จากโควิดระลอก 3 ที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น แม้รัฐบาลจะไม่ได้สั่งปิดโรงแรม แต่ด้วยสถานการณ์วันนี้ก็ทำให้ไม่มีลูกค้าเข้าพัก การประชุม-สัมมนาในพื้นที่สีแดงเข้มไม่สามารถจัดได้ ขณะที่โรงแรมต้องแบกรับค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าจ้างพนักงานอยู่เหมือนเดิม โดยมีรายได้เข้ามาเฉลี่ยไม่ถึง10% หากเทียบกับก่อนเกิดโควิด ทำให้เริ่มมีการประกาศขายโรงแรมเพิ่มขึ้น
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้จะเริ่มเห็นภาพหลายโรงแรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ประกาศขายผ่านบริษัทตัวแทนขายอสังหาริมทรัพย์ต่างๆเพิ่มมากขึ้น โดยคนที่สนใจซื้อมีทั้งกลุ่มคนไทยที่มีฐานะ ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน และยุโรป ผู้ประกอบการที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือธุรกิจขนาดกลางที่เงินทุนกำลังจะหมด และเริ่มถอดใจในการดำเนินธุรกิจ เพราะโควิดรอบนี้ลากยาวกว่าที่คาดไว้
สมาคมอยากให้รัฐบาลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการหยุดเงินต้น และดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมามีการเจรจาเพื่อหยุดชำระหนี้เงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ ส่งผลให้หนี้สินของโรงแรมพอกพูนขึ้น โดยหากรัฐบาลมีการช่วยเรื่องเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยไม่เกิน 2% น่าจะพอพยุงการจ้างงานต่อไปได้อีกถึงปี 2565 และอยากให้เร่งฉีดวีคซีนโดยเร็ว
แม้ขณะนี้มีการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นักท่องเที่ยวเริ่มมีเพิ่มขึ้น แต่กระจุกอยู่ในภูเก็ต ส่งผลให้ปัจจุบันการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวลดลงแล้วกว่า 50% หากรัฐบาลยังไม่มีมาตรการออกมาช่วยเหลือด้านเงินทุน จะเห็นภาพการเปลี่ยนมือของธุรกิจโรงแรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรงแรมที่ปิดถาวรไป อาจมีการขายธุรกิจให้กับนักลงทุนคนใหม่
แต่เนื่องจากไม่ได้เป็นการประกาศปิดให้บริการ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าโรงแรมถูกเปลี่ยนมือไปแล้วมากน้อยแค่ไหน แต่มีหลายโรงแรมที่ขายให้เจ้าของคนใหม่แล้ว แต่ถูกจ้างให้เจ้าของเดิมบริหารต่อ
นายเจฟ วาโกเนอร์ ประธานและซีอีโอ เอาท์ริกเกอร์ ฮอสพิทอลลิตี้ กรุ๊ป กล่าวว่าล่าสุดเอาท์ริกเกอร์ ฮอสพิทอลลิตี้ กรุ๊ป ได้เข้าลงทุนซื้อรีสอร์ทริมชายหาดระดับพรีเมี่ยมแบรนด์ มานะไทย โฮเท็ล แอนด์ รีสอร์ท 3 แห่ง ได้แก่ มานะไทย เกาะสมุย ,มานะไทย เขาหลัก และ มานะไทย สุรินทร์ ภูเก็ต รวม372 ห้องติดริมชายหาด และได้ปรับปรุงรีสอร์ททั้ง 3 แห่งรีแบรนด์เป็นเอาท์ริกเกอร์ เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซันสิ้นปีนี้
การเข้าซื้อรีสอร์ทสอดคล้องกับแผนธุรกิจเชิงกลยุทธ์ของเอาท์ริกเกอร์ที่มุ่งมั่นในการขยายพอร์ทธุรกิจในเอเชียและที่อื่นๆ สานต่อพันธกิจในการเป็น “แบรนด์พรีเมียร์รีสอร์ทระดับโลก” และเรายังเชื่อมั่นต่อตลาดการท่องเที่ยวของไทย
นายจักรกริช จักรพันธุ์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรม ภาคพื้นเอเชีย เจแอลแอล กล่าวว่า ตลาดโรงแรมของไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ภูเก็ต และสมุย ยังคงได้รับความสนใจสูงจากนักลงทุนในภูมิภาค
โดยในครึ่งแรกของปีนี้ มีการซื้อขายโรงแรมเกิดขึ้น 2 รายการ และจะมีการซื้อขายอีกอย่างน้อย 5 รายการที่มีกำหนดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในครึ่งหลังของปีนี้
ไม่เพียงแต่การซื้อกิจการโรงแรมในไทยเท่านั้น ในส่วนของกลุ่มทุนโรงแรมรายใหญ่ต่างก็มีการปรับพอร์ตธุรกิจ โดยเน้นการขยายการลงทุนโรงแรมในต่างประเทศ รวมถึงการขยายการรับบริหารโรงแรมในต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน
นายเดิร์ก อังเดร ลีนา คุยเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน)หรือSHR บริษัทลูกในเครือบมจ.สิงห์เอสเตท ได้กล่าวว่าSHR ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทวายอีโคเวิล์ด ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทอสังหาฯสัญชาติเมียนมาร์ ลงทุนโรงแรมโซ มัลดีฟส์ มูลค่าโครงการ 60 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือราว1,860 ล้านบาท เป็นวิลล่าหรู80หลังเปิดให้บริการปี66 ซึ่งจะเป็นรีสอร์ทแห่งที่ 3 ในโครงการครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์ ซึ่งเป็นโครงการลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของสิงห์เอสเตท
หลังจากก่อนหน้านี้SHR ได้ขายโรงแรม1แห่งในสหราชอาณาจักร และอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะขายโรงแรมในสหราชอาณาจักรซึ่งไม่ใช่สินทรัพย์หลักของบริษัทฯ เพิ่มเติมอีกสูงสุดไม่เกิน 5 แห่ง
โดยเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ดังกล่าว จะนำไปลงทุนพัฒนาปรับปรุงโรงแรมชั้นนำของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และต่อยอดประสิทธิภาพในการทำกำไรของพอร์ตโฟลิโอ
นายเอ็มมานูเอล จู้ด ดิลิปรัจ ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัท Minor Hotel Portugal, S.A (MHP) บริษัทย่อย 100% ของไมเนอร์ ได้ขายเงินลงทุนโรงแรม 2 แห่งมูลค่ารวม 148 ล้านยูโรหรือราว 5,700 ล้านบาท และให้ NH Hotel Group บริษัทย่อยในเครือไมเนอร์ เข้าบริหารโรงแรมภายใต้สัญญ่าในเบื้องต้น 20 ปี และขยายได้อีกรวมสูงสุดไม่เกิน 30 ปี
ขณะที่กลุ่มเซ็นทารา ก็ยังคงเดินหน้าขยายการรับบริหารโรงแรมและลงทุนอย่างต่อเนื่องล่าสุดรับบริหารโรงแรมอัล เฮล เวฟส์ แมนเนจ บาย เซ็นทารา ที่โอมาน ขยายแบรนด์เซ็นทารามิราจออกสู่เวียดนามและดูไบ ภายใต้เป้าหมายการก้าวสู่โรงแรม 100 แห่งในเครือเซ็นทาราภายในระยะเวลา 5 ปี ส่วนกลุ่มดุสิตธานี ก็ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนและรับบริหารโรงแรมในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3,700 วันที่ 29-31 กรกฏาคม พ.ศ. 2564