การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้กิจการ กิจกรรมต่างๆ กลับมาเปิดให้บริการ รวมถึงแผนการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ สร้างความคึกคักให้หลายธุรกิจลุกขึ้นมาเตรียมความพร้อม แต่การเดินหน้าธุรกิจท่ามกลางปัจจัยลบทั้งโควิด-19 และสถานการณ์น้ำท่วม ยังต้องรอมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐที่จะออกมาเพื่อเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ฟื้นตัว
นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ และเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และพารากอน ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ สะท้อนถึงภาคค้าปลีกในช่วงที่ผ่านมากับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การผ่อนคลายล็อกดาวน์ให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ากลับมาเปิดให้บริการในวันที่1 ก.ย. ที่ผ่านมานั้น พบว่าได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเพราะปิดไปนานกว่า 50 วัน เมื่อกลับมาเปิดให้บริการลูกค้าก็อยากกลับมา
โดยพบว่าในวันเสาร์-อาทิตย์ลูกค้ากลับมาใช้บริการแล้วราว 80-90% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ ขณะที่ในวันธรรมดามีสัดส่วนราว 60-70% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะลูกค้าบางส่วนยังคง WFH ขณะที่การจำกัดเวลาเปิดให้บริการถึง 20.00 น. ทำให้เวลาในการใช้ชีวิตในห้าง เช่น การซื้อสินค้า หรือการรับประทานอาหารเหลือน้อยลง หากต้องรอเลิกงาน
อย่างไรก็ดีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เช่น การขยายระยะเวลาให้เปิดบริการถึง 21.00 น. รวมถึงการให้โรงภาพยนตร์ ฟิตเนส ฯลฯ กลับมาเปิดบริการได้ จะช่วยสร้างบรรยากาศภายในศูนย์กลับมาคึกคักอีกครั้ง
“สิ่งที่ยังต้องเฝ้าระวังคือ การปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเข้มข้นผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ รวมทั้งการสื่อสารทำความเข้าใจ ถึงกฎระเบียบ ข้อปฏิบัติต่างๆกับร้านค้า ลูกค้าที่มาใช้บริการ เช่น การห้ามรับประทานอาหารในโรงภาพยนตร์ มาตรการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น”
ทั้งนี้เชื่อว่าการเปิดประเทศในวันที่ 1 ก.ย. นี้ จะช่วยให้ธุรกิจในภาคบริการกลับมาเปิดให้บริการได้ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน เป็นต้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามามากขึ้น จะทำให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าในเมืองกลับมาคึกคักมากขึ้น
“ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ห้างชานเมืองจะคึกคักกว่าเมื่อเทียบกับห้างในเมืองที่กลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ ก็จะส่งผลให้บรรยากาศต่างๆกลับมาคึกคักมากขึ้น”
นางสาววรลักษณ์ กล่าวว่า การจะกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ให้กลับมาคึกคัก โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีก สิ่งที่สำคัญคือ ภาครัฐจะต้องมียาแรงที่จะมากระตุ้นให้คนกล้าออกมาจับจ่าย เพราะเชื่อว่ายังมีกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้ออยู่มาก แต่พฤติกรรมลูกค้าจะเลือกใช้จ่ายในสิ่งที่เห็นว่าคุ้มค่า ดังนั้นสิ่งที่คาดหวังคือ อยากให้รัฐบาลนำโครงการช้อปดีมีคืน, ช้อปช่วยชาติ กลับมาอีกครั้ง เพื่อเป็นยาแรงดึงให้คนออกมาจับจ่าย
“อยากให้รัฐบาลนำโครงการช้อปดีมีคืน/ช้อปช่วยชาติ กลับมาอีกครั้งเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน เพราะเชื่อว่าจะเป็นยาแรงที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แตกต่างจากยิ่งใช้ยิ่งได้ เพราะมีเงื่อนไขที่ง่ายกว่า สะดวกกว่า คุ้มค่ากว่า ตอบรับกับพฤติกรรมนักช้อปได้มากกว่า”
เชื่อว่าหากมีมาตรการช้อป ดีมีคืน/ช้อปช่วยชาติ จะทำให้ภาพรวมค้าปลีกไตรมาส 4 กลับมาฟื้นตัวขึ้น แม้จะไม่ดีเท่ากับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่หากไม่ทำอะไรเลย จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจซบเซาและภาพรวมค้าปลีกเองก็จะทรงตัว ขณะที่ภาพรวมค้าปลีกทั้งปียังคงติดลบจากวิกฤติโควิด-19 และล่าสุดยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดด้วย
ด้านนายณัฐกิตติ์ ตั้งพูนสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลพลาซา, เซ็นทรัลเฟสติวัล, เซ็นทรัล ภูเก็ต และเซ็นทรัล วิลเลจ กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการตั้งแต่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ภาพรวมของศูนย์การค้าในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 21 สาขามีผู้มาใช้บริการคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยใน 2 สัปดาห์แรกมีลูกค้ากลับมาใช้บริการ 50-70% โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ส่งผลให้ทราฟฟิคเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยธุรกิจที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีคือ 1. ร้านอาหาร 2. อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า IT Gadget โทรศัพท์มือถือ และ 3. สินค้าแฟชั่น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทุกคนคิดถึงบรรยากาศการได้ออกไปใช้ชีวิต นั่งทานในร้านอาหาร และเลือกซื้อของจริงๆใน Physical stores
หลังการประกาศคลายล็อคธุรกิจโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส สถาบันกวดวิชา ทางศูนย์เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ในการเปิดให้บริการและพร้อมปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐอย่างเคร่งครัด และเชื่อว่าด้วยสถานการณ์ในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลายขึ้น หากอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าที่ภาครัฐวางไว้ จะทำให้ไตรมาสสุดท้ายมีทิศทางที่ดีขึ้น
“ภาพรวมประเทศช่วงไตรมาส 4 มีทิศทางเป็นบวกจากหลายปัจจัย ทั้งแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นช้อปดีมีคืนหรือช้อปช่วยชาติ รวมถึงอีเว้นท์ เทศกาลต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงไฮซีซั่น ทั้งเทศกาลส่งท้ายปี การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ฯลฯ เบื้องต้นประเมินว่าในไตรมาส 4 นี้ จะมีลูกค้ากลับเข้ามาใช้บริการได้ 70-80% อย่างแน่นอน”
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,719 วันที่ 3 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564