง Auto CPR. ชุด Smart Infusion Pump ระบบ AI ในการวิเคราะห์โรคปอด เครื่องช่วยพยุงผู้สูงอายุ สำหรับการใช้งานในสถานพยาบาล หรือสถานที่อื่น ๆ รวมทั้งชุมชน ซึ่งเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพไทย

 

โดยมีผู้ประกอบการที่มีความสามารถและพร้อมนำผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดผลิตในเชิงพาณิชย์โดยไม่มีลิขสิทธิ์ต้นแบบอีกด้วย 

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรังสิต เล็งเห็นถึงความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ จึงได้มุ่งมั่นที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์มาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้สามารถรองรับกับความต้องการใช้งานที่หลากหลายได้

 

ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิต โดยวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์และวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพสู่เชิงพาณิชย์ ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาโดยตลอด โดยครั้งนี้ก็เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ผลงานจากความร่วมมือกันได้ถูกนำมาใช้งานจริง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการให้บริการประชาชนในมิติที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

 

รวมทั้ง ยังสามารถสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ณ คลินิกเทคนิคการแพทย์ อาคารวิทยาศาสตร์ 4 มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาคารนันทนาการ 14 มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตได้รับมอบหมายให้เป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป จำนวน 50,000 คน หรือ 100,000 โดส ภายในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีความพร้อมให้บริการตามเป้าหมาย

 

โดยปัจจุบันได้มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 15,000 คน ส่งผลให้ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งเพิ่มความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยทั้งด้านอุปโภคและบริโภค ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่คาดว่าจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึงกว่า 300 ล้านบาทต่อเดือน และจะสูงถึงกว่า 700 ล้านบาทต่อเดือนเมื่อฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้าหมาย 50,000 คน