การยกระดับคำเตือนการเดินทางมาไทยที่ผ่าน มาส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 2 (ระมัดระวังการเดินทาง) และระดับ 3 (หลีกเลี่ยงการเดินทาง) แต่ก็ไม่ได้มีมากนัก เพราะไม่ได้เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทย แต่เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ไทยถูกยกระดับการเตือนที่สูงขึ้น จากสหรัฐอเมริกา ที่เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 โดยเฉพาะล่าสุดคือสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยทันทีที่สหราชอาณาจักร ประกาศให้ไทยอยู่ในบัญชีแดงเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวเดินทางกลับจากไทยต้องกักตัวในโรงแรม 10 วันและเสียค่าใช้จ่าย 2,230 ปอนด์หรือราว 101,000 บาท
ทำให้นักท่องเที่ยวอังกฤษที่อยู่ในภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ต่างขอเช็คเอ้าท์ก่อนกำหนดเพื่อเดินทางกลับประเทศให้ทันก่อน 30 ส.ค.ที่ผ่านมาที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ส่วนบุ๊กกิ้งใหม่หายฮวบ ขณะที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าจะคาดหวังได้หลังจากคาเธ่ย์แปซิฟิก เปิดบินตรงเข้าภูเก็ตเมื่อไม่นานมานี้ ก็ปรับให้ไทยอยู่ในประเทศกลุ่มเสี่ยงสูง นักท่องเที่ยวกลับเข้าฮ่องกงต้องกักตัวในโรงแรม 21 คืน
การยกระดับคำเตือนที่รุนแรงขึ้น จะกระทบต่อการทำประกันจากต่างประเทศเข้ามาที่ไม่สามารถซื้อได้ แต่นักท่องเที่ยวก็ยังซื้อประกันของไทยได้ แต่ที่เป็นกระทบมากสุด คือ ข้อกำหนดเมื่อเดินทางกลับจากไทยจะต้องกักตัวและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ทำให้การตัดสินใจท่องเที่ยวต้องสะดุดลง ยกเว้นเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นที่ต้องเดินทางเท่านั้นจึงจะเดินทางเข้ามา
นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมภาคใต้ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การยกระดับคำเตือนมาไทย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ในช่วงนี้น้อยอยู่แล้วเพราะเป็นช่วงโลว์ซีซันก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะการที่เดินทางกลับประเทศไปแล้วต้องกักตัว ตลาดที่จะเป็นนักท่องเที่ยวก็คงหายไปเกือบครึ่งโดยเฉพาะอังกฤษ เหลือแต่กลุ่มคนต่างชาติที่มีความจำเป็นที่ตั้งใจจะเดินทางมาจริงๆ อาทิ กลุ่มที่มีบ้านและมีครอบครัวอยู่ในไทย โดยในเดือนกันยายนนี้ก็คงต้องลุ้นว่าภูเก็ตจะมีนักท่องเที่ยวถึง 1 หมื่นคนหรือไม่ ส่วนในเดือนต.ค. บุ๊กกิ้งก็ยังไม่สดใสนัก
จุดสำคัญมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ไทยถูกยกระดับคำเตือนการเดินทาง 2.จำนวนผู้ติดเชื้อในภูเก็ตที่ยังคุมไม่อยู่ เฉลี่ยมีการติดเชื้อใหม่ราว 200 คนต่อวัน แม้หลักๆจะเป็นการติดเชื้อของคนในพื้นที่ ที่แยกกันคนละส่วนกับพื้นที่ท่องเที่ยวก็ตาม แต่ก็ทำให้ต้องลดกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อบรรยากาศในการท่องเที่ยวในภูเก็ต โดยเฉพาะการนั่งห้ามดื่มเครื่องดื่มแอกอฮอลล์ภายในร้าน และ 3.การติดเชื้อในภาพรวมของไทยที่ก็ถือว่ายังสูงอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการกระจายวัคซีนให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่
การชลอตัวของนักท่องเที่ยวขณะนี้แม้จะแย่ลงกว่าช่วงแรกของการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่ก็ถือว่ายังไม่ได้แย่ เท่ากับการที่เรายังไม่มีแซนด์บ็อกซ์ ดังนั้นเพื่อประคองสถานการณ์โรงแรมก็อาจจะลดการใช้พนักงานลงเหลือ 30-50% จากเดิมอยู่ที่ 70% การไม่ให้มีเซอร์วิสชาร์จในช่วงนี้ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองไปถึงการท่องเที่ยวปลายปีที่อยากให้ภูเก็ตกลับมาเปิดการท่องเที่ยวให้ปกติมากที่สุดก่อนวันที่ 1 ธ.ค.นี้ และเร่งควบคุมการติดเชื้อในพื้นที่ เพื่อกลับมาเปิดกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างบรรยากาศทางการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง
แม้ช่วงนี้ไทยจะเผชิญกับมรสุมดังกล่าว แต่การท่องเที่ยวก็ยังคงต้องเดินหน้า เพราะแม้แต่คู่แข่งไทยอย่างสิงคโปร์ ก็เตรียมแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวในเดือนก.ย.นี้แล้ว โดยการทำ Travel Bubble กับ ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ส่วนไทยเองนอกจากการเดินแผนการเปิดเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่องเดิม 9 จังหวัดที่เคยประกาศไปแล้ว (ตัดบุรีรัมย์ออกไปเนื่องจากเลื่อนจัดการแข่งขันโมโตจีพี) ทางกระทรวงการฅท่องเที่ยวและกีฬา ก็ยังคงมองแผนการเปิดเมืองท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ด้วย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เผยถึงแผนการเปิดเมืองท่องเที่ยวว่า หลังจากเปิดเมืองท่องเที่ยวในเฟสที่ 1 ไปแล้ว ในช่วงเดือนต.ค.นี้มีการเตรียมแผนเปิดเมืองเพิ่มอีกรวม 26 จังหวัด ซึ่งเฟสที่ 2 จะเปิดเพิ่มใน 5 จังหวัดพื้นที่นำร่องเดิมที่ประกาศไว้แล้ว อย่างกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, เพชรบุรี, ชลบุรี เฟสที่ 3 จะเป็นจังหวัดในภาคต่างๆ และในช่วงต้นปีหน้า จะเน้นการเจรจาทราเวล บับเบิ้ลกับประเทศเพื่อนบ้าน (ตารางประกอบ) ซึ่งการจะเปิดเมืองได้หรือไม่ ยังจะต้องหารือกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านความพร้อม เช่น ความพร้อมด้านวัคซีน ด้านสาธารณะสุข ความต้องการของคนในพื้นที่ด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้การถูกยกระดับคำเตือนที่เกิดขึ้นจะไม่ได้มีแค่ไทยแต่มีหลายประเทศก็ถูกยกระดับการเตือนเช่นกัน ทางแก้คือการเร่งกระจายวัคซีน เพื่อลดการติดเชื้อในประเทศ คำเตือนต่างๆก็จะถูกปรับลดระดับลงควบคู่ไปกับการเตรียมพร้อมในการเปิดเมืองที่จะฟื้นการท่องเที่ยวในหลายจังหวัดที่ยังรอความหวังอยู่
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,711 วันที่ 5 - 8 กันยายน พ.ศ. 2564