ทอท.รื้อแปลนขยายสนามบินดอนเมืองเฟส3ค่า3.2 หมื่นล้านรับก่อสร้างล่าช้า1ปี

31 ส.ค. 2564 | 04:09 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2564 | 11:31 น.

ทอท.รื้อแปลนขยายสนามบินดอนเมืองเฟส3 มูลค่าการลงทุน3.2 หมื่นล้านบาท ปรับแผนก่อสร้างให้สอดคล้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รับล้าช้ากว่าแผนไป 1 ปี โดยจะหาผู้รับจ้างออกแบบให้ทันภายในธ.ค.นี้ และใช้เวลาอีกร่วมปีในการออกแบบ ก่อนเสนอสภาพัฒน์-ครม.เห็นชอบโครงการ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า  บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. อยู่ระหว่างเร่งทบทวนปรับแผนการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)  จึงต้องปรับการใช้สอยงานบางส่วนภายในอาคารผู้โดยสาร รวมทั้งอาจจะนำโครงการก่อสร้างหลุมจอดอากาศยานทางด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานดอนเมืองเพิ่มเติม 12 หลุมจอดเข้ามาร่วมในโครงการนี้ด้วย

 

เบื้องต้นคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการปรับแผน และวงเงินก่อสร้างที่ชัดเจนในเร็วๆ นี้ จากนั้น ทอท. จะจัดทำรายละเอียดเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) เพื่อหาผู้รับจ้างออกแบบรายละเอียด (Detail Design) การก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 คาดว่าน่าจะได้ผู้ชนะประมูลภายในเดือน ธ.ค.64 และใช้เวลาออกแบบรายละเอียดก่อสร้างประมาณ 1 ปี จากนั้นจึงจะเสนอโครงการฯให้สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ(สศช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบเมื่อ ครม. เห็นชอบโครงการฯ แล้ว จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดประมูลหาผู้รับจ้างก่อสร้าง

ทอท.รื้อแปลนขยายสนามบินดอนเมืองเฟส3ค่า3.2 หมื่นล้านรับก่อสร้างล่าช้า1ปี

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยอมรับว่าการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 จะล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้ประมาณ 1 ปี ซึ่งเดิมมีแผนจะก่อสร้างประมาณต้นปี 65 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการประมาณปี 68 แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสาร เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังรุนแรง ผู้โดยสารยังใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองค่อนข้างน้อย กว่าผู้โดยสารจะกลับมาสู่สภาวะปกติ คาดว่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี เมื่อถึงเวลานั้นโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 จะก่อสร้างแล้วเสร็จพอดี

 

อย่างไรก็ตามแม้กพท.จะอนุญาตให้สายการบินเปิดทำการบินได้ปกติแล้ว คาดว่าผู้โดยสารคงยังไม่ถึงวันละ 1 หมื่นคน จากปกติก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 1.2 แสนคนต่อวัน

 

สำหรับแผนงานเดิมโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟสที่ 3 ประกอบด้วย 1.งานรื้ออาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 เดิม เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (เทอร์มินัล3) 2.ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (เอพีเอ็ม) 3. การปรับปรุงคลังสินค้า 4.ขยายระบบจราจรเป็นถนน 6 เลน ทั้งทางราบ และยกระดับ เพื่อรองรับปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น  5. ก่อสร้างอาคารสำนักงาน และ 6.ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค

 

ทอท.รื้อแปลนขยายสนามบินดอนเมืองเฟส3ค่า3.2 หมื่นล้านรับก่อสร้างล่าช้า1ปี

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กล่าวว่าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ส่งหนังสือตอบกลับให้ทอท.ดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการฯแล้ว โดยจะจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดฯ ใช้เวลา 1 ปี ก่อนจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในกลางปี 2565 และดำเนินการเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับจ้างโครงการฯและได้ราคากลางที่ชัดเจนภายในเดือนตุลาคม 2565 คาดได้ตัวผู้รับจ้างภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 และจะเริ่มก่อสร้างภายในต้นปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปีครึ่ง เปิดให้บริการช่วงต้นปี 2569

 

สำหรับโครงการฯ ดังกล่าว จะเปิดให้เอกชนร่วมทุนในรูปแบบ PPP ในส่วนของกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เช่น อาคารจอดรถโครงการก่อสร้างอาคาร JUNCTION BUILDING อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี ส่วนทอท.จะใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เช่น อาคารผู้โดยสาร และให้เอกชนร่วมลงทุน PPP กิจกรรมเชิงพาณิชย์ เช่น ร้านค้า ที่จอดรถ

 

ส่วนการก่อสร้างที่สำคัญ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 3 พื้นที่ 155,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 18 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท (รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก), การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เพื่อปรับเปลี่ยนให้รองรับผู้โดยสารภายในประเทศ ร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2, โครงการก่อสร้างอาคาร JUNCTION BUILDING, ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) วงเงิน 10,000 ล้านบาท